พริกไทยซีลอน พืชทางเลือก ใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เก็บขายได้นาน

“พริกไทย” จัดได้ว่ามีความสำคัญทางเศรษฐกิจและจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของคนไทยมาช้านาน ในการประกอบอาหารและใช้เป็นเครื่องเทศ ปรุงรสชาติอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ส่วนประกอบของเครื่องแกงต่างๆ การถนอมอาหาร และใช้ประโยชน์ในด้านเภสัชกรรมยาสมุนไพร ทุกส่วนของพริกไทยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น เมล็ดพริกไทยอ่อน เมล็ดพริกไทยดำ เมล็ดพริกไทยขาว พริกไทยป่น พริกไทยแช่แข็ง น้ำมันหอมระเหยพริกไทย และพริกไทยดอง เป็นต้น

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พริกไทย เป็นพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ เจริญเติบโตได้ดีในประเทศเขตร้อน เช่น ประเทศบราซิล หมู่เกาะอินเดียตะวันตก ประเทศไต้หวัน มาเลเซีย และปลูกมากในจังหวัดจันทบุรีของประเทศไทย เป็นพืชตระกูลเดียวกับ ดีปลี ชะพลู และพลู ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิระหว่าง 15-35 องศาเซลเซียส ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบที่ลุ่มน้ำขัง ลำต้น มีลักษณะเป็นเถาเลื้อยยืนต้น ต้องอาศัยค้างในการพยุงและยึดเกาะลำต้น โดยใช้รากขนาดเล็กที่เกิดตามข้อปล้อง เรียกว่า มือตุ๊กแก

ต้นพันธุ์พริกไทยจากกิ่งตอนมาชำลงถุงดำแล้วอบในโดมพลาสติก
ต้นพันธุ์พริกไทยจากกิ่งตอนมาชำลงถุงดำแล้วอบในโดมพลาสติก

ลำต้น สามารถเจริญเติบโตเป็นกิ่งข้าง หรือกิ่งกระโดง โดยกิ่งกระโดงจะมีความสมบรูณ์และขนาดใหญ่ ตั้งดิ่งจากผิวดิน

ส่วน กิ่งข้างหรือกิ่งแขนง จะขนานแตกออกเป็นทรงพุ่ม ใบ พริกไทยเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ เป็นประเภทใบเดี่ยวเกิดสลับตามข้อของลำต้น มีลักษณะเป็นรูปไข่โคนใบใหญ่ ฐานใบกลม กว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร ยาว 7-14 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ลักษณะคล้ายใบพลู พื้นผิวใบเรียบ ผิวใบด้านบนเป็นมันสีเขียวเข้มถึงเขียวอ่อนไล่กันไปจากใบอ่อนถึงใบแก่ ด้านล่างใบสีจะจางกว่าด้านบน ขนาดใบและเส้นใบจะแตกต่างกันระหว่างสันของเส้นใบจะนูน

ดอก จะเกิดตรงข้ามกับใบในส่วนของกิ่งแขนง ออกดอกเป็นช่อ ความยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร ไม่มีก้านช่อ ดอกตัวผู้แยกกับดอกตัวเมีย แต่อยู่ในช่อเดียวกัน ผลเล็ก มีสีเขียวเข้มและจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแดงเมื่อแก่จัด ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกจนเก็บเป็นพริกไทยเมล็ด 6-7 เดือน

ผล ค่อนข้างกลม เรียงตัวกันหนาแน่นบริเวณแกนกลางของช่อผล ผลอ่อนจะมีสีเขียวเข้มและจะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามอายุผล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 มิลลิเมตร มีกลิ่นฉุน รสชาติเผ็ด เกิดจากสารแอลคาลอยด์ของไพเพอรี

 

พริกไทย เป็นพืชที่สามารถ เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี

แม้ในพื้นที่ซึ่งมีความชื้นสูง ไม่มีน้ำท่วมขัง สูงจากระดับน้ำทะเล 0-1,200 เมตร สภาพเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำได้ดี ค่าความเป็นกรด เป็นด่าง อยู่ที่ 6.0-6.5 ความลึกของหน้าดินมากกว่า 50 เซนติเมตร พื้นที่อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือและใต้ อุณหภูมิ 10-30 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 1,200-2,500 มิลลิเมตร มีแหล่งน้ำที่สะอาดปราศจากสารพิษเจือปน มีความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 5.0-6.5

2

ผลผลิตพริกไทย หากเทียบกับผลตอบแทนที่ได้ในแต่ละปีจะดีกว่าผลไม้ชนิดอื่นในพื้นที่มาก และถ้าหากเกษตรกรดูแลต้นพริกไทยไม่ให้ทรุดโทรม ก็จะทำให้ผลผลิตในปีต่อๆ ไปดีขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการลงทุนในเรื่องต้นทุนได้ลงไปแล้วในปีแรก อีกทั้งสามารถเก็บไว้ได้นานหลายปี       

พันธุ์ซีลอน เป็นพันธุ์พริกไทยที่นำมาจากประเทศศรีลังกา นิยมปลูกเพื่อขายเป็นพริกไทยสด มากกว่าทำพริกไทยดำหรือขาว ลักษณะของยอดจะออกสีน้ำตาลแดง จึงเรียกกันว่า “ซีลอนยอดแดง” นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ซีลอนยอดขาว เป็นพันธุ์พริกไทยที่นำมาจากประเทศศรีลังกา เช่นเดียวกันกับพันธุ์ซีลอนยอดแดง พริกไทยพันธุ์นี้ความจริงเป็นพริกไทย พันธุ์ PANIYUR-1 ซึ่งเป็นพริกไทยพันธุ์ลูกผสมของประเทศอินเดีย ระหว่างพ่อพันธุ์ Uthirankota กับแม่พันธุ์ Cheriyakaniyakadan (John.K.Ghanara tham, 1994)

พริกไทยพันธุ์นี้จะมีลักษณะเถาอ่อน สีจะเขียวอ่อนเกือบขาวโดยเฉพาะที่ยอดอ่อน จึงนิยมเรียกว่า “ซีลอนยอดขาว” เนื่องจากมีผู้นำพันธุ์มาจากประเทศศรีลังกา (ซีลอน) ลักษณะต่างๆ จะคล้ายกับพันธุ์ศรีลังกาที่แตกต่างกันชัดเจนก็คือ ส่วนยอด ช่อผลจะยาวกว่าพันธุ์ศรีลังกาเล็กน้อย การเจริญเติบโตเร็วกว่าพันธุ์ซาราวัก ผลสดจะมีลักษณะโตกว่าพันธุ์ซาราวัก นิยมปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นพริกไทยสด เพื่อส่งโรงงานทำพริกไทยดอง

6

พริกไทยซีลอน มีคุณลักษณะเด่นคือ มีใบและทรงพุ่มใหญ่ ฝักยาว น้ำหนักดี ที่สำคัญเป็นพริกไทยพันธุ์หนัก สามารถเก็บฝักอ่อนจำหน่ายได้ เมื่อฝักมีอายุตั้งแต่ 3-6 เดือน ซึ่งถือเป็นข้อดี เพราะสามารถอั้นฝักไปเก็บขายในช่วงเดือนที่พริกไทยมีราคาแพงได้ อีกทั้งพริกไทยสายพันธุ์นี้ไม่ค่อยมีโรครบกวน จะมีปัญหาเดียวในช่วงปลายฝนต้นหนาวคือ ราน้ำค้าง ซึ่งเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการฉีดสารป้องกันเชื้อราทั่วไป ก่อนที่จะตัดแต่งกิ่ง จากนั้นจึงปลูกลงไร่ ให้ระยะห่าง 2-2.5×2-2.5 เมตร

เช่นเดียวกับเกษตรกร คุณประเสริฐ จันทโรทัย บ้านเลขที่ 115 หมู่ที่ 1 ตำบลวังสำโรง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โทร. (087) 841-2310 ที่เริ่มปลูกพริกไทยซีลอนมาได้ 1 ปีเศษ ซึ่งพริกไทยเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว เก็บขายในท้องถิ่นและแม่ค้าได้ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท และยังขยายพันธุ์พริกไทยซีลอนด้วยการตอน สร้างรายได้เป็นอย่างดีในช่วงรอเวลาที่ต้นพริกไทยจะเริ่มให้ผลผลิต

คุณประเสริฐ จันทโรทัย กับสวนพริกไทย ที่ถือว่าเป็นพืชชนิดใหม่ในพื้นที่ ซึ่งมีเพื่อนเกษตรกรเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น
คุณประเสริฐ จันทโรทัย กับสวนพริกไทย 

คุณประเสริฐ เล่าว่า การปลูกพริกไทยถือว่าเป็นพืชใหม่ในพื้นที่อำเภอตะพานหิน เพราะส่วนมากเกษตรกรแถบนี้ก็จะทำนาข้าว ปลูกข้าวโพด ชะอม สวนมะนาว สวนส้มโอ แต่บังเอิญตนเองได้มีโอกาสไปนั่งฟังบรรยายเรื่องการปลูกพริกไทย ที่จัดขึ้นในตำบล ก็ได้รับฟังข้อมูลมาว่า พริกไทยเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวแต่มีอายุการเก็บเกี่ยวนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป และราคาซื้อขายพริกไทยสดค่อนข้างดี จึงเกิดความสนใจก็ไปศึกษาดูงานและซื้อต้นพันธุ์มาปลูก โดยเริ่มต้นปลูกในพื้นที่ 2 งาน โดยใช้เสาหลักปูน จำนวน 200 หลัก และต้นพันธุ์พริกไทยซีลอน จำนวน 4 ต้น ต่อหลักปูน ต้องใช้ต้นพันธุ์พริกไทย 800 ต้น และต้องมุงซาแรนคลุมอีกที แม้เป็นการลงทุนที่สูง แต่คุณประเสริฐเล่าว่า มีแนวโน้มของตลาดที่ดีมาก น่าจะสามารถคืนทุนได้ไม่นาน

 

การปลูกพริกไทย

สามารถปลูกได้ทั้งปีถ้ามีแหล่งน้ำ มีระบบน้ำที่ดี แต่ส่วนมากนิยมปลูกช่วงฤดูฝน เพราะต้นพริกไทยตั้งตัวได้เร็ว ประหยัดเรื่องการให้น้ำ โดยจะใช้ต้นพันธุ์ไทย 4 ต้น ต่อหลุม หรือค้าง ใช้ระยะ ปลูก 2×2 เมตร โดยเลือกใช้เสาปูนหน้ากว้าง 4 นิ้ว ความยาว 2.50 เมตร เพื่อจะขุดหลุมฝังลงดินไป 0.50 เมตร ให้เสาปูนมีความสูงจากพื้นขึ้นไป 2 เมตร

การขุดหลุม ซึ่งปัจจุบันทำได้สะดวกมากขึ้น โดยมีตัวเจาะหลุมติดหลังรถไถ หรือแบบเครื่องเจาะหลุมคล้ายๆ สว่านมือ ราคาเครื่อง 5,000-6,000 บาท แล้วแต่จะเลือกใช้ ในพื้นที่ดอนไม่มีน้ำท่วมขังก็เพียงปรับพื้นที่ให้เรียบ ไม่ให้พื้นที่เป็นแอ่งกระทะ เพราะต้นพริกไทยไม่ชอบน้ำขังแฉะ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่มก็ให้ใช้รถไถ ขึ้นเป็นแปลงลูกฟูก จุดประสงค์เพื่อให้บริเวณที่ปลูกระบายน้ำได้ดีนั้นเอง ซึ่งแม้พื้นที่ปลูกพริกไทยจะเป็นพื้นที่ดอน ก็สามารถขึ้นแปลงเป็นลูกฟูกได้ ปากหลุมห่างจากโคนค้าง ประมาณ 10-15 เซนติเมตร (เรื่องของระยะปลูกมีหลายระยะ เพราะเกษตรกรจะเป็นคนตัดสินใจว่าระยะปลูกแบบไหนที่จะเหมาะสมที่สุด นั้นมีปัจจัยต่างๆ ในการตัดสินใจ) ผสมดินที่ขุดขึ้นมาในอัตรา ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน ต่อดิน 2 ส่วน โกยดินกลบลงในหลุมตามเดิม แต่จะมีลักษณะเป็นโคกดินหรือหลังเต่า เพราะมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นมา ขุดหลุมให้พอดีกับถุงต้นพันธุ์พริกไทย โดยนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกให้ปลายยอดเอนเข้าหาค้างเสาปูน หันด้านที่มีรากหรือตีนตุ๊กแกเข้าหาค้าง กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม และรดน้ำให้อย่างสม่ำเสมอในช่วงแรกของการปลูก

 

การตัดแต่งต้น ปล่อยให้ขึ้นเสา

เมื่อต้นพริกไทยเริ่มตั้งตัวได้ มีการแตกยอดอ่อนและอาจจะมียอดอ่อนจำนวนมาก ก็ต้องตัดแต่งออกบ้าง ให้เหลือยอดที่สมบูรณ์ไว้เพียง ต้นละ 2-3 ยอด ก็เพียงพอ เพื่อให้ยอดเกาะขึ้นเสาได้เร็ว ไม่สูญเสียอาหารในการเลี้ยงยอดจำนวนมาก จัดยอดให้อยู่รอบค้าง ใช้เชือกฟางผูกยอดให้แนบติดค้าง ผูกทุกข้อเว้นข้อ ถ้ามียอดแตกใหม่เกินความต้องการให้ตัดทิ้ง

พริกไทย อายุ 1 ปีเศษ บนหลักพริกไทย ที่สูงจากพื้น 2 เมตร
พริกไทย อายุ 1 ปีเศษ บนหลักพริกไทย ที่สูงจากพื้น 2 เมตร

เมื่อต้นพริกไทยเจริญงอกงามดีแล้ว ควรตัดไหลที่งอกออกตามโคนทิ้ง ตัดกิ่งแขนงที่อยู่เหนือผิวดิน 8-10 เซนติเมตร ออกให้หมด เพื่อให้โคนต้นโปร่ง แดดส่องถึง ในระยะที่พริกไทยยังไม่เจริญเติบโตถึงยอดค้าง ต้องเด็ดช่อดอกออกให้หมด ถ้าทิ้งไว้จะทำให้พริกไทยเติบโตช้า และควรมีการตัดกิ่งส่วนบน เพื่อความสะดวกในการทำงาน ซึ่งจะทำปีละครั้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว

กรณีที่ต้องการเลี้ยงเถาเพื่อใช้ทำพันธุ์ขยายพื้นที่ปลูกในปีต่อไป หรือเพื่อจำหน่าย ขายเอาคืนทุนเป็นรายได้ระหว่างรอเวลา เมื่อพริกไทยอายุ 1 ปี ตัดเถาให้เหลือ 50 เซนติเมตร จากระดับผิวดิน เมื่อพริกไทยแตกยอด จัดยอดขึ้นค้างเช่นเดียวกับปีแรก จนกว่าพริกไทยจะสูงเลยค้างไป ประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ผูกไว้บนยอดค้าง

 

การใส่ปุ๋ย

แนะนำให้ใส่โดโลไมท์ หรือปูนขาว ปีละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 300-500 กรัม ต่อค้าง ก่อนใส่ปุ๋ยเคมี 15-30 วัน เพื่อปรับสภาพดินและฆ่าเชื้อ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อัตรา 2-5 กิโลกรัม ต่อค้าง หรือแบ่งใส่ปีละ 2-3 ครั้ง ใส่มากหรือน้อย บ่อยครั้งแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสภาพดินและความสมบูรณ์ของแปลงปลูกของเกษตรกรเอง การใส่ปุ๋ยเคมี คุณประเสริฐก็เน้นใส่ปุ๋ยพื้นฐาน อย่างสูตรเสมอ สูตร 15-15-15 อัตรา 300-500 กรัม (3-5 กำมือ) ต่อค้าง อาจจะสลับหรือผสมด้วยปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 บ้างถ้าเห็นว่าต้นพริกไทยไม่ค่อยจะแตกยอด

ปลูกพริกไทยในพื้นที่ราบ อากาศร้อน จะต้องมีการมุงหลังคาด้วยซาแรนพรางแสง
ปลูกพริกไทยในพื้นที่ราบ อากาศร้อน จะต้องมีการมุงหลังคาด้วยซาแรนพรางแสง

ส่วนใส่ปุ๋ยคอก ก็จะหว่านรอบเป็นวงกลมห่างจากต้นพริกไทยมาสัก 1 คืบมือ และช่วงหน้าแล้งแนะนำใช้ฟางมาคลุมดินเพื่อให้ดินมีความชื้นสะสมที่นานขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันวัชพืชไม่ให้ขึ้นมาแย่งอาหารพริกไทยด้วย จนกระทั่งพริกไทยมีอายุ 8-13 เดือน (ขึ้นอยู่กับปัจจัย เช่น การดูแลสภาพสวน) จึงเริ่มแตกตาดอกและให้ผลผลิต แต่จะให้ผลผลิตน้อย เพียงหลักละ 1-3 กิโลกรัม ต่อปี เท่านั้น

ในปีแรกเราจะยังไม่เน้นให้พริกไทยติดฝัก เพราะทันทีที่พริกไทยแตกตาดอก ติดฝักนั้น พริกไทยจะชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้น ในปีแรกควรบำรุงต้น ดูแลทรงพุ่มให้มีขนาดใหญ่ ควรเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน โดยให้ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ที่มีสูตรตัวหน้า (N) สูง เช่น สูตร 20-7-7 หรือ 18-6-6 หรือ 30-20-10 ก่อน เพื่อเป็นการเพิ่มไนโตรเจนสร้างยอดและใบใหม่ และอีก 7 วันต่อมาก็ค่อยให้ปุ๋ยทางดินสูตรเสมอ เป็นการบำรุงต้นต่อไป เมื่อต้นพริกไทยอายุครบ 2 ปี จะเริ่มเหมาะสมปล่อยให้มีการติดผลเก็บผลผลิต

4

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้าน