ปลูกผักหวานป่า อาชีพสร้างรายได้มานานกว่า 30 ปี ของคนตำบลหนองปลิง

ปลูกผักหวานป่า อาชีพสร้างรายได้มานานกว่า 30 ปี ของคนตำบลหนองปลิง

“ผักหวานป่า” เป็นผักพื้นบ้านที่พบเห็นได้ง่ายในเขตพื้นที่ราบสูง ที่เป็นป่าเต็งรัง ป่าไผ่ รวมอยู่ในกลุ่มพวกป่าเบญจพรรณ ผักหวานป่ามีลักษณะใบใหญ่ กลม ยาว หนา หากสนใจอยากปลูกผักหวาน แต่ไม่รู้วิธีปลูก ต้นผักหวานมักจะไม่ค่อยโต การปลูกผักหวานให้ได้ผลผลิตที่ดีต้องปลูกเลียนแบบธรรมชาติ โดยปลูกผสมผสานกับพืชไร่ไม้ผลอื่นๆ เพื่ออาศัยร่มเงาไม้พี่เลี้ยงช่วยพรางแสงแดดในแปลงเพาะปลูก

ป้าสำลี พ่วงนาค เกษตรกรผู้ปลูกผักหวาน อยู่บ้านเลขที่ 260/8 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองปลิง จังหวัดนครสวรรค์ เล่าว่า ก่อนที่ป้าจะหันมาปลูกผักหวาน ป้าทำไร่ข้าวโพดมาก่อน แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็ประสบปัญหาภัยแล้งบ่อยๆ จึงเลิกทำไร่ข้าวโพดแล้วมาปลูกมะขามเทศไว้ส่วนหนึ่ง แต่พอดีว่าช่วงนั้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ป่าไผ่แถวบ้านจะมีต้นผักหวานป่าอยู่เยอะ ป้าก็เข้าไปเก็บเมล็ดมาเพาะเองที่บ้าน แรกๆ ก็ปลูกไม่ได้ผลตายหมด เพราะยังไม่มีความรู้ แต่ก็ยังไม่ถอดใจ ปีที่สองไปเก็บมาเพาะใหม่ก็เริ่มดีขึ้น เพาะได้ 10 ต้น แล้วนำมาขยายพันธุ์ต่อ ตอนปี’38 ปลูกเอาไว้เก็บกิน พอเก็บกินจนเหลือก็คิดว่าแถวบ้านมีตลาดเช้าที่สถานีรถไฟหนองปลิง ป้าก็เอาไปขาย ปรากฏว่าขายดี ตั้งแต่นั้นมาป้าจึงเริ่มขยายพันธุ์ปลูกมาเรื่อยจนกลายเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน

จากปลูกเล่นๆ กลายเป็นอาชีพเสริม
เลี้ยงครอบครัวมานานกว่า 30 ปี

จากปลูก 10 ต้น ตอนนี้ขยายพื้นที่ปลูกเป็น 8 ไร่ นับว่ามีพื้นที่ปลูกที่เยอะถ้าเทียบกับเกษตรกรรายอื่นในตำบลหนองปลิง เจ้าของบอกว่า ที่นี่จะไม่ปลูกกันทีละเยอะๆ เป็น 10-20 ไร่ เหตุผลเพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อก่อน พื้นที่อื่นเริ่มปลูกกันมากขึ้น หากินได้ง่าย อาชีพปลูกผักหวานจึงไม่รุ่งเรืองเหมือนสมัยก่อน แต่ที่ชาวบ้านรวมถึงป้ายังอยู่มาได้ทุกวันนี้เพราะป้าและชาวบ้านมีพ่อค้ารับซื้อประจำมานานกว่า 30 ปี เพื่อเขาจะส่งไปขายยังตลาดต่างประเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว ต่อไป

ป้าสำลี บอกว่า ผักหวานป่าเป็นพืชที่ปลูกยาก ถ้าคนไม่มีความรู้ ไม่เคยอยู่กับไร่นามาก่อนจะทำให้ประสบผลสำเร็จได้ยาก จากประสบการณ์ที่ป้าเคยเจอมาคือ ลูกค้าที่ซื้อต้นพันธุ์ไปปลูกเขาบอกว่าปลูกแล้วตายหมด ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความเหมาะสมของพื้นที่ เปรียบเสมือนการปลูกเห็ดต้องมีเชื้อเห็ดถึงจะขึ้น ผักหวานก็เช่นกันบางพื้นที่ที่ไม่เคยมีผักหวานขึ้นมาก่อนก็อาจจะทำได้ยาก ทางแก้คือคนปลูกจะต้องอนุบาลดีๆ ถ้าไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาปลูกไปแล้วต้นตาย ถือว่าปลูกยาก แต่ถ้าเราเข้าใจในการทำมันไม่ยากเลย

ยอดผักหวานป่าพร้อมเก็บ

เทคนิคการเพาะเมล็ด
ให้มีเปอร์เซ็นต์การงอก 90%

ป้าสำลี แนะนำเทคนิคการเพาะเมล็ดผักหวานให้มีเปอร์เซ็นต์การงอก ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ว่า วิธีการเพาะเมล็ดผักหวานด้วยการนำเมล็ดไปหมกทราย เป็นวิถีชาวบ้านที่ใช้การสังเกตและใช้ประสบการณ์พัฒนามาจนได้วิธีนี้คือ

  1. 1. นำเมล็ดผักหวานที่เก็บมาแกะเยื่อหุ้มออกให้หมด ถ้าเอาออกไม่หมดเมล็ดผักหวานจะเกิดเชื้อราได้
  2. 2. เมื่อแกะเยื่อหุ้มเสร็จ นำเมล็ดที่ได้ไปหมกไว้ในกองทราย ทิ้งไว้ประมาณ 8-10 วัน
  3. เมื่อเมล็ดแตกลายงารากจะงอกออกมา
  4. 4. แล้วนำเมล็ดที่มีรากงอกไปใส่ถุงเพาะชำ ใช้เวลาอนุบาลประมาณ 1 เดือน แล้วจึงนำไปลงหลุมปลูกได้

“ใครมาถามป้าก็จะแนะนำให้เพาะวิธีนี้มาตลอด เพราะถ้านำเมล็ดไปหยอดหลุมปลูกเลยจะไม่ค่อยได้ผลดีอัตราการรอดน้อย หลายคนบอกวิธีป้าเสียเวลา แต่ความคุ้มค่าของป้าคุ้มกว่ามาก ลงไปกี่หลุมก็เป็นหมด”

เมล็ดผักหวานที่เพาะไว้พร้อมปลูกลงหลุม

วิธีการปลูก

“จุดยากลำบากในการปลูกผักหวานป่าคือ ต้นกล้าที่เกิดจากการเพาะเมล็ด เมื่อนำไปปลูกในดินต้องระวังไม่ให้รากขาดและรากต้องตั้งตรงลงดิน มิฉะนั้นต้นผักหวานจะไม่เจริญเติบโต”

ทางแก้คือ ขุดหลุมไม่ต้องลึกมาก รองก้นหลุมด้วยดินแกลบผสมขี้วัว และในสมัยใหม่อาจจะต้องผสมฟูราดานกันปลวกกัดรากขาด

ขุดหลุมไม่ต้องลึกมาก

การจะปลูกผักหวานป่าให้ได้ผลดีจำเป็นต้องใส่ใจตั้งแต่สภาพพื้นที่ปลูกต้องมีความเหมาะสม เป็นดินเนิน ไม่เหมาะปลูกบนที่ลุ่มมีน้ำท่วมขัง

หลังจากเพาะเมล็ดเสร็จขุดหลุมลงต้น หากที่สวนไม่มีต้นไม้ใหญ่ไว้ให้ร่มเงาให้ใช้ตะกร้าครอบต้นไว้ก่อนเพื่อกันแดด เพราะถ้าปล่อยให้ร้อนจัดต้นจะไม่ค่อยรอด ครอบทิ้งไว้ 2-3 เดือน พอให้ต้นแข็งแรงต่อสู้กับแสงแดดได้แล้ว

ใช้ตะกร้าครอบ

ระยะห่างระหว่างต้น...1×1 เมตร คือระยะที่เหมาะสมที่สุด เพราะของป้าปลูกแรกๆ ยังไม่มีประสบการณ์ เห็นว่าผักหวานมีลักษณะต้นใหญ่เวลาโตกลัวกิ่งจะทับกันจึงใช้ระยะการปลูกที่ 2×2 เมตร แต่กลับไม่ได้ผลดีอย่างที่คิด ระยะห่างที่มากไม่ได้ช่วยให้ผลผลิตดก แต่เทคนิคการรูดใบต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ

ระบบน้ำ…ช่วงเริ่มปลูกใหม่ๆ ตั้งแต่วันแรกเริ่มให้น้ำแต่อย่าให้แฉะเกินไป ถ้าเป็นระบบสปริงเกลอร์ให้เปิดรดนาน 10-20 นาที แต่ไม่จำเป็นต้องรดทุกวัน ถ้าฝนตกให้งด เมื่อต้นโตดีให้เว้นน้ำ ผักหวานจะเปลืองน้ำช่วงตอนเก็บผลผลิต และมีความจำเป็นว่าจะต้องทำผลผลิตให้ออกก่อนผักหวานป่าจะออก ถ้าชนกันผักหวานเราจะไม่ได้ราคา ฤดูของผักหวานป่าคือช่วงเดือนมีนาคม ป้าจึงต้องมีการวางแผนการปลูกที่ดีคือ เริ่มเพาะเมล็ดเดือนเมษายน เดือนมิถุนายนเริ่มปลูก เดือนกันยายนจะเริ่มรูดใบทิ้ง เพื่อให้แตกใบใหม่ออกคือแตกยอด พอแตกยอดจะเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่นั้นมาถึงเดือนมีนาคม ใช้เวลาการรูดใบ 22 วัน 1 ปี เก็บขายได้นาน 7 เดือน

ปุ๋ยโดยมากเป็นปุ๋ยขี้วัว…1 ปี ใส่ 2 ครั้ง แบ่งใส่ 6 เดือน 1 ครั้ง ปริมาณ 1 กระสอบ ให้ทีเดียวจบ หรือดูว่าถ้าต้นไหนอ่อนแอก็ใส่เพิ่ม อาจมีปุ๋ยเคมีผสมบ้างเล็กน้อยเพราะคล้ายว่าของป่าจริงๆ เขาไม่ได้เก็บเกี่ยวตลอด จะมีแค่เฉพาะฤดูกาล แต่ของเราปลูกเป็นอาชีพต้องมีการเก็บเกี่ยวจึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีเข้าช่วยเพื่อบำรุงต้นบ้าง

โรคแมลง…จะไม่ค่อยมีถ้าหมั่นทำความสะอาดแปลง อย่าปล่อยให้หญ้าขึ้นรก เพราะศัตรูของผักหวานจะเกิดจากแมลงที่อยู่กับหญ้า ถ้าแปลงสะอาดก็เกิดศัตรูพืชได้น้อยมาก

ผลผลิตต่อไร่…1 ไร่ ได้ 100 กิโลกรัม 8 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 700-800 กิโลกรัม เป็นที่น่าพอใจ ปริมาณผลผลิตขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างต้นด้วย ถ้าปลูกถี่ไม่มีปัญหาแต่น้ำต้องถึง เมื่อต้นแก่จะให้ผลผลิตน้อย ต้นไหนแก่ก็เตรียมตัด ให้ต้นสาวขึ้น พอต้นสาวขึ้นยอดก็จะสวย

ต้นทุนการผลิต…สำหรับป้าปลูกมานานถือว่าต้นทุนการปลูกไม่เยอะ เมล็ดเพาะเอง ทำเอง ปลูกเอง แต่ถ้าเป็นมือใหม่ก็ตกต้นทุนไร่ละหนึ่งหมื่นบาทแต่เสียทีเดียว หลังจากนั้นคือกำไร แต่การปลูกผักหวานต้องทำใจในเรื่องของค่าแรงที่สูงแล้วต้องใช้ผู้ที่มีประสบการณ์

“ป้าปลูก 8 ไร่ ต้องใช้คนงานรูดใบถึง 20 คน ค่าแรงวันละ 300 บาท 4 วันเสร็จ สำหรับรูดใบ แล้วหลังจากนั้นต้องจ้างเก็บยอดแล้วแต่ออร์เดอร์ ถ้าพ่อค้าสั่ง 500 กิโลกรัม เราก็ต้องจ้างคนงานอย่างน้อย 20 คน ถือว่าหนักเรื่องค่าจ้างการดูแลไม่มีปัญหา แต่ลูกจ้างก็หายากไม่ใช่ว่าจะเก็บได้ทุกคน ถ้าคนเก็บไม่เป็นผักจะช้ำ ผลผลิตออกไปไม่เต็มร้อยพ่อค้าไม่สู้ราคา ถ้าคนเก็บเป็นผักจะสวยไม่ช้ำและไว เราจึงต้องหาคนที่เก็บเป็นแล้วให้ค่าแรงเขาเยอะหน่อย”

การตลาดยังไปได้เรื่อยๆ ถึงราคาจะตกลงมาบ้าง

ถ้าเทียบราคาผักหวานปัจจุบันกับสมัยก่อน ป้าสำลี บอกว่า ราคาต่างกันมาก สมัยก่อนราคาดีมาก กิโลกรัมละ 130 บาท ราคาเพิ่งจะมาตกช่วง 4 ปีหลังมานี้ เหลือกิโลกรัมละ 80 บาท ราคาจะขึ้นอีกทีช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม เพราะอากาศเย็นผักหวานจะขึ้นยาก ราคากิโลกรัมละ 100 บาท มีนาคมราคาเหลือกิโลกรัมละ 50 บาท เพราะไปชนกับฤดูของผักหวานป่า

การตลาด ถ้ามีเวลาว่างจะแบ่งไปขายเองที่ตลาดส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะส่งให้พ่อค้าประจำเขาจะรับซื้อแล้วส่งไปขายต่างประเทศ ทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว ตลาดทางนั้นต้องการเยอะมาก

ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่
ผักหวานป่า ยังปลูกเป็นอาชีพได้

พืชอื่นป้าไม่ชำนาญแต่ถ้าเป็นผักหวานเคล็ดลับคือความอดทน เพราะบางครั้งมันก็เป็นบ้าง ตายบ้าง แต่อย่าไปท้อ สู้มันไป แล้วสักวันจะสำเร็จ อาจจะปลูกร้อยต้นมันจะตายสักสิบต้นก็ช่างมัน เราก็ทำที่เหลือต่อไป ไม่ต้องท้อ ผักหวานยังถือเป็นพืชที่เลี้ยงคนปลูกได้อยู่ ถามว่าอนาคตสดใสไหมก็ไม่เท่าเมื่อก่อน แต่ก็สามารถทำให้คนปลูกมีอยู่มีกินได้ ไม่ถึงกับรุ่งเรือง แต่ไม่แย่

ขอขอบคุณ กรมส่งเสริมการเกษตร คุณพงษ์ธร ชุติมานันท์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ คุณฐิรัติภรณ์ คุ้มสมบัติ นักวิชาการเกษตรส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ และ คุณประดิษฐ์ อินตาพรม หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทีมงานนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านในครั้งนี้

สำหรับท่านที่สนใจอยากเรียนรู้การปลูกผักหวาน หรือสนใจเมล็ดพันธุ์ผักหวานเพาะแล้วพร้อมปลูกของป้าสำลี สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ (062) 278-9392 ราคาถุงละ 20 บาท ขึ้นแล้วพร้อมปลูก มี 2 ต้นคู่ ต้นเดียว 15 บาท