หนุ่มใต้ปิ๊งไอเดีย ทำ “ถุงเพาะชำจากยางพารา” ย่อยสลายได้ เจ้าแรกของโลก

หนุ่มใต้ปิ๊งไอเดีย ทำ “ถุงเพาะชำจากยางพารา” ย่อยสลายได้ เจ้าแรกของโลก

คุณนัท – ณัฐวี บัวแก้ว วัย 24 ปี ผู้บริหารหนุ่ม และ เจ้าของไอเดีย “ถุงเพาะชำจากยางพารา” แบรนด์ Greensery ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ยางพาราแล้ว ยังถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และลดโลกร้อนได้อีกด้วย

คุณนัท – ณัฐวี บัวแก้ว วัย 24 ปี ผู้บริหารหนุ่ม และ เจ้าของไอเดีย “ถุงเพาะชำจากยางพารา” แบรนด์ Greensery ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา

คุณนัทเล่าให้ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ฟังว่า ตนเรียนจบมาจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในสมัยที่เขาเรียนอยู่ปี 3 ได้เข้าไปช่วยน้องสาวทำโครงงานเกี่ยวกับถุงเพาะชำดูดซับน้ำ ซึ่งเป็นโครงงานในวิชาวิทยาศาสตร์ ประกอบกับก่อนเรียนจบ คุณนัทมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม PSU Startup Challenge ที่จัดโดยสถาบันพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้ง 5 วิทยาเขต ซึ่งเป็นการแข่งขันเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเกษตร นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณนัทอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

“ก่อนเรียนจบ ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ PSU ที่เป็นโครงการแข่งขันเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเกษตร บวกกับเคยช่วยน้องสาวทำโครงงานเกี่ยวกับถุงเพาะชำดูดซับน้ำ ก็เลยกลายเป็นไอเดียนำมาพัฒนาต่อ แล้วทางบ้านผมเอง ก็ทำสวนยางอยู่ ซึ่งทุนมันสูง แต่ราคาไม่ดี ผมก็อยากช่วยที่บ้านและเกษตรกรที่ทำสวนยาง ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา อีกทั้งปัญหาขยะพลาสติก เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนที่มีมานาน และคนก็รณรงค์กันจริงจังมากขึ้น อีกอย่างในการเพาะปลูกทางการเกษตร มักจะมีถุงของพวกกล้าพันธุ์ไม้พันธุ์พืชต่างๆ ทิ้งเยอะมาก ก็เลยอยากจะทำผลิตภัณฑ์ออกมาตัวหนึ่ง ที่นอกจากช่วยเพิ่มมูลค่าให้ยางพาราแล้ว ก็สามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในภาคการเกษตร ให้มันมีการหมุนเวียนใช้ซ้ำ และคนจะต้องใช้กันเยอะๆ ก็เลยเป็นที่มาของ ถุงเพาะชำจากยางพารา” ซีอีโอหนุ่ม กล่าว

โดยในการแข่งขันในครั้งนั้น ทำให้คุณนัทได้รู้ว่า ตนเองชอบและรู้สึกสนุกที่ได้ลงมือทำ และอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะรุ่นพี่หลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จ บางคนอายุยังน้อย คุณนัทจึงอยากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยๆ จึงลงประกวดอีกหลายเวที จนมาถึงเวทีประกวดการแข่งขันแผยธุรกิจ โครงการ Bangchak YY contest เขาได้คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 มาครอบครอง และได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทย ไปนำเสนอผลงานที่ในงาน Social Business Forum contest ที่ประเทศญี่ปุ่น

หลังจากที่ชนะการประกวด คุณนัท กล่าวว่า ทางกรรมการเล็งเห็นว่า โปรเจ็กต์ที่เขาทำ สามารถนำมาทำให้เกิดผลได้จริง จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ประกอบการในความดูแลของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มอ. และได้รับทุนวิจัยมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เขาจึงทุ่มเทเวลากว่า 1 ปีเต็ม เพื่อวิจัยและพัฒนาให้โปรเจ็กต์นี้เป็นรูปเป็นร่าง มีการลงพื้นที่ในหลายๆ จังหวัด อาทิ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา และปัตตานี เพื่อสอบถามความต้องการของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและเก็บข้อมูลในการนำมาพัฒนาถุงเพาะชำ ของเขา

“เรียกว่าผมมีความรู้เป็นศูนย์เลย เพราะเรียนจบด้านวิศวะ แต่หันมาจับธุรกิจ แล้วเป็นธุรกิจด้านนวัตกรรมการเกษตรด้วย มันเลยเป็นเรื่องยากพอสมควรเลยครับ ก็ต้องลงพื้นที่จริงเพื่อไปเก็บข้อมูลว่าเกษตรกรเขามีปัญหาด้านไหนบ้าง จะได้เอามาปรับใช้กับถุงเพาะชำได้ ก็พบว่าเกษตรกรมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการลงกล้าพันธุ์ต่างๆ เช่น ถุงพลาสติกสีดำๆ ที่บรรจุมากับต้นกล้ายางพารามักจะขาดง่าย เวลาโดนแดดนานๆ ถุงมันจะกรอบ แล้วก็ดูดแสงเพราะเป็นสีดำ ทำให้ต้องรดน้ำกล้าบ่อยๆ เวลาจะเอากล้าลงดินก็จะมีปัญหาเรื่องราก เพราะถ้าเอาออกจากถุงไม่ดี รากได้รับความเสียหายก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไปเลย จึงเป็นโจทย์ที่ต้องทำให้ถุงเพาะชำมีต้นทุนต่ำ ดูดซับน้ำได้ดี ไม่ต้องมานั่งเสียเวลากรีดถุงเพื่อเอากล้าลงดิน และต้องมีสารอาหารที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโต ที่สำคัญถุงต้องสามารถย่อยสลายได้ และผมก็เลือกยางพารามาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำถุงเพาะชำ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไปด้วย” คุณนัท กล่าว

เจ้าของไอเดียถุงเพาะชำจากยางพารา เล่าต่อว่า ขั้นตอนในการผลิตถุงเพาะชำนั้นไม่ยากอย่างที่คิด เพราะใช้กระบวนการเดียวกับการผลิตถุงมือยางพาราในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่ากระบวนการจุ่ม (Dipping) แล้วนำไปอบ มีการใช้ยางพารากว่า 50% และส่วนผสมอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยถุงเพาะชำจากยางพาราของคุณนัท มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ถุงเพาะชำขนาดเท่าพลาสติกทั่วไป ขนาด 3×4 นิ้ว และ ขนาด 4×6 นิ้ว สามารถใช้แทนถุงดำแบบเก่าได้ 3 – 4 เดือน สามารถนำลงดินพร้อมต้นกล้าได้เลย กับ ถุงเพาะชำแบบถาดที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา คุณนัทกล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้คือกลุ่มเกษตรกร แต่เมื่อถุงเพาะชำจากยางพารามีการออกบู๊ธและสื่อมากขึ้น ลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาส่วนมากกลายเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและกลุ่ม CSR มากกว่า เขาให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนความเชื่อหรือวิถีชีวิตของเกษตรกรนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก พวกเขามองว่าถุงเพาะชำจากยางพารา อาจทำให้ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และไม่ได้จะทำให้สิ่งที่ปลูกนั้นดีหรือแย่กว่าเดิม

“ถุงเพาะชำจากยางพารา มีการจดสิทธิบัตรเอาไว้เรียบร้อยแล้วครับ แล้วก็เพิ่งวางขายอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ขายราคาปลีกใบละ 3.50 บาท ก็ขายได้ประมาณ 3 – 4 หมื่นบาทครับ และกำลังทำสัญญาจ้างผลิตกับโรงงานอยู่ เพราะผมก็เพิ่งเริ่ม เลยยังไม่มีโรงงานเป็นของตัวเอง ก็ตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 3 เดือน ต้องเคลียร์พวกเรื่องหลังบ้านให้เสร็จ แล้วก็ภายใน 1 เดือนต่อจากนั้น ก็อยากจะขายให้ได้สักแสนใบต่อเดือน” คุณนัท กล่าวทิ้งท้าย

หากใครสนใจ สามารถสอบถามรายละอียดเพิ่มเติมได้ที่ แฟนเพจ @GreenseryThailand

เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2562