“ไผ่กวนอิม” จากไม้ประดับริมรั้ว เกษตรกรเห็นคุณค่า สร้างมูลค่ากอละ 200-300 บาท

เหนือสุดแดนสยาม ที่นึกได้ก็อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่มีด่านพรมแดนแม่สายเชื่อมต่อกับด่านพรมแดนท่าขี้เหล็ก แขวงท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศเมียนมา และมีจุดเด่นที่ใครๆ หลายคนเมื่อขึ้นไปเที่ยวถึงจังหวัดเชียงราย ต้องแวะคือ ตลาดแม่สาย

ภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้เกิดพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรในท้องถิ่นเชื่อว่า หากลงปลูกในดินแล้ว จะเจริญงอกงามได้ดีที่สุดคือ ที่บ้านสันทรายมูล หมู่ที่ 6 ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพียงแห่งเดียว แม้จะขยับไปปลูกหมู่บ้านถัดไป ผลผลิตและการเจริญงอกงามที่ได้ ก็ไม่สวยงามเท่าบ้านสันทรายมูลแห่งนี้

ภาษาพื้นถิ่น เรียกกันว่า ว่านเศรษฐี หรือ ว่านกวนอิมแต่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในชื่อของ ไผ่กวนอิม

ในพื้นที่บ้านสันทราย หมู่ที่ 6 ปลูกกันเป็นไม้ประดับเกือบทุกบ้าน บ้านละ 1-3 กอมานาน เสมือนเป็นไม้ในบ้านไปเสียแล้ว กระทั่งมีเกษตรกรหมู่บ้านใกล้เคียงมองเห็นความสวยของไผ่กวนอิม ตัดเอาไปส่งขายให้กับญาติที่ปากคลองตลาด ตลาดขายไม้ดอกไม้ประดับใหญ่ในกรุงเทพฯ ไผ่กวนอิมที่นี่ จึงเริ่มติดตลาด และเริ่มเป็นพืชที่สร้างเม็ดเงินให้กับชาวบ้านในพื้นที่

คุณณัชพล ตาวงค์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ ให้ข้อมูลกับนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ว่าอาชีพดั้งเดิมของเกษตรกรที่นี่คือ การทำนา เมื่อไผ่กวนอิม พืชที่ปลูกและขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่รอบบ้าน กลายเป็นพืชทำเงิน ทำให้หลายครอบครัวหันมาให้ความสำคัญ เริ่มดูแลให้กอสวยงามและตัดก้านเพื่อขยายพันธุ์ให้มีหลายกอ และเริ่มหาพื้นที่ปลูก ครัวเรือนไหนมีพื้นที่น้อยก็ปลูกน้อย ครัวเรือนไหนมีพื้นที่มากก็ปลูกมาก ตามความสามารถของแต่ละครัวเรือน

คุณณัชพล บอกว่า เกือบ 20 ปีแล้ว หลังจากที่ทุกบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของไม้ประดับขอบรั้วที่สามารถทำเงินเทียบเท่าหรือมากกว่าการทำนาที่เป็นอาชีพหลักได้ ตลาดก็เริ่มรู้จักว่าหมู่บ้านเรามีหลายบ้านที่ปลูกและตัดส่งขายได้ เรื่องของราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลางจึงเริ่มเป็นปัญหา ทำให้เกษตรกรหลายครัวเรือนหันหน้าปรึกษากัน ประกอบกับเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลมีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ จึงมองว่าการรวมกลุ่มจะทำให้การซื้อขายสามารถต่อรองราคาได้ดีกว่านี้ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีสมาชิก 45 คน มีพื้นที่ปลูกกว่า 1,000 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านสันทราย และหมู่ที่ 2 บ้านหนองอ้อ

แปลงไผ่กวนอิมสีทอง

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ บอกด้วยว่า ไผ่กวนอิมจัดว่าเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ซึ่งพื้นที่ตำบลโป่งผาส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย มีความเหมาะสมพอที่จะปลูกไผ่กวนอิมให้เจริญงอกงามดี เกษตรกรจึงปรับพื้นที่ให้เป็นแปลงปลูกไผ่กวนอิมแล้วส่วนใหญ่

การปลูกไผ่กวนอิมในครั้งแรก บนพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เงินลงทุนการปลูกทั้งหมด ประมาณ 60,000 บาท ต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ที่โครงสร้างและซาแรน เพราะไผ่กวนอิมเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องใช้ซาแรนกันแสง 60 เปอร์เซ็นต์ หากไผ่กวนอิมได้รับแสงเกินกว่าความต้องการ จะทำให้ใบเหี่ยว ไหม้ เสียหาย ไม่สวย ขายได้แต่ราคาไม่ดี หรือเรียกว่า ตกเกรด

แปลงไผ่กวนอิมสีเงิน

ไผ่กวนอิมที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ปลูก มี 4 ชนิด ตามชื่อเรียกของกลุ่ม คือ เงิน ทอง เขียวมรกต (สีเขียวล้วน) และซาเซียน (มรกตมีเส้นกลางใบ) ชนิดที่ได้รับความนิยมมาก คือ ซาเซียนและเขียวมรกต ราคาซื้อขายจะสูงกว่าและมีออเดอร์เข้ามา เมื่อต้องการให้แปรรูปเป็นไผ่รูปทรงต่างๆ ในกระถาง คล้ายไม้ดัด มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าตัว

การขยายพันธุ์ ทำโดยการตัดที่ลำไผ่ แล้วนำบริเวณที่ตัดไปปักลงดินไว้ ภายใน 20 วัน รากจะเริ่มงอกออกมาและจะเริ่มเจริญเติบโต

แปลงไผ่กวนอิมสีเขียวมรกต

 

การให้ปุ๋ย ให้ครั้งแรกหลังลงปลูก จากนั้นให้ทุก 3-4 เดือน โดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-16

การให้น้ำ ไผ่กวนอิมไม่ชอบน้ำมาก ควรดูที่ดินปลูก หากมีความชุ่มชื้นก็งดให้ แต่ถ้าดินเริ่มแห้งควรให้น้ำพอชุ่ม

การให้น้ำของเกษตรกรที่ตำบลโป่งผา คือการปลูกแบบยกร่อง ปล่อยน้ำเข้าร่อง เมื่อสังเกตว่าดินแห้ง จะปล่อยน้ำเข้าไปตามร่อง ส่วนใหญ่จะปล่อยน้ำเข้าร่องทุกๆ 45 วัน

ต้องหมั่นถอนหญ้าหรือวัชพืชที่รบกวนออกเสมอ เพื่อไม่ให้แย่งอาหารจากไผ่กวนอิม

ไผ่กวนอิมสีซาเซียน

ในพื้นที่ 1 ไร่ของการปลูก ระยะปลูกระหว่างแถวและระหว่างต้น 20×20 เซนติเมตร หรือ 25×25 เซนติเมตร เฉลี่ยพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกไผ่กวนอิมได้ประมาณ 28,000-30,000 ต้น

ไผ่กวนอิม หากปล่อยให้เจริญเติบโตเต็มที่ ขนาดลำไผ่ใหญ่ประมาณ 1 นิ้ว ความสูง 4-5 เมตร ขึ้นกับผู้ปลูก แต่สำหรับการตัดไผ่กวนอิมขาย ตลาดต้องการมี 3 ไซซ์ คือ ขนาด 60 เซนติเมตร ราคาขาย 1-2 บาท ต่อลำ ขนาด 70 เซนติเมตร ราคาขาย 3-4 บาท ต่อลำ ขนาด 1 เมตร ราคาขาย 6 บาท ต่อลำ ไม้ตลาดหรือไซซ์ที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือ ไซซ์ 60 เซนติเมตร ซึ่งใช้เวลาหลังลงปลูกประมาณ 6 เดือน สามารถตัดขายได้ ส่วนไซซ์ 70 เซนติเมตร ใช้เวลาปลูก 7-8 เดือน สามารถตัดขายได้

เพราะไผ่กวนอิมเป็นไผ่ประดับ ทำให้เกิดแนวคิดในการนำไผ่มาจัดรูปแบบให้สวยงามคล้ายไม้ดัด แล้วนำลงปลูกในกระถาง ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะสร้างมูลค่าในการขายให้กับเกษตรกรได้มาก

ซาแรน ต้องคลุมหมดทั้งแปลง

คุณปราณี พิมลศรี เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ เล่าว่า หากต้องการนำไผ่กวนอิมมาแปรรูป เป็นแบบต่างๆ เพื่อจัดลงปลูกในกระถางเพิ่มมูลค่า สามารถทำโดยหลังตัดไผ่กวนอิมไซซ์ 60 เซนติเมตรมาแล้ว ก้านไผ่จะมีความแข็ง ให้วางพักทิ้งไว้ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ก้านไผ่จะเริ่มอ่อนตัวลง แล้วนำไปริดใบบางส่วนออก และทำความสะอาด จากนั้นนำไปปรับหรือดัดให้เป็นรูปแบบต่างๆ จะทำได้ง่าย ซึ่งการแปรรูปในลักษณะนี้ มีหลายรูปแบบ และมีชื่อเรียกไปตามลักษณะที่ทำขึ้น เช่น ไม้สาม ไม้พันเกลียว โบว์ลิ่ง ม้วน ถักเปีย เปียโซ่ เป็นต้น โดยกลุ่มจะแปรรูปเป็นแบบที่ลูกค้าสั่งจำนวนมา

จำหน่ายในราคา 40-80 บาท ต่อกอ ขึ้นอยู่กับแบบยากหรือง่ายในการทำ ซึ่งหลังจากลูกค้ารับไปแล้วนำไปลงในกระถาง จะเพิ่มมูลค่าจำหน่ายได้อีก ในราคา 200-300 บาท ต่อกอ

วัสดุที่ใช้รัดไผ่กวนอิมให้เป็นรูปร่าง

“การส่งขายสำหรับงานแปรรูปไผ่กวนอิม ขึ้นอยู่กับออเดอร์ลูกค้า ไม่ได้ส่งทุกวัน แต่ลำตัดส่งมีทุกวัน วันละประมาณ 1.2 แสนต้น ต่อวัน นำไปส่งยังปากคลองตลาด และข้อดีของไผ่กวนอิมคือ หลังตัดจากต้นแล้วสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องแช่น้ำหรือปักลงดิน เป็นเวลานาน 4-5 วัน แต่ถ้าต้องการปลูกแล้วยังไม่แห้งตาย ก็ตัดปลาย แล้วปักลงดินหรือน้ำ รากก็สามารถงอกได้ตามเดิม”

ด้าน คุณบัญชา ตันดี กรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาของการปลูกไผ่กวนอิมที่ผ่านมา พบโรคชนิดหนึ่งที่ยังหาสาเหตุและวิธีแก้ไขไม่ได้ แต่เกิดขึ้นระยะ 3-4 ปีหลัง คือ ใบไหม้ เหี่ยว ไม่สวย ไม่สามารถขายได้ในราคาปกติ หากต้องการขายก็ขายในราคาตกเกรด โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มองว่าไม่คุ้มก็ถอนทิ้ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มเห็นว่า การปลูกไผ่กวนอิมของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลโป่งผาทำมานานเกิน 10 ปี การปลูกไผ่กวนอิมโดยปกติ ควรพักแปลง ลงปลูกใหม่ทุก 10 ปี แต่เมื่อเกิดปัญหาโรคดังกล่าว และยังหาวิธีแก้ไขไม่ได้ จึงแจ้งเกษตรกรทุกคนให้ลองพักแปลงทุกๆ การปลูก 5 ปี คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ยังมีแนวโน้มเพิ่มพื้นที่ปลูกไผ่กวนอิมอีก เพราะที่ผ่านมา มีหลายหมู่บ้านสนใจ แต่ไม่สามารถปลูกได้ผลผลิตดีเหมือนบ้านสันทรายแห่งนี้

สอบถามการปลูก ดูแลรักษาไผ่กวนอิมจากเกษตรกรโดยตรงได้ที่ คุณณัชพล ตาวงค์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ โทรศัพท์ (089) 953-2777 หรือ คุณปราณี พิมลศรี เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ โทรศัพท์ (082) 194-9459 และคุณบัญชา ตันดี กรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ โทรศัพท์ (088) 268-5933