พื้นที่จำกัด ก็ปลูกผักอินทรีย์ข้างบ้าน ไว้กินเองได้ แถมใครก็ทำได้ไม่ยาก

วิถีชีวิตเกษตรของคนไทยในอดีตเป็นวิถีชีวิตที่อยู่ใกล้ตัว เนื่องจากคนในครอบครัวเกษตรส่วนใหญ่ไม่ซื้อข้าวปลาอาหารจากผืนนาอื่นกินนอกจากเกลือ รอบๆ บ้านจึงปลูกพืชพื้นบ้านทุกอย่างที่กินได้ เช่น พืชผักที่ปลูกครั้งเดียวกินได้นานๆ อย่าง ฟัก แฟง ขี้เหล็ก สะเดา แค ส่วนพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น ไผ่สารพัดชนิดเพื่อการใช้สอยที่แตกต่างกัน วิถีชีวิตนี้ได้เลือนหายไปเมื่อเรามาทำมาหากินในเมือง เนื่องจากถูกจำกัดด้วยพื้นที่และเวลา แต่ความเป็นคนที่มีวิถีเกษตรในสายเลือด มีความนึกคิดตลอดเวลาที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในเมืองว่าอยากจะปลูกต้นไม้ต้นไร่ มีชีวิตอยู่ในสวนตอนอายุมากแล้ว ความคิดนี้มีอยู่ในใจของคนส่วนใหญ่

หลายคนหวนคิดถึงวันเวลาที่จะมีอิสรภาพในการทำสิ่งต่างๆ

รองศาสตราจารย์กษิดิศ อื้อเชี่ยวชาญกิจ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทั้งระดับปริญญาตรี (KU.27) และปริญญาโท ในสาขาสัตวบาล รับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 จึงโอนย้ายไปสอนที่ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นับเป็นอาจารย์ด้านสัตวบาลคนแรกของสถาบัน ที่ช่วยบุกเบิกการเรียนการสอนด้านการเลี้ยงสัตว์ รองศาสตราจารย์กษิดิศได้เคยทำงานบริหารในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร และรองคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ทำการสอนและวิจัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2553

การได้ปฏิบัติราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานด้านเกษตรผสมผสานตามที่ใฝ่ฝันไว้ เนื่องจากแนวคิดที่ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีฐานะยากจน ทางรอดที่จะให้เกษตรกรรายย่อยมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นและอยู่ได้อย่างมีความสุขนั้นต้องเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน ทุกกิจกรรมมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรของไทยนับตั้งแต่ยุค “ปฏิวัติเขียว” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จึงได้มีการนำวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร จุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่การนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเพิ่มผลผลิตการเกษตรอย่างขาดความระมัดระวังนี้เอง ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหายต่อทุกภาคส่วนดังที่ปรากฏตราบจนทุกวันนี้

จากผลที่ปรากฏดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคเริ่มตื่นตัวเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะอาหาร ผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจึงปฏิเสธการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อมและขาดคุณธรรม อาหารดังกล่าวเรียกว่า “อาหารอินทรีย์” ดังนั้น การเกษตรแบบผสมผสานในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์จึงเป็นงานที่ต้องหันมาทำการศึกษาวิจัย ให้ความรู้แก่นักศึกษา เกษตรกร และผู้บริโภค แทนที่จะมุ่งใช้แต่เทคโนโลยีแผนใหม่ที่ต้องพึ่งพาสารเคมีสังเคราะห์

c-728x546

รองศาสตราจารย์กษิดิศ กล่าวถึงการศึกษาด้านเกษตรของไทยว่า “จากการเรียนการสอนวิชาการเกษตรในระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่เน้นไปในด้านวิชาการเชิงลึก แต่ยังอ่อนด้านการปฏิบัติการในรูปแบบของการบูรณาการ หรือการนำไปใช้ได้จริง สำหรับการเกษตรอินทรีย์เป็นการเกษตรแบบองค์รวมที่มีการบูรณาการทุกแขนงวิชาการเกษตรเข้าด้วยกัน รวมไปถึงการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การมีคุณธรรม ตลอดจนการวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ หากจะผลิตเพื่อเป็นธุรกิจ”

ในช่วงที่ยังมีภารกิจการสอน รองศาสตราจารย์กษิดิศปลูกพืชผักอินทรีย์ซึ่งไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เพื่อใช้บริโภคเองไว้บริเวณหลังบ้าน โดยมีการศึกษาการเจริญเติบโตของผักควบคู่ไปด้วย เมื่อเกษียณอายุราชการจึงขยายการปลูกผักอินทรีย์ในพื้นที่นอกบ้านเพื่อเป็นธุรกิจซึ่งต้องมีการลงทุนทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ และแรงงาน การดำเนินงาน แต่เมื่อเริ่มต้นไปสักระยะก็ต้องหยุดลงกะทันหัน เนื่องจากต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่รั่วมานาน ในช่วงของการพักฟื้นก็ได้คู่ชีวิตที่ชอบการปลูกผักในรูปแบบเดียวกันดูแล โดยปลูกผักในรูปแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อบริโภคเองเป็นหลักไว้รอบๆ บ้านพักอาศัยซึ่งมีพื้นที่ 111 ตารางวา ในหมู่บ้านชัยพฤกษ์ รามอินทรา

นอกจากบริโภคเองแล้ว ผักบางอย่างที่เหลือจากการบริโภคจะแจกจ่ายให้ญาติมิตรและขายให้กับคนในหมู่บ้าน ตลอดจนนำไปส่งขายที่ร้านขายผักอินทรีย์-ผักไร้สารพิษ Organic Station ที่ตลาดถนอมมิตรซึ่งอยู่ใกล้บ้าน บางครั้งก็นำไปขายที่ตลาดนัดโรงเรียนไตรพัฒน์ คลองหก อำเภอลำลูกกา เดือนละครั้ง และตลาดนัดสีเขียว ศูนย์สุขศาสตร์หลังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีบู๊ธขายสินค้าที่เป็นเกษตรอินทรีย์นานาชนิดทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดีอีกด้วย การขายผักอย่างละนิดอย่างละหน่อยนี้ รองศาสตราจารย์กษิดิศ กล่าวว่า รายได้ทุกเดือนมากกว่ารายจ่ายในบ้านเสียอีก

a-728x728

 เกษตรอินทรีย์ เริ่มที่บ้าน

แปลงผักที่ปลูกจะใช้ไม้เฌอร่าซึ่งทนแดดทนฝน มีหน้ากว้าง 20 เซนติเมตร ตัดเป็นรูปแปลงผักขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร นำวัสดุปลูกซึ่งเป็นดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ใส่ลงไปบล็อกไม้เฌอร่าให้สูงจากพื้นเดิมประมาณ 20 เซนติเมตร เสริมจุลินทรีย์ของดินด้วยการรดน้ำหมักชีวภาพ แล้วจึงนำต้นกล้าผักที่เตรียมไว้ซึ่งมีอายุ 10-15 วัน ปลูกลงในแปลงพื้นดินด้านล่าง หากมีพื้นที่จำกัดก็ปลูกผักลงในตะกร้าแล้วแขวนข้างกำแพงบ้าน ผักที่ปลูกนั้นมีหลายชนิด แต่ยังยึดการปลูกเพื่อบริโภคเป็นสำคัญ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาดหัว ฟักเขียว แตงกวา มะนาว กะเพรา แมงลัก พริกขี้หนู และโหระพา เป็นต้น นอกจากการปลูกผักแล้ว รองศาสตราจารย์กษิดิศยังเลี้ยงไส้เดือนดินร่วมกับการปลูกผักอินทรีย์ โดยใช้มูลโคที่หมักแล้วเสริมด้วยเศษผัก เศษผลไม้ และเศษอาหารเลี้ยงไส้เดือนดิน ในมูลไส้เดือนก็นำมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับใส่พืชผักอินทรีย์ การดูแลผักจะดำเนินการด้วยตนเอง ไม่มีการจ้างแรงงานเลย

การปลูกพืชผักในช่วงแรกจะมีแมลงศัตรูพืชรบกวน เป็นเรื่องปกติ ต้องหมั่นสังเกตเดินดูแปลงผัก ออกกำลังกายไปเรื่อยๆ หากเจอศัตรูพืชก็เก็บออก ตอนปลูกครั้งแรกๆ จะใช้น้ำหมักชีวภาพและน้ำส้มควันไม้เพื่อป้องกันและขับไล่ศัตรูพืช ทั้งนี้จะไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การปลูกผักในรูปแบบดังกล่าว เมื่อปลูกติดต่อกันไปนานๆ จะสังเกตได้ว่าการรบกวนของศัตรูพืชลดลงมาก ทั้งนี้อาจเกิดจากธรรมชาติมีความสมดุลขึ้น มีตัวห้ำตัวเบียนมาอยู่ช่วยกำจัดศัตรูพืชผัก

จากหลักการเกษตรอินทรีย์ที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่เกื้อกูลกัน รองศาสตราจารย์กษิดิศจึงได้เลี้ยงไก่ไข่ไว้บริเวณด้านข้างตัวบ้าน โดยเริ่มเลี้ยงจากลูกเจี๊ยบประมาณ 60 ตัว ทั้งนี้ตั้งใจใช้มูลไก่ที่ได้มาปรับปรุงดินปลูกพืช เลี้ยงด้วยเศษอาหารที่ได้จากร้านอาหารใกล้บ้าน และใช้น้ำหมักชีวภาพควบคุมกลิ่นมูลสัตว์ เมื่อเลี้ยงไก่ไข่ได้จนอายุประมาณ 5 เดือน ใกล้ที่จะให้ไข่ก็ต้องขนย้ายไก่ไข่ไปเลี้ยงที่อื่น ทั้งนี้เนื่องจากไก่โตขึ้นและมีจำนวนมากเกินกว่าที่น้ำหมักชีวภาพจะควบคุมกลิ่นได้ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นการนำเป็ดไข่ 10 ตัว มาเลี้ยงแทนและใช้น้ำหมักชีวภาพร่วมกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงมาควบคุมกลิ่น ทุกวันนี้ไข่เป็ดที่ได้จำนวนวันละ 6-7 ฟอง บริโภคไม่หมดก็นำไปขาย ใช้เศษผักและวัชพืชในแปลงผักเป็นอาหารเสริมแก่เป็ด น้ำในอ่างที่ให้เป็ดได้ลงเล่นก็นำออกมาใช้รดต้นไม้ มูลเป็ดนำไปใช้เป็นปุ๋ยปลูกผัก

นอกจากการปลูกผักแล้ว รองศาสตราจารย์กษิดิศยังส่งเสริมเพื่อนบ้านให้ปลูกผักรับประทานเอง โดยให้คำปรึกษาแนะนำเป็นวิทยาทาน ตลอดจนจัดหาวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ในการปลูกผักอินทรีย์มาจำหน่าย เช่น ดินผสมมูลไส้เดือนสำหรับใช้ปลูกพืชผัก ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยจากมูลไส้เดือน กากน้ำตาล น้ำหมักชีวภาพ สารชีวภัณฑ์ และสารสมุนไพรใช้ควบคุมศัตรูพืช เป็นต้น

e-728x546

สรุปหัวใจสำคัญ

รองศาสตราจารย์กษิดิศ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “การปลูกพืชอินทรีย์ที่ใช้พื้นที่จำกัดข้างบ้าน ให้ยึดหลักว่า 1. ต้องใช้พื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด โดยการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช น้ำใช้ไม่มีปัญหาสำหรับการปลูกพืชในบริเวณบ้าน เนื่องจากน้ำมีเพียงพอ 2. ปลูกพืชที่ใช้บริโภคในครัวเรือนก่อน โดยเริ่มต้นอาจมีไม่กี่ชนิด เมื่อปลูกต่อไปๆ ชนิดของพืชจะเพิ่มมาก คนปลูกจะมีความสุขและมั่นใจในผักที่ตัวเองปลูกว่ามีความปลอดภัยมากกว่าผักตลาด ที่เหลือจากการบริโภคนำออกแจกจ่ายญาติมิตรและจำหน่ายในขั้นต่อไป และประการที่ 3. การจำหน่ายผลผลิตไม่ควรที่จะต้องขนส่งไปไกล ควรหาตลาดที่อยู่ใกล้สำหรับการขนส่งเอง และถ้าเป็นตลาดที่ไกลควรให้ผู้ซื้อมารับเอง เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของเราในการขนส่ง”

การปลูกผักอินทรีย์ข้างบ้านเป็นความสุขหลังเกษียณอายุราชการที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนมากมาย เหมาะสมกับกำลังกายที่มี ไม่ต้องออกแรงหนักมากนัก โดยใช้แรงงานภายในครอบครัวก็มีความสุขที่ได้ผักดีๆ มาบริโภค ผักอาจจะด้อยความงามไปบ้าง แต่ก็มากด้วยคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าทางอาหารเพราะเป็นผักที่ปลูกตามวิถีธรรมชาติ เมื่อมีผลผลิตเหลือเฟือก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นจากการแบ่งปันพืชผักที่ปลอดภัยให้คนอื่น

สอบถามเรื่องผักกับรองศาสตราจารย์กษิดิศ ได้ที่ โทรศัพท์ 081-821-5007

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์