“ปุ๋ยปลาร้า” (น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล) ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รักษาสิ่งแวดล้อม

“ปุ๋ยปลาร้า” (น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล) ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รักษาสิ่งแวดล้อม

ทุกวันนี้ ภาคเกษตรต้องเผชิญปัญหาดินเสื่อม โรคแมลงศัตรูพืชและปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ได้ผลผลิตต่ำสวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น  หากใครกำลังมองหาแนวทางลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ก็แนะนำให้ทดลองใช้  “ปุ๋ยปลาร้า” (น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ตามที่ต้องการ

ย้อนกลับเมื่อปี 2550-2551 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยคุณสุพจน์ แสงประทุม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2   อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในสมัยนั้น เกิดแนวคิดที่จะช่วยเกษตรกร “ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม” จึงได้มอบหมายให้ นักวิชาการเกษตร ชื่อ คุณวิชัย ซ้อนมณี ศึกษาทดลองการใช้น้ำหมักชีวภาพชนิดต่างๆ  มาใช้ในแปลงเพาะปลูกพืช ก็ได้ผลสรุปว่า  น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลหรือที่เรียกกันทั่วไปคือ ปุ๋ยปลาร้า มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม ได้อย่างดี

เมื่อนำปุ๋ยปลาร้าไปให้เกษตรกรทดลองปุ๋ยปลาร้าก็พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในแปลงปลูกพืช เพราะสามารถเพิ่มจำนวนปริมาณของผลผลิตมากขึ้น  ช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้น  เป็นทั้งปุ๋ยและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กันไป  เกษตรกรมีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  ช่วยลดต้นทุนการผลิตลดลงเมื่อเทียบการปลูกโดยใช้สารเคมี  ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ผลการทดสอบปุ๋ยปลาร้ากับพืช  

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ค้นพบว่า  น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลหรือปุ๋ยปลาร้าที่หมักจากปลาทะเลนานกว่า 8 เดือนขึ้นไป มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยทดลองกับพืชชนิดต่างๆ แล้ว ปรากฏผลดังนี้

อ้อย

ได้ทดลองใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล 2 ครั้ง ต่อ 1 ปี ในอัตราส่วนน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล 1 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร ในพื้นที่ไร่อ้อย 1 ไร่ ใช้น้ำหมักชีวภาพผสมน้ำแล้ว 200 ลิตร มี 2 วิธี ดังนี้

วิธีการที่ 1

– ตั้งแต่เริ่มวางท่อนพันธุ์อ้อยจนท่อนพันธุ์อ้อยได้ 1 ศอก ประมาณ 3 เดือน กำหนดการฉีด 1 ครั้ง ในอัตราส่วน น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล 1 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดที่โคนและใบ

– หลังจากนั้นพอเข้าเดือนที่ 5 ฉีดอีกครั้ง โดยใช้อัตรา 1 ต่อ 100 เหมือนเดิม

ตอนนี้ฉีดโคนอย่างเดียว และไม่ต้องฉีดแล้วจนกระทั่งเก็บเกี่ยว จนอายุครบ 1 ปี หรือ 12 เดือน

วิธีการที่ 2

– แบบปล่อยน้ำไหลเอื่อยๆ ไปทั่วแปลงอ้อย โดยใช้อัตราส่วนและระยะเวลาเท่ากัน คือปล่อยน้ำช่วงเดือนที่ 3 และเดือนที่ 5

ผลที่ได้รับ

  1. ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุยมากขึ้น
  2. ป้องกันการระบาดของหนอนกินราก หรือหนอนกอไม่ให้มารบกวน
  3. ปริมาณน้ำหมักของอ้อยได้ปริมาณน้ำหนักมากขึ้นเท่าตัว
  4. เป็นทั้งปุ๋ยบำรุงดินและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กันไป
  5. ปลอดภัยต่อร่างกายและรักษาสิ่งแวดล้อม

นาข้าว

ในช่วงเตรียมดินใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นทั่วแปลงนา ปรับสภาพดิน หลังจากนั้นใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล ในอัตราส่วน 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 4 ครั้ง ดังนี้

การแช่เมล็ดพันธุ์

  1. แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว 1 วัน โดยผสมน้ำหมักชีวภาพกับน้ำในอัตรา 1 : 200 (หรือน้ำหมักชีวภาพ 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร)
  2. แช่เมล็ดพันธุ์ 1 วัน ยกขึ้นจากน้ำ ผสมกับน้ำหมักชีวภาพกับน้ำในอัตรา 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ฝักบัวรดเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำแล้ว

การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากตอซังข้าว

เมื่อเก็บเกี่ยวข้าว ไม่ควรเผาตอซังเพื่อใช้ประโยชน์จากตอซังให้เป็นปุ๋ย ด้วยการปล่อยตอซังทิ้งไว้ในนา เมื่อสูบน้ำเข้านาให้วางขวด หรือแกลลอนน้ำหมักชีวภาพไว้ที่เครื่องสูบน้ำ โดยคลายเกลียวฝาตั้งเอียง เพื่อให้น้ำหมักหยดไปตามน้ำที่สูบเข้านา โดยมีระยะการหยดพอสมควร จนเสร็จสิ้นการสูบน้ำ  ผลที่ได้หลังจากนั้นประมาณ 7-10 วัน ตอซังจะย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังทำให้ไข่แมลง ไข่เพลี้ย ฝ่อตายได้ด้วย

ระยะเวลาการฉีด

ครั้งที่ 1 : เมื่อข้าวอายุ 15 วัน

ครั้งที่ 2 : เมื่อข้าวอายุ 35 วัน

ครั้งที่ 3 : เมื่อข้าวอายุ 55 วัน

ครั้งที่ 4 : เมื่อข้าวอายุ 75 วัน

การใส่ปุ๋ย

อัตราการใช้น้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร

กรณีที่มีการระบาดอย่างรุนแรงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ให้ใช้สุราขาว 2 ขวด กับหัวน้ำส้มสายชู 1 ขวด และยาฉุน 1 ห่อ ผสมให้เข้ากันก่อน แล้วจึงมาผสมน้ำหมักจากปลาทะเลในอัตราส่วน น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล 500 ซีซี กับส่วนผสมของสุราและน้ำส้มสายชู 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในนาข้าว

ผลที่ได้รับ

  1. ต้นข้าวแข็งแรง ใบตั้งชัน ออกรวงเต็มเมล็ด
  2. ป้องกันการโค่นล้มของต้นข้าว
  3. ป้องกันการระบาดของหนอนกอ เพลี้ยกระโดด เพลี้ยไฟ หนอนห่อใบข้าวและโรคที่เกิดจากเชื้อรา
  4. เป็นทั้งปุ๋ยบำรุงดินและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กัน
  5. ช่วยเพิ่มผลผลิตมากขึ้นและลดต้นทุน
  6. ปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายของเกษตรกรและรักษาสิ่งแวดล้อม
  7. ความชื้นของเมล็ดข้าวได้มาตรฐาน
  8. แมลงศัตรูพืชไม่มารบกวน
  9. ช่วยปรับสภาพดินให้ดินมีธาตุอาหาร N P K ที่พืชต้องการ ซึ่งจะทำให้ต้นข้าวสมบูรณ์ แข็งแรง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

การเพาะเห็ดหูหนู

การใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลกับการเพาะเห็ดหูหนูนั้น ใช้เมื่อเอาเชื้อเห็ดเข้าโรงเห็ด เมื่อเห็ดออกปลิง ให้เริ่มฉีดน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล 200 ซีซี ต่อน้ำ 100 ลิตร (200 ซีซี หรือเท่ากับ 1 กระป๋องน้ำอัดลม) โดยฉีดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ฉีดไปตลอดจนกว่าจะเก็บหมด ฉีดช่วงเย็นประมาณ 5-6 โมงเย็น แล้วฉีดน้ำตาม 1 ครั้ง และรดน้ำตามวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะเก็บดอกเห็ดหมด (ทำซ้ำเหมือนเดิมจนหมดเชื้อ ปกติจะเก็บทุกๆ 5 วัน)

ข้อควรระวัง

การเพาะเห็ดหูหนูอาจเกิดเชื้อราจากขี้เลื่อยไม่ดี จะทำให้เกิดเชื้อรา ซึ่งมักเกิดจากตัวเชื้อทีแรกในก้อนเห็ดได้

ผลที่ได้รับ

  1. น้ำหนักของเห็ดจะได้มากกว่าปกติเท่าหนึ่ง
  2. ดอกจะหนามากและสีของดอกจะสวย
  3. เป็นทั้งปุ๋ยบำรุงดอกเห็ดและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กันไป
  4. ปลอดภัยต่อร่างกายและรักษาสิ่งแวดล้อม

ถั่วฝักยาว

ใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลสำหรับต้นอ่อนถั่วฝักยาว (ต้นกล้า) โดยใช้น้ำหมักชีวภาพครึ่งลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร ในช่วง 15 วันแรก หลังจาก 15 วัน นับไปถึง 20 วัน ใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ให้ฉีดน้ำหมักชีวภาพอัตราส่วน 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร จนกว่าจะเก็บถั่วฝักยาวจนหมด ระยะเวลาจากวันแรกจนเก็บถั่วฝักยาวประมาณ 45 วัน

ผลที่ได้รับ

  1. สามารถเก็บได้ในปริมาณที่มากกว่าเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมี
  2. ป้องกันไม่ให้หนอนเจาะฝักถั่วและแมลงศัตรูพืชมารบกวน
  3. ต้นถั่วฝักยาวที่ตายแล้ว สามารถฟื้นกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
  4. เป็นทั้งปุ๋ยบำรุงดินและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กันไป
  5. ปลอดภัยต่อร่างกายและรักษาสิ่งแวดล้อม

แตงกวา

ใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลสำหรับแตงกวาในช่วงแรกของต้นกล้านั้น ช่วง 15 วันแรก จะใช้อัตราส่วนน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลครึ่งลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร และอีก 20 วันนั้นค่อยเปลี่ยน โดยใช้อัตราส่วนน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลในอัตราส่วน 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร จนกว่าจะเก็บแตงกวาได้หมด

ผลที่ได้รับ

  1. สามารถเก็บได้ในปริมาณที่มากกว่าเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับใช้ปุ๋ยเคมี
  2. ป้องกันไม่ให้หนอนและแมลงมารบกวน
  3. ต้นแตงกวาที่ตายแล้ว สามารถฟื้นกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
  4. เป็นทั้งปุ๋ยบำรุงดินและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กันไป
  5. ปลอดภัยต่อร่างกายและรักษาสิ่งแวดล้อม

หน่อไม้ฝรั่ง

ใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลกับหน่อไม้ฝรั่ง เริ่มโดยการใช้ปุ๋ยน้ำในอัตราส่วน 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร ใช้รดที่ต้นหน่อไม้ฝรั่งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในช่วงเวลาตอนเย็น

ข้อมูลจากเกษตรกรที่ร่วมทดลองพบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการใช้สารเคมีในช่วงพักต้นจะเก็บได้ 1,000 กว่าบาท จำนวน 3 ไร่กว่า เมื่อเปลี่ยนมาใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลจะเก็บได้ 2,000 กว่าบาท และเมื่อใช้เคมีตอนปลูกใหม่ เมื่อใช้สารเคมีเก็บได้ประมาณ 50-100 บาท หลังจากใช้น้ำหมักชีวภาพเก็บได้ 500 กว่าบาท จำนวน 3 ไร่กว่า

ผลที่ได้รับ

  1. รายได้เพิ่มจากปกติ ถ้าใช้สารเคมีจะได้ 1 เดือน เท่ากับ 60,000 กว่าบาท เมื่อเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยน้ำแล้ว รายได้อยู่ที่ประมาณ 100,000 กว่าบาท
  2. ต้นทุนลดลงหลายเท่าตัว เมื่อใช้สารเคมีจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ 10,000 กว่าบาท เมื่อเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลเหลือเพียงประมาณ 1,000 กว่าบาท เท่านั้น
  3. ทำให้ไม่มีแมลงมารบกวน
  4. เพิ่มจำนวนปริมาณของหน่อไม้ฝรั่งมากขึ้น
  5. ช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้น ซึ่งมีสภาพร่วนซุย สำหรับพื้นที่โดยเฉลี่ย 3 ไร่ จะใช้ปุ๋ยน้ำ 2 ลิตรครึ่ง แล้วผสมน้ำ 500 ลิตร

นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ทดลองใช้ปุ๋ยปลาร้ากับ  มันสำปะหลัง ไผ่กิมซุ่ง พุทรา พริก มะเขือเปราะ หญ้าเลี้ยงสัตว์ ฝรั่ง ชวนชม ฯลฯ ปรากฏว่า ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน จึงมั่นใจว่าน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลหรือปุ๋ยปลาร้านี้สามารถใช้ได้ผลดีกับพืชทุกชนิดเพราะมีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยบำรุงดินและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กันไป ทั้งยังปลอดภัยต่อร่างกายและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มผลผลิตแก่พืชทุกชนิดนั้น

เนื่องจาก ปุ๋ยปลาร้า เป็นการหมักปลาทะเลยาวนาน 8-10 เดือน ทำให้มีธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และฮอร์โมนที่พืชต้องการครบถ้วน ซึ่งผลการตรวจสอบคุณภาพธาตุอาหารพบดังนี้  สำหรับปริมาณสารอาหารที่พบในจุลินทรีย์น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลหรือปุ๋ยปลาร้า ได้แก่ Aspratic acid 0.779%, Methionine 0.005%, Threonin 0.093%, Isoleucine 0.059%, Serine 0.145%, Phenylalanine 0.102%, Glutamic acid 8.014%, Lysine 0.39%, Proline 0.099%, Arginine 0.021%, Glycine 0.066%, Histidine 0.007%, Alanine 2.324%, Tyrosine 0.026%, Cystine 0.036%, TN 5.066%, Valine 0.241%, AN/TN 57.37%, pH 5.55%, P2O2 0.423%, K2O 0.894%, CaO3 3.420%, Bo 2.0%, MgO 0.517%, SO4 0.209%, Organic Matter 39.47%, Crude Protein 35.0% เป็นต้น

ดังนั้นหากเกษตรกรรายใด สนใจอยากลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน ขอแนะนำให้ลองใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลหรือปุ๋ยปลาร้าดูบ้าง  หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี   โทรศัพท์ (032) 201-568

วิธีการทำปุ๋ยปลาหมักสูตร วท.

ปุ๋ยปลาหมักเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ได้จากการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากปลา ได้แก่ หัวปลา ก้างปลา หางปลา พุงปลา และเลือด ผ่านขบวนการหมักโดยการย่อยสลายโดยการใช้เอนไซม์ ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หลังจากหมักจนได้ที่แล้ว จะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน และธาตุอาหารเสริมได้แก่ เหล็ก ทองแดง และแมงกานีส

นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและกรดอะมิโน ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ชัดว่ากรดอะมิโนสามารถจับตัวกับธาตุอาหารปุ๋ยทำให้ ปุ๋ยสามารถดูดซึมเข้าสู่ต้นพืชได้เร็วขึ้น ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของเกษตรกรที่พบว่าปุ๋ยปลาหมักช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้มีสีสดขึ้น ผลไม้มีคุณภาพดี และช่วยเร่งการแตกยอดและดอกใหม่ ตลอดจนการเพิ่มผลผลิตของพืช