พาไปรู้จักทุเรียนมาเลเซีย พันธุ์ “เหมาซานหวาง” ปลูก 90 วัน เก็บขายได้ เนื้อเยอะ รสชาติดี กลิ่นหอม 

พาไปรู้จักทุเรียนมาเลเซียพันธุ์เหมาซานหวาง ปลูกกันมากในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และจังหวัดจันทบุรี  ว่ากันว่าปลูกง่ายกว่าหมอนทอง รสชาติดี  เนื้อเนียนนุ่ม เหนียว หวาน กลิ่นหอม เนื้อเยอะ เม็ดลีบ ปลูก 90 วันเก็บขายได้เลย 

อาชีพเกษตรกรรมยุคนี้ ไม่มีอะไรร้อนแรงเท่าการทำสวนทุเรียน

2-3 ปีมานี้ ต่างชาติโดยเฉพาะจีน นำเข้าทุเรียนจากไทย ทำให้ผลผลิตในประเทศมีบริโภคน้อยลง ราคาที่เกษตรกรขายได้จากสวนจึงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

เดิมทีมีความเข้าใจว่าทุเรียนปลูกได้ดีเฉพาะแห่ง เช่น ภาคใต้ ภาคกลางบางจังหวัด รวมทั้งภาคตะวันออก แต่เนื่องจากการสื่อสารทันสมัย เทคโนโลยีก้าวหน้า ทุเรียนได้กระจายไปหลายๆ จังหวัด

เมื่อก่อนอาจจะมีคำถามว่า “จังหวัดไหนปลูกทุเรียนได้บ้าง” แต่ทุกวันนี้ คำถาม อาจจะเปลี่ยนเป็น “จังหวัดไหนไม่ปลูกทุเรียนบ้าง”

อีสานที่ว่าแล้งปลูกทุเรียนได้ดีที่ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา จังหวัดอื่นๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะปลูกได้ แต่ก็ปลูกมีผลผลิต เช่น สุรินทร์ กาฬสินธุ์ เลย

เหมาซานหวาง ทุเรียนมาแรง

ทุเรียนยอดฮิต ที่นิยมปลูกกันในบ้านเรา เห็นจะได้แก่ หมอนทอง อื่นๆ มี ชะนี ก้านยาว กระดุม พวงมณี

ราว 3-4 ปี มานี้ วงการทุเรียนฮือฮามาก เพราะมีทุเรียนเชื้อชาติมาเลเซีย ปลูกได้ดีแถบอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ทางมาเลเซียเขาปลูกแล้วส่งผลผลิตไปจีนขายได้ราคาสูงมาก ทุเรียนของมาเลเซีย ถูกนำมาปลูกที่จันทบุรี ได้ผลดีเช่นกัน

ทุเรียนที่ว่าคือ พันธุ์เหมาซานหวาง ซึ่งเคยเผยแพร่ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านไปบ้างแล้ว 1-2 ครั้ง ทุเรียนพันธุ์นี้มีหลายชื่อ นอกจาก เหมาซานหวาง แล้ว ยังเรียกชื่ออื่นๆ อีกคือ เหมาซานหว่อง มูซังคิง ภาษาอังกฤษเรียก โกลด์เด้นคิง

คุณอนวัช สะเดาทอง

คุณอนวัช สะเดาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลด์เด้นคิงแพลนท์ จำกัด ผู้ผลิตต้นกล้าทุเรียนเหมาซานหวาง ได้ให้ข้อมูล ซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของทุเรียนเหมาซานหวาง มาเพื่อเผยแพร่ดังนี้

– ก้นผลมีรูปดาวสีน้ำตาลชัดเจน

– ขั้วผลเห็นเป็นรูปมงกุฎชัดเจน

– เนื้อเนียนนุ่ม เหนียว

– รสชาติหวาน กลิ่นหอม

– เนื้อเยอะ เม็ดลีบ สีเหลืองสด

– อายุการเก็บเกี่ยว 90 วัน

– ต้นแข็งแรง ต้านทานโรค เนื่องจากเป็นสายพันธุ์จากทุเรียนป่า

“เปรียบเทียบกับทุเรียนหมอนทอง เหมาซานหวางลูกเล็กกว่า แต่อร่อยกว่าหมอนทอง พวงมณี รวมทั้งก้านยาว  ออกดอกพร้อมกับหมอนทอง แต่เก็บเกี่ยวเร็วกว่า 1 เดือน ราคาที่ซื้อขายอยู่สูงกว่าหมอนทองมาก ปี 2561 เราผลิตและจำหน่ายกิ่งพันธุ์ 1 แสนต้น ปี 2562 มีเป้าหมาย 2 แสนต้น” คุณอนวัช บอก

แปลงปลูกที่จันทบุรี 

ปลูกแบบแปลงลูกฟูกยาว

ระบบปลูกทุเรียนที่จังหวัดนนทบุรี ปลูกแบบร่องสวน

ส่วนภาคตะวันออก ดั้งเดิมปลูกเสมอกับพื้นดินเดิม หลังๆ ยกโคกปลูกเฉพาะต้นนั้น อย่างพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 25 ต้น ก็ยกโคกขึ้น 25 โคก

การยกโคกปลูก มีข้อดีคือ โคนต้นชื้นพอดี ลดการเกิดโรครากและโคนเน่า ช่วยให้ดินแห้งสามารถเตรียมตัวเพื่อการออกดอกได้ง่าย เมื่อมีผลผลิตสามารถปรับปรุงคุณภาพผลผลิตได้ไม่ยาก โดยช่วงเก็บเกี่ยวหากลดการให้น้ำ คุณภาพเนื้อทุเรียนก็จะดี

การยกโคกปลูกที่ช่วยได้มากจริงๆ คือ ลดการเกิดโรครากและโคนเน่า โรคนี้ทำให้ทุเรียนตายมาอย่างต่อเนื่อง เป็นโรคที่ชาวสวนกลัวที่สุด การตายจากโรคนี้ เป็นเรื่องปกติที่ชาวสวนต้องเจอ ซึ่งมีตายทุกปีและปลูกเพิ่มเสริมเข้าไปทุกปี

เป็นที่น่าสังเกตว่า การยกโคกปลูก ต้นโตเร็ว เมื่อก่อนปลูก 5-6 ปี จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทุกวันนี้ 4 ปี ก็ให้ผลผลิตได้ รวมทั้งปลูกถี่ขึ้น ได้จำนวนต้นต่อไร่มากขึ้น

รูปตามขวางแปลงปลูกทุเรียนแบบลูกฟูก

การปลูกทุเรียนแบบแปลงลูกฟูกยาว ทางคุณอนุวัชแนะนำให้ลูกค้าที่มาซื้อต้นพันธุ์ไปปลูก เมื่อมีการทำตามปรากฏว่าได้ผลดี

แปลงลูกฟูกยาว เป็นอย่างไร ขอให้หลับตานึกถึงแปลงผัก แต่สูงกว่า คือความสูงอยู่ที่ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ความสูงได้จากการใช้รถขุดทำแปลงให้ ดินที่ทำเป็นแปลงได้จากการขุดดินในแปลง เกษตรกรบางรายซื้อดินจากที่อื่นมาทำแปลง

แล้วแปลงห่างกันเท่าไร ตอบว่า ขึ้นอยู่กับระยะปลูก ซึ่งมีคำแนะนำว่า ระยะ 6 คูณ 8 เมตร (ได้รับความนิยม) พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 33 ต้น ระยะนี้มีความเหมาะสม

ความสูงของแปลง อยู่ที่ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร อย่างที่แนะนำไปแล้ว

แปลงกว้าง 4 เมตร (ยื่นออกข้างละ 2 เมตร ปลูกทุเรียนตรงกลาง) ตรงกลางแปลง (ระหว่างแปลง) กว้าง 4 เมตร เมื่อวัดระหว่างต้นที่ปลูก 8 เมตร

การยกโคกปลูกว่ามีข้อดีแล้ว แต่การปลูกแบบแปลงลูกฟูกยาว คุณอนวัช บอกว่า มีข้อดีเพิ่มขึ้น

“1. วางสปริงเกลอร์ได้ง่าย 2. รากทุเรียนไม่กระทบกระเทือนช่วงปฏิบัติงาน 3กำจัดวัชพืชง่าย 4. นำเครื่องจักรเข้าทำงานง่าย และ 5. ต้นโตเร็วมาก…เป็นข้อดีเพิ่มเติม จากการปลูกแบบยกโคก ตรงนี้เหมือนยกโคกยาวติดต่อกันนั่นเอง ต้นทุนไม่รวมที่ดิน ไร่ละ 1.5 หมื่นบาท รวมต้นพันธุ์แล้ว” คุณอนวัช บอก

งานปลูกแบบยกพื้นสูงหรือแบบยกโคกสูง รวมทั้งทำแปลงยาว ทุกวันนี้ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก

พื้นที่ปลูกลาดเอียงในเขตภูเขา อาจจะไม่จำเป็นต้องยกสูงขึ้น แต่พื้นที่ราบมีความจำเป็น

เนื้อทุเรียนเหมาซานหวาง หรือมูซังคิง

อาจจะมีข้อสงสัยว่า มีปลูกทุเรียนมาช้านาน โดยเฉพาะภาคตะวันออก ปลูกมาเกือบ 100 ปี ทำไมเพิ่งมาทำ เมื่อก่อนทุเรียนปลูกและดูแลรักษาง่าย เพราะฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล แต่ทุกวันนี้ บางปีเดือนมกราคมฝนตกหนัก หรือมีลมพัดแรงใบร่วง เรื่องโรครากและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อไฟทอปทอร่า เมื่อก่อนพบน้อยหรือแทบไม่มี แต่ทุกวันนี้ระบาดหนัก แนวทางการยกพื้นสูง ยกโคก ทำแปลงสูงและยาวจึงมีความจำเป็น สิ่งที่ทำมีความชัดเจน มีข้อเปรียบเทียบให้เห็นว่าได้ผลจริง

อยากทราบข้อมูลวิธีเพิ่มเติม หรือซื้อหากิ่งพันธุ์ทุเรียนเหมาซานหวาง สอบถามได้ที่ คุณอนวัช สะเดาทอง โทรศัพท์ 081-857-0811 หรือทีมงานที่จันทบุรี 084-946-8042 ท่านที่อยู่ทางใต้ ติดต่อได้ที่เบอร์ 082-169-2329 และ 081-946-9373 (จังหวัดชุมพร) ภาคกลางติดต่อที่ บังดล 081-554-6816 หรือเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ www. GOLDENKINGPLANTS.com / FB: GOLDENKINGPLANTS