ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
เผยแพร่ |
เกษตรกรปทุมธานี เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย ต้นทุนค่าอาหารต่ำ สร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน
คุณดอกรัก สุคนที ศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง ตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย มามากกว่า 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นยุคที่มีน้ำเพียงพอหรือช่วงวิกฤตแล้งเกิดขึ้น กลับไม่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาของเขามากนัก และที่สำคัญเขาได้นำปลาที่เลี้ยงเองทั้งหมดมาแปรรูปสร้างมูลค่า เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยทำเงินสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี
คุณดอกรัก เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาจับอาชีพเลี้ยงปลา ได้ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าจำหน่ายอาหารปลามาก่อน มีทั้งเป็นแบบอาหารสดและอาหารเม็ด เมื่อทำมาเรื่อยๆ ยอดจำหน่ายยังไม่ดีเท่าที่ควร จากนั้นประมาณ ปี 2542 จึงเริ่มลงมือทดลองเลี้ยงปลาดุกด้วยตนเอง
“สมัยก่อนนี่ผมขายของตามตลาดด้วย แล้วก็มีพวกซี่โครงไก่ ไส้ไก่ เพื่อส่งจำหน่ายให้เกษตรกรเอาไปบดเป็นอาหารปลาดุก คราวนี้เราส่งให้เขาเรื่อยๆ กำลังซื้อเขารับไม่ไหว เราก็เลยคิดว่าแบบนี้ต้องหาทางออก คือต้องเลี้ยงเอง ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เริ่มเลี้ยงปลาดุก” คุณดอกรัก เล่าถึงความเป็นมา
หลังจากที่ได้เลี้ยงปลาดุกอย่างที่ตั้งใจ คุณดอกรัก บอกว่า การเลี้ยงประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก ปลาที่เลี้ยงเจริญเติบโตดี แต่ติดอยู่ที่ว่าในช่วงนั้นเขายังไม่มีตลาดเพื่อจำหน่ายเท่าที่ควร เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาสำหรับเขา
“พอปลาโตพร้อมจำหน่าย ก็ต้องหาคนมารับซื้อ กว่าเขาจะมาจับมาซื้อได้นี่เล่นตัวค่อนข้างมาก เรียกง่ายๆ ว่า ผลัดไปเรื่อย ไม่มาจับสักที แบบนี้แหละครับที่ทำให้คนเลี้ยงปลาสมัยก่อนขาดทุน เพราะว่าไม่มาจับสักที คราวนี้ราคามันก็ลง ทำให้แทนที่จะได้กำไร ราคาที่จำหน่ายต่ำลงกว่าทุน ผมก็มาคิดว่าแบบนี้ไม่ดีแน่ ต้องหาวิธีการทำยังไงให้จำหน่ายได้ ผมก็เลยมาหาวิธีคิดทำการแปรรูป เพื่อจำหน่ายเอง” คุณดอกรัก เล่าถึงวิธีการแก้ปัญหา
คุณดอกรัก เล่าว่า วิชาความรู้ที่ใช้เลี้ยงปลาดุก เกิดจากการที่ได้ไปศึกษาจากฟาร์มที่เขาได้ไปส่งอาหารให้ว่ามีวิธีการเลี้ยงและเทคนิคอะไรบ้าง ซึ่งจากการที่ได้ไปหลากหลายสถานที่ ทำให้ได้จำวิธีการที่ดีๆ ของแต่ละฟาร์มนำมาพัฒนาปรับใช้กับการเลี้ยงของตนเอง
“บ่อเลี้ยงปลาดุกของผมนี่ บ่อขนาด 1.5 ไร่ ความลึก ประมาณ 1.80-2.20 เมตร ปล่อยปลา ประมาณ 1 แสนตัว ลูกปลาในช่วง 5-7 วัน จะให้กินอาหารเม็ด ที่มีโปรตีน ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับยาปฏิชีวนะที่ควบคุมโรคปากเปื่อย ให้กิน 3 เวลา เช้า กลาง และเย็น ซึ่งถ้าใครจะให้กินไปถึง 15 วันก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม จากนั้นก็จะมาเปลี่ยนเป็นอาหารสดที่ผมบดเอง” คุณดอกรัก กล่าว
สาเหตุที่ให้อาหารสดกับปลาดุก คุณดอกรัก บอกว่า ทำให้ประหยัดต้นทุนมาก เมื่อเทียบกับการให้อาหารเม็ดไปจนกว่าปลาจะโตได้ขนาดที่จำหน่ายได้ ด้วยวิธีนี้สามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้ประมาณ กิโลกรัมละ 12 บาท ปริมาณที่ให้แตกต่างกันตามอายุของปลา โดยในช่วงเดือนที่ 1 บดอาหารให้วันละ ประมาณ 150 กิโลกรัม เดือนที่ 2 เพิ่มเป็น 350 กิโลกรัม เดือนที่ 3 เป็น 450 กิโลกรัม และเดือนที่ 4 ให้อาหารเป็น 500-700 กิโลกรัม ดูตามความเหมาะสม
“อาหารที่ผมบดให้ปลากินในแต่ละวัน จะมีการผสมจุลินทรีย์ลงไปด้วย คือน้ำที่เราหมักจาก อีเอ็ม (EM) กากน้ำตาล ประมาณว่าเอาใส่ก้นถังอาหารสักหน่อย พออาหารบดลงมาเดี๋ยวก็ซึมเข้าไปเอง ผมมองว่ามันค่อนข้างมีประโยชน์ เพราะเวลาที่ปลากินเข้าไป ระบบย่อยก็จะดี ไม่เจ็บป่วยง่าย ทำให้การเจริญเติบโตดี และอันนี้สำคัญมาก อย่างอาหารที่ปลากินไม่หมด มันก็จะกลายเป็นของเสียที่อยู่ในบ่อ จุลินทรีย์พวกนี้ก็จะช่วยในเรื่องการบำบัดน้ำ ทำให้ของเสียไม่มี น้ำก็ไม่เหม็น มันเป็นการนำของที่เรามีกันอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์” คุณดอกรัก กล่าว
เมื่อผ่านไปประมาณ 4-5 เดือน ปลาดุกที่เลี้ยงทั้งหมดจะได้ขนาดไซซ์ตามที่ตลาดต้องการ เมื่อถึงเวลาจับ ก็จะนำมาแยกไซซ์เพื่อจำหน่ายเป็นปลาสด และแปรรูปเพิ่มมูลค่าต่อไป
คุณดอกรัก บอกว่า จากประสบการณ์การเลี้ยงที่ผ่านมา ปลาดุกที่เลี้ยง 1 แสนตัว ต่อบ่อ ขนาด 1.5 ไร่ จะได้ปลาดุกที่มีน้ำหนักประมาณ 18-20 ตัน ซึ่งปลาที่เลี้ยงมีไซซ์ขนาดแตกต่างกัน ประมาณ 4 ไซซ์ นำมาคัดขนาดเพื่อจัดการให้เหมาะสม
“ปลาดุกที่เลี้ยงจำนวนมากขนาดนี้ เรื่องแตกไซซ์แตกขนาด มันมีแน่นอนอยู่แล้ว ไซซ์ปลาฝอย ประมาณ 15 ตัว ต่อกิโลกรัม ไซซ์ที่นำมาทำปลาเค็ม ขนาดประมาณ 6-9 ตัว ต่อกิโลกรัม ปลาที่ใช้สำหรับย่าง ไซซ์ประมาณ 3-5 ตัว ต่อกิโลกรัม และปลาไซซ์ใหญ่จัมโบ้ ประมาณ 2 ตัว ต่อกิโลกรัม เราก็นำมาจัดการซะให้เหมาะสมกับชนิดของไซซ์ปลา ส่งจำหน่ายและแปรรูปให้เหมาะสม” คุณดอกรัก อธิบาย
คุณดอกรัก เล่าว่า ในช่วงแรกที่เลี้ยงเมื่อปี 2542 การจะจับปลาจำหน่ายในแต่ละครั้งค่อนข้างมีปัญหามาก เพราะแรงงานที่ใช้จับหายาก บวกกับปลาที่ส่งจำหน่ายบางครั้งมีปัญหาทำให้โดนตีกลับคืนมา เขาจึงมองเห็นช่องทางใหม่ในการนำมาแปรรูป
“ช่วงหลังจากปี 2542 ทำมาได้สักระยะ ผมก็เริ่มทำปลาส่งออกนอกด้วย ห้องเย็นเขาก็จะกำหนดไซซ์มา ต้องการขนาด 450-800 กรัม บางทีมีไซซ์ 300-400 กรัม ติดไป เราคุมยาก บางทีมันก็มีหลุดไป ก็โดนตีกลับมา คราวนี้พอจะไปจำหน่ายให้ใครมันก็ยาก เพราะว่ามันเป็นปลาแช่แข็ง ใครก็ไม่อยากซื้อ ผมก็เลยลองเอามาทำปลาดุกแดดเดียวดู สรุปคนชอบ ผมกับภรรยาก็ทดลองหมักให้อร่อยขึ้น ตอนนี้เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้ามาก” คุณดอกรัก เล่าถึงวิธีการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
ราคาปลาดุกแดดเดียว คุณดอกรัก จำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 130 บาท ราคาในการแปรรูปมีมูลค่ามากกว่าการจำหน่ายปลาดุกสด ที่ตกอยู่ราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท
นอกจากนี้ คุณดอกรัก ได้เล็งเห็นถึงของเสียที่เหลือจากการชำแหละปลา คือหัวปลาดุกและส่วนต่างๆ ที่ไม่ต้องการ โดยนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าทิ้งไปแบบไม่ได้คุณค่า จึงนำมาบดให้ละเอียดเป็นอาหารสำหรับให้เป็ดกิน เพื่อที่จะได้ประหยัดต้นทุนค่าอาหารเป็ดที่เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่ายไข่
“ช่วงนั้น หัวปลาดุกที่ทิ้ง ก็จะมีคนที่เขาเลี้ยงเป็ดมาขอซื้อ แต่พอนานไปจำนวนหัวปลาที่เรามีมันมากกว่าจำนวนเป็ดที่เขาเลี้ยง เราก็เลยมองว่าถ้างั้นเราน่าจะเลี้ยงเอง มันก็จะครบวงจรมากขึ้น เราก็เลยตัดสินใจเลี้ยงเป็ดต่อมา โดยเอาหัวปลามาบดผสมกับรำข้าว ปลายข้าว รู้สึกว่าเป็ดมันก็ไข่ดี พอต้นทุนต่ำ ผมก็สามารถจำหน่ายไข่เป็ดได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป” คุณดอกรัก เล่า จึงมีการนำสิ่งต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับท่านใด หรือหน่วยงานใด ที่สนใจอยากเข้ามาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย รวมไปถึงการแปรรูปแบบครบวงจร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณดอกรัก สุคนที โทรศัพท์ (089) 870-8915