พารู้จัก ‘ชันโรง’ หรือ ผึ้งจิ๋ว สุดยอดแมลงผสมเกสรพืช ให้ติดผลมากขึ้น

พารู้จัก ‘ชันโรง’ หรือ ผึ้งจิ๋ว สุดยอดแมลงผสมเกสรพืช

“ชันโรง” หลายท่านรู้จัก แต่ก็อาจมีอีกหลายท่านที่ไม่รู้จัก บางท่านไม่รู้จักชันโรง แต่รู้จัก ขี้สูด ติ้ง ขี้ตังนี อุง หรือ “ผึ้งจิ๋ว” ซึ่งก็ล้วนเป็นชื่อของชันโรงทั้งสิ้น เพื่อให้ทุกท่านได้รู้จักกับชันโรง ทราบและเข้าใจถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่ของแมลงเล็กๆ ที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเป็นตัวการในการผสมเกสรให้พืชพันธุ์ต่างๆ ทำให้พืชติดผลมากขึ้น เรามาทำความรู้จักกับแมลงชนิดนี้กันดู

สำหรับ “ชันโรง” มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น คนเหนือเรียก ขี้ตังนี ขี้ตัวนี หรือ ขี้ย้าแดง ภาคใต้เรียก แมลงอุง ทางอีสานเรียก แมลงขี้สูด ภาคตะวันออกเรียก ตัวตุ้งติ้ง

“ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว” (Stingless bees)  คือ แมลงผสมเกสรตัวเล็กๆ จัดอยู่ในจำพวกผึ้งแต่ไม่มีเหล็กไนเหมือนผึ้ง “ชันโรง” มีวิวัฒนาการสูงกว่าผึ้งป่าและผึ้งหึ่ง นอกจากนี้ ชันโรงยังให้น้ำผึ้งอีกด้วย น้ำผึ้งและเกสรของชันโรงมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วๆ ไป เนื่องจากเชื่อกันว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า เพราะรังของชันโรงหายาก และมีปริมาณน้ำผึ้งน้อย

ชันโรงนอกจากจะให้น้ำผึ้งที่มีคุณค่าทางโภชนาการแล้วยังช่วยผสมเกสรพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ชันโรงมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงสามารถบินลอยตัวอยู่ได้นานโดยไม่จับเกาะอะไร เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะกล้ามเนื้อส่วนอกแข็งแรงทำให้กระพือปีกได้นานบินร่อนลงเก็บเกสร และดูดน้ำหวานเป็นไปอย่างนุ่มนวลไม่ทำให้กลีบดอกช้ำ ชันโรงมีชุกชุมทุกภาคของประเทศไทย ชันโรงช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจต่างๆ ได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะชันโรงมีพฤติกรรมการเก็บเกสรดอกไม้ 80 เปอร์เซ็นต์ เก็บ

น้ำหวาน 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผึ้งมีอัตราส่วนเก็บดอกไม้และน้ำหวาน 50 : 50 เปอร์เซ็นต์ และมีความมั่นคงในการตอมดอกไม้อย่างสม่ำเสมอมีนิสัยไม่ชอบเลือก

ชันโรง เป็นผึ้งสังคมพื้นเมืองของประเทศไทยที่ไม่มีเหล็กไน อาศัยในโพรงไม้ โพรงใต้ดินและโพรงเทียมตามบ้านเรือน และที่เกิดจากมนุษย์ทำขึ้น หรือเกิดจากวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ภาชนะใช้สอยแล้วตั้งทิ้งไว้ ที่มีสภาพเป็นโพรงมืด เมื่อเข้าไปอาศัยแล้วสามารถบินเข้าออกได้ ชันโรงมีบทบาทด้านการผสมเกสรให้พืชผลทางการเกษตร ทำให้พืชที่ต้องใช้ผึ้งเป็นแมลงผสมเกสรติดผลมากขึ้น ชันโรงเป็นผึ้งที่สร้างรังถาวร อาศัยในรังนานนับสิบปี ปกติไม่มีนิสัยทิ้งรัง ไม่เลือกตอมดอกไม้ มีระยะทางบินหากินที่จำกัด และมีพฤติกรรมเก็บเกสรมากกว่าน้ำหวาน

สรุปว่าชันโรงหรือผึ้งจิ๋วมีนิสัยแตกต่างจากผึ้งพันธุ์ ผึ้งหลวง ผึ้งมิ้ม และผึ้งโพรง ที่สำคัญคือ ชันโรงแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย

วงจรชีวิตของชันโรง  มี 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย (เหมือนกับผึ้ง) นางพญาของชันโรง จะวางไข่ในหลอดรวง โดยมีชันโรงวรรณะงาน คอยเลี้ยงตัวอ่อนจนพัฒนาเป็นดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัย ไข่จะพัฒนาไปเป็นชันโรงวรรณะใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าได้รับการผสมจากน้ำเชื้อหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะพัฒนาไปเป็นชันโรงเพศผู้ แต่ถ้าได้รับการผสมก็จะพัฒนาไปเป็นชันโรงเพศเมีย คือ วรรณะงาน และนางพญา

ประเภทของชันโรงที่นำมาเพาะเลี้ยงเป็นการค้าในประเทศไทยคือ กลุ่มชันโรงตัวเล็กขนาดไม่เกิน 4  มม. มีประมาณ 3- 4 ชนิด เช่น ชันโรงขนเงินหรือผึ้งจิ๋วขนเงิน เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย พบว่าชันโรงมีมากกว่า 26 ชนิด การสำรวจและจำแนกชนิดของชันโรงในภาคใต้ 14 จังหวัด (ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) พบจำนวน 22  ชนิด ชันโรงส่วนมากพบแพร่กระจายอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนชื้น และป่าร้อนแห้งแล้ง ป่าพรุ ป่าเมฆ และอื่นๆ

ชันโรง เป็นผึ้งสังคมเช่นเดียวกับผึ้งรวง อยู่เป็นสังคม แบ่งหน้าที่กันทำงานเช่นเดียวกับผึ้งรวง แต่สรีระ ระบบร่างกาย อวัยวะ และต่อมต่างๆ มีความแตกต่างจากผึ้งรวง และมีบางส่วนที่ล้าหลัง ทำให้ระบบการทำงานแตกต่างกัน เช่น การสร้างรัง เป็นต้น ด้วยการดำรงชีวิตในรัง การสร้างรังแตกต่างกัน ย่อมได้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน

ชันโรงไม่มีการผลิตนมผึ้ง แต่จะผลิตเกสร และน้ำหวานได้เหมือนกัน ชันโรงไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในทวีปแอฟริกาใต้และอเมริกากลางก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับชันโรงมากมาย เช่น การศึกษาคุณภาพของน้ำผึ้งชันโรงที่เริ่มหมักบูดระยะแรกว่ามีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร และระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชันโรงในประเทศไทยยังมีน้อยไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชันโรงเหมือนในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง

ในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถเพาะเลี้ยงชันโรงได้  เพราะชันโรงไม่สามารถทนต่อฤดูหนาว  คนญี่ปุ่นจึงต้องสั่งน้ำผึ้งชันโรงจากประเทศไทยหรือจากประเทศอื่นๆ เช่น เม็กซิโก ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นคู่แข่งกับประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องรีบพัฒนาการเลี้ยง การแปรรูปและการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิตน้ำผึ้งหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของชันโรงให้เร็วที่สุด

การเลี้ยงชันโรงในประเทศไทยนั้น ยังไม่แพร่หลายเหมือนการเลี้ยงผึ้ง แต่ก็มีการเลี้ยงเพื่อใช้เป็นแมลงผสมเกสรอยู่บ้างในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย  เช่น ทุเรียน เงาะ และไม้ผลต่างๆ ชันโรงเป็นแมลงผสมเกสรที่ไม่มีความเฉพาะเจาะจงกับชนิดของดอกไม้ สามารถผสมเกสรพืชได้หลากหลายชนิดมากกว่าผึ้งพันธุ์ ง่ายต่อการจัดการเพราะไม่มีเหล็กไนจึงไม่มีอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ระยะทางในการบินไปหาอาหารไม่ไกลจากรังมากนัก

ผลิตภัณฑ์จากชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว

ชันโรงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ เป็นผึ้งที่ให้น้ำผึ้งที่มีราคาแพง  ชันโรงเป็นผึ้งชนิดเดียวที่สามารถผลิตน้ำผึ้งอินทรีย์ น้ำผึ้งที่ได้จากชันโรงเป็นน้ำผึ้งคุณภาพ เพราะเชื่อกันว่าเป็นน้ำผึ้งสมุนไพร เนื่องจากมีส่วนผสมของชันผึ้ง (พรอพอลิส) ที่ชันโรงนำมาสร้างเป็นถ้วยเก็บน้ำผึ้ง จึงมีส่วนผสมของชันผึ้งละลายอยู่ในน้ำผึ้งด้วย และนอกจากได้น้ำผึ้งที่มีคุณค่าแล้วยังมีผลิตภัณฑ์ล้ำค่าที่สำคัญ คือ ชันผึ้งหรือพรอพอลิส  พรอพอลิสนอกจากได้จากผึ้งแล้วยังได้จากชันโรงซึ่งจะมีปริมาณมากกว่าที่ได้จากผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากชันผึ้งหรือพรอพอลิส สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น

– ใช้ในทางการแพทย์นำมาสกัดสารที่ต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย เป็นส่วนประกอบในการทำยารักษาโรคมนุษย์และสัตว์ ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ใช้ผสมเป็นยารักษาโรคทางหู คอ จมูก รักษาโรคผิวหนัง
– ใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องสำอาง เพื่อรักษาโรคผิวหนัง และเสริมสร้างเซลล์ผิวหนังที่รับผลกระทบจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียเข้าทำลาย

– ใช้ทำยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบโลหิต การหายใจโรคฟัน และโรคผิวหนัง เช่น น้ำร้อนลวก เกิดบาดแผล เป็นต้น

– ใช้เป็นสมุนไพร มีการใช้ชันผึ้งเป็นสมุนไพรในทวีปยุโร และแอฟริกาในการสมานแผล ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ กรีกและโรมัน ในศตวรรตที่ 12  มีการนำชันผึ้งมารักษาโรคฟันผุและเจ็บคอ

– ใช้ในเทคโนโลยีการอาหาร โดยนำชันผึ้งมาเป็นส่วนผสมในการถนอมอาหาร ยับยั้งการหมักบูดที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรียในอาหาร นอกจากนี้ ยังนำมาใช้ในโภชนาการอาหารสัตว์ โดยผสมในอาหารสัตว์ได้

ชันโรง จะเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ ไม่เลือกชอบดอกไม้เฉพาะชนิดแต่สำหรับผึ้งจะเลือกตอมเฉพาะดอกไม้ที่ชอบ และต้องมีดอกไม้จำนวนมากๆ จึงจะตอม

สรุป คือ ไม่สามารถจัดการให้ผึ้งตอมเฉพาะพืชที่เราต้องการได้ แต่ชันโรงวางไว้ตรงไหนก็จะหากินอยู่ตรงบริเวณนั้นเอง

ชันโรงไม่มีนิสัยรังเกียจของเก่าหรือของใช้แล้ว ชันโรงจะตอมดอกไม้ได้ทุกดอกแม้ว่าดอกไม้นั้นจะเคยถูกแมลงผสมเกสรตัวอื่นมาตอมแล้ว และทิ้งกลิ่นไว้ก็ตามในขณะที่ผึ้งจะไม่ตอมดอกไม้ที่มีกลิ่นของผึ้งชนิดอื่นหรือรังอื่นลงตอมไว้ก่อนเลย  ชันโรงเป็นแมลงที่ชอบเก็บเกสรมีพฤติกรรมตอมดอกไม้ที่ละเอียดนุ่มนวลจึงผสมเกสรได้ดีแตกต่างจากผึ้งบางชนิดที่เลือกดูดแต่น้ำหวานไม่สนใจเกสร ทำให้การถ่ายละอองเกสรเพื่อการผสมเกสรเกิดได้น้อย

เนื่องจาก ชันโรง” มีลำตัวขนาดเล็กและลักษณะการบินไม่เป็นแนวตรงหรือโค้ง การบินของชันโรงจะเป็นแบบหักมุมซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ทำให้หลบศัตรูได้ง่าย ยากแก่การจับกินของแมลงและนกต่างๆ ภายในรังของชันโรงจะเก็บยางไม้ไว้สำหรับป้องกันศัตรู เรื่องของศัตรูจึงไม่ค่อยมี

จะเห็นได้ว่า ชันโรง เป็นแมลงผสมเกสรที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ชันโรงเป็นแมลงผสมเกสรที่ทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดชุมพร (ผึ้ง) มีการศึกษาวงจรชีวิต ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รู้จักวิธีการเลี้ยง การดูแลอนุรักษ์ และยังมีนโยบายในการใช้ชันโรงผสมเกสรพืช หากเกษตรกรผู้ใดสนใจหรือมีปัญหาข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงชันโรง และใช้ชันโรงผสมเกสรพืช กรุณาติดต่อโดยตรงกับทาง ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดชุมพร (ผึ้ง) โทรศัพท์ 077-574-519-20 ได้ทุกวัน ในเวลาราชการ