“ขนมจีนโคตรผัก” ร้านอาหารในฝัน ของสาวออฟฟิศถูกเลิกจ้างวัยกลางคน

“ขนมจีนโคตรผัก” ร้านอาหารในฝัน ของสาวออฟฟิศถูกเลิกจ้างวัยกลางคน

ยุคเศรษฐกิจย่ำแย่ หลายบริษัท-ห้างร้าน ต่างออกมาตรการประหยัดกันสารพัด

“การยุบแผนก” เพื่อลดจำนวนพนักงาน คือ วิธีการลดต้นทุน ที่ไม่มีใครอยากเห็น แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากใครโดน “แจ๊กพ็อต” ย่อมต้องดิ้นรนมองทางเลือกเพื่อหาทางรอดกันไป ตามกำลังและความสามารถที่มีอยู่เป็นทุนดั้งเดิม

ย้อนกลับไปเมื่อราวปี 2558 คุณเอีย-อารีย์ เพ็งสุทธิ์ คือ “มนุษย์ออฟฟิศ” วัย 40 ปลายๆ ที่มีอันต้องถูกเลิกจ้างจากตำแหน่งผู้บริหาร ระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกคอร์ปอเรต มาร์เก็ตติ้ง ของบริษัทประกันในเครือธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง

ซึ่งช่วงเวลานั้น เธอมีรายรับเป็นเงินเดือนประจำถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว

“ตอนออกมาได้ทุนมาก้อนหนึ่ง น้องๆ ที่อายุยังน้อยพากันไปหางานใหม่ ส่วนตัวเองอายุขนาดนี้ ฐานเงินเดือนเท่านี้ หางานใหม่คงลำบาก แม้จะไปสมัครงานใหม่ไว้ แต่เริ่มคิดอยากทำธุรกิจของตัวเองแล้ว” คุณเอีย เริ่มต้นบทสนทนา ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เป็นกันเอง

ก่อนเล่าต่อ ช่วงแรกยังไม่รู้จะเริ่มต้นอาชีพอิสระในแบบของตัวเองอย่างไรดี แต่ด้วยความที่มีฝีมือทำอาหาร เลยตั้งใจจะทำ “แกงถุง” ไปฝากขายตามออฟฟิศพรรคพวกที่เคยร่วมงาน แต่ยังไม่ทันลงมือ มีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง ซึ่งชื่นชอบการทำเกษตรเป็นชีวิตจิตใจ มาแนะนำให้ทำฟาร์มเห็ด เพราะแนวโน้มตลาดยังดีอยู่

คุณเอีย ช่วงเริ่มต้นทำสวนผักบนพื้นที่เช่า 100 ตารางวา

“ตอนแรกอยากทำผักไฮโดรฯ เพราะเคยทำงานด้านมาร์เก็ตติ้งมาก่อน รู้จักคนในแวดวงโรงแรม ร้านอาหารเยอะ ถ้าปลูกแล้วทำส่งให้เขาน่าจะได้ ประกอบกับเคยไปฟาร์มผักไฮโดรฯ เห็นแล้วสวยดี เลยอยากทำบ้าง แต่พอศึกษาละเอียด รู้ว่าต้องใช้เงินลงทุนสูงพอสมควร” คุณเอีย ว่าให้ฟังอย่างนั้น

เมื่อโปรเจ็กต์ผักไฮโดรโปนิกส์ยังไม่ผ่าน คุณเอียจึงทำตามคำแนะนำของเพื่อนรุ่นน้องคนดังว่า หันมาศึกษาวิชาการเพาะเห็ดขาย ตระเวนไปหาความรู้เกี่ยวกับเห็ดทุกรูปแบบ นับแต่ การลงก้อน การรักษาก้อน การปล่อยน้ำ การเก็บ เป็นต้น

“ไม่เคยจับงานด้านเกษตรเลย แม้พื้นเพเป็นคนนครศรีธรรมราช พ่อ-แม่ทำนามาก่อน แต่ท่านให้แต่เรียนหนังสือ โตขึ้นมาหน่อยส่งเข้ากรุงเทพฯ เรียนจบ ทำงานเป็นสาวออฟฟิศมาตลอด ไม่เคยรู้ว่าการเป็นเกษตรกรเริ่มต้นยังไง แต่เมื่ออยากทำต้องเรียนรู้จากศูนย์” คุณเอีย เล่ายิ้มๆ

ใช้เวลาไม่นาน จึงมี “วิชาเห็ด” ติดตัว ขั้นต่อไปคือ หาเช่าที่ดินเพื่อสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด แต่จนแล้วจนรอด หาเท่าไหร่หาไม่ได้ ส่วนที่พอจะได้ ก็ราคาแพงจนรับไม่ไหว

“ขับรถตระเวนหาเช่าที่ไปทั่วจนท้อ จำได้วันนั้นจะถอดใจ คิดว่าคงไม่ได้ทำแล้ว แต่ระหว่างทางก่อนถึงบ้านแค่ซอยเดียว เหลือบไปเห็นป้ายประกาศให้เช่าที่ 2 แปลง แปลงละ 100 ตารางวา กับ 200 ตารางวา เลยรีบโทรศัพท์ไปถาม พอทราบเงื่อนไข-ราคา รีบบอกตกลงเดี๋ยวนั้นเลย” คุณเอีย เล่าก่อนหัวเราะร่วน

เจ้าของเรื่องราว เล่าให้ฟังต่อ ที่ดิน 100 ตารางวา ที่อยู่ในซอยคู้บอน 27 แยก 8 ซึ่งเธอทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 2 ปีกับเจ้าของที่ดินนั้น ใช้เงินมัดจำ 10,000 บาท ค่าเช่าต่อเดือน 3,000 บาท หากครบเวลาตามสัญญาแรกแล้ว อาจทำสัญญาใหม่เป็นแบบปีต่อปี หลังจากเข้ามาถางหญ้าสูงท่วมเอว เก็บขยะ ปรับหน้าดิน ล้อมรั้ว จนเป็นที่พอใจแล้ว ขั้นต่อไปคือ การขอน้ำ-ขอไฟ เดินสายเข้ามาในที่ดิน ก่อนลงทุนด้วยเงิน 50,000 บาท สร้างโรงเรือนเพาะเห็ด ขนาด 4 คูณ 6 เมตร จำนวน 2 หลัง

ลองผิดลองถูก จนพืชผลงอกเงย

จากนั้นจึงนำก้อนเห็ดนางฟ้าภูฏาน จำนวน 2,500 ก้อน มาลงไว้ในโรงเรือนหลังแรก ส่วนหลังที่ 2 ยังไม่ลงก้อนเห็ด เพียงแต่สร้างรอไว้ก่อน “เห็ดล็อตแรกดอกสวย ไม่หงิก ไม่แฉะ ออกมาช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เก็บได้ประมาณ 80 กิโลกรัม แบ่งขายส่ง 20 กิโล คิดกิโลละ 70 บาท ขายปลีกกิโลละ 120 บาท คนรับซื้อส่วนใหญ่เป็นคนคุ้นเคยกัน” คุณเอีย เผย

และว่า โรงเรือนเพาะเห็ดขายทั้ง 2 โรงของเธอนั้นใช้พื้นที่ไม่ถึงครึ่งของ 100 ตารางวา เลยอยากหาพืชอื่นมาลงเพิ่ม ประกอบกับรู้จักกับคุณตา ที่อยู่ในละแวกบ้าน ซึ่งเป็น “หมอชาวบ้าน” มีความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอย่างดี เลยชักชวนให้ท่านมาช่วยอีกแรง โดยวางแนวคิด “ปลูกไว้กิน เหลือค่อยขาย” พืชที่ลงเพิ่มส่วนใหญ่จึงเป็นพืชอายุสั้น อย่าง แตงกวา แตงร้าน ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ชะอม ต้นหอม ดอกดาวเรือง เป็นต้น

และหลักการสำคัญที่ทำมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้คือ ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและไม่ใช้ยาฆ่าแมลง

“ตอนปรับหน้าดิน นำขี้วัวมาลงด้วย พอแตงกวา ถั่วฝักยาว เริ่มออก จะมีพวก รา เพลี้ย หนอน มารบกวน วิธีการกำจัดดีที่สุดคือ มือของเรานี่แหละ รูดบ้าง บี้บ้าง ให้มันตาย นี่คือภารกิจทุกๆ เช้าที่ผ่านมา แต่พอเริ่มโตไม่ต้องทำแล้ว รดน้ำตามปกติพอ” คุณเอีย เผยเทคนิค

อย่างไรก็ตาม ทั้งเห็ดและพืชผักสวนครัวดังว่า ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งถึงจะสามารถเก็บดอกผลออกจำหน่าย รายได้จึงอาจขาดช่วง คุณเอียจึงแก้ปัญหาด้วยการปลูก “ต้นอ่อน” ของพืช พวก ผักบุ้ง ทานตะวัน และโตเหมี่ยว เพราะพืชกลุ่มนี้ ใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน สามารถเก็บขายได้แล้ว

ส่วนความรู้เรื่องการเพาะต้นอ่อนนี้ อาศัยจากการอ่านหนังสือและค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต หาว่าทำกันยังไง ใช้ดินแบบไหน หาซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ใดได้บ้าง ช่วงลองผิดลองถูกเสียหายไปสองสามถาด แต่พยายามปรับปรุง จนตัดออกขายได้หลายชุดแล้ว

งานประจำล่าสุด

ที่ผ่านมากว่า 4 ปี แม้พืชผักนานาชนิดที่ปลูกในที่ดินเช่าผืนเล็กๆ นั้น จะออกดอกงอกงามจนเก็บขายได้ แต่รายรับทั้งหมด ยังไม่ครอบคลุมภาระที่ต้องแบกรับคนเดียวในฐานะ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ที่มีลูกชายวัยกำลังโตถึงสองคนต้องดูแล คุณเอียจึงจำต้องออกหางานประจำทำอีกครั้ง แต่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ เพราะยุคที่ต้องรัดเข็มขัดอย่างนี้ แต่ละบริษัทมีแต่เขาจะ “เอาคนออก”

อดทนดิ้นรนอยู่พักใหญ่ ล่าสุด คุณเอียได้รับโอกาสจากพรรคพวก ทำให้เธอมี “งานประจำ” ทำอีกครั้งในบริษัทรับเหมาก่อสร้างบ้านรายหนึ่ง ซึ่งภาระหน้าที่ได้รับมอบหมายนั้น แตกต่างจากชีวิต “สาวออฟฟิศ” ที่เคยทำมาอย่างสิ้นเชิง

“อย่าถามว่าทุกวันนี้ทำงานตำแหน่งอะไรนะ เพราะทำทุกอย่าง ตั้งแต่ จัดหาแรงงาน สวัสดิการแรงงาน ธุรการ เลขาไซต์งาน คนขับรถ” คุณเอีย เล่ายิ้มๆ

ส่วนสวนผัก “เฮย์เดย์ ฟาร์ม” ที่ทำมาก่อนหน้านี้ คุณเอีย บอก ยังไม่ทิ้ง เพียงแต่ต้องลดขนาดลง เลิกทำบางอย่าง และหันมาปลูกพืชที่ไม่ต้องบำรุงดูแลมากนัก อย่าง มะเขือ แตงกวา ถั่วฝักยาว กวางตุ้ง มะเขือเทศ ฯลฯ เพราะอาจมีเวลามากเท่ากับตอนว่างงาน จึงปรับฟาร์มที่เธอรัก ให้มีรูปแบบสวนผักผสมผสาน

แม้จะมีภาระเต็มมือแทบจะไม่มีวันหยุด ทั้งต้องไปคุมไซต์งานก่อสร้าง ยามว่างต้องมาดูแลสวนผัก แต่คุณเอีย ยังมีอีก “หนึ่งฝัน” ที่เธอบอกหนักแน่นว่า จะทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

ผลผลิตปลอดสาร ผลงานของคุณเอีย

“เปิดร้านขายขนมจีน เป็นความใฝ่ฝัน เหตุผลคงเพราะชอบทานขนมจีน และคิดว่าเป็นอาหารที่ตัวเองทำได้อร่อยด้วย แถมมีคนชมเลยไปกันใหญ่ ชื่อร้านตั้งไว้ในใจแล้ว คือ ขนมจีน โคตรผักปลอดสารพิษ ส่วนวัตถุดิบหลัก เน้นผักที่ปลูกเอง ส่วนน้ำราดขนมจีน จะมี น้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำพริกหวาน และ แกงไตปลา ค่ะ” คุณเอีย เผยความตั้งใจครั้งใหม่ ด้วยแววตาเป็นประกาย ส่งท้ายบทสนทนา

เผยแพร่ครั้งแรก วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2562