เกษตรกรบุรีรัมย์ ปลูกอ้อยแบบลดต้นทุน ผลผลิตดี มีกำไร รวมกลุ่มเข้มแข็งสร้างเป็นอาชีพยั่งยืน

อ้อย เป็นอีกพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรไทยหลายพื้นที่นิยมปลูก ขั้นตอนการดูแลไม่มีอะไรยุ่งยากในช่วงที่รอผลผลิตเจริญเติบโต

แต่จะมีปัญหาในเรื่องของการเก็บเกี่ยวบ้างในระยะหลังมานี้ เพราะขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อยส่งขายให้กับโรงงาน ทำให้เกษตรกรมีการปรับตัวรวมกลุ่มทำเป็นอ้อยแปลงใหญ่ เพื่อให้สมาชิกภายในกลุ่มได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องของแรงงานและการแก้ปัญหาต่างๆ ส่งผลให้ชาวไร่อ้อยเกิดความเข้มแข็งส่งต่อเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปยังลูกหลาน

คุณวีนัด สำราญวงศ์ เกษตรกรไร่อ้อย อยู่บ้านเลขที่ 141 หมู่ที่ 13 ตำบลหินโคน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ยึดอาชีพทำไร่อ้อยเป็นงานหลักสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้ตออ้อยเดิมมาเป็น 10 กว่าปี พร้อมทั้งเน้นตัดอ้อยแบบต้นสดจำหน่าย ทำให้ใบอ้อยที่เหลือจากการตัดนำมาเป็นปุ๋ยอยู่ภายในแปลง สามารถลดต้นทุนการผลิตจำหน่ายอ้อยได้ผลกำไรงามทีเดียว

คุณวีนัด สำราญวงศ์

คุณวีนัด เล่าให้ฟังว่า กว่าที่จะมาเป็นเกษตรกรไร่อ้อยเหมือนเช่นทุกวันนี้ ในสมัยก่อนได้ไปเป็นลูกจ้างใช้แรงงานอยู่ต่างประเทศเป็นเวลาถึง 10 ปี เมื่อมีโอกาสกลับมาอยู่ประเทศไทยก็ได้มีครอบครัว ซึ่งในขณะนั้นครอบครัวของภรรยามีอาชีพทำนาอยู่ จึงได้ขอแบ่งพื้นที่นาบางส่วนมาทดลองปลูกไร่อ้อยตามคำแนะนำของเพื่อนที่สนิทกัน

“ช่วงนั้น ประมาณปี 45 เราก็เริ่มมาทำไร่อ้อยตามที่เพื่อนแนะนำ เพราะเพื่อนคนนี้เขาเคยไปทำงานต่างประเทศด้วยกัน หลังจากกลับมาเขาก็ประสบผลสำเร็จในการปลูกอ้อย ทีนี้เราไม่อยากไปไกลบ้านไปทำงานต่างแดน เพราะมีครอบครัวแล้ว ก็เลยแบ่งพื้นที่ทำนาบางส่วนมาทำไร่อ้อย พร้อมทั้งนำแนวการทำงานที่เราได้เรียนรู้มาจากต่างประเทศมาใช้กับการทำไร่ของเราให้มีระบบแบบแผนมากขึ้น” คุณวีนัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นเป็นเกษตรกรไร่อ้อย

ต้นใหม่ที่เกิดจากตอเดิม

โดยแนวทางการทำไร่อ้อยให้ได้ผลกำไรและสร้างเป็นอาชีพที่ยั่งยืนนั้น คุณวีนัด บอกว่า ได้ลองผิดลองถูกและหาต้นทุนการผลิตในรูปแบบต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้การปลูกลดต้นทุนการใส่ปุ๋ยเคมีให้น้อยลง แต่ผลผลิตของอ้อยยังมีคุณภาพเท่าเดิม พร้อมทั้งเก็บเกี่ยวอ้อยโดยตัดเป็นอ้อยสดส่งโรงงานแทนการเผา จะได้ใบอ้อยและยอดอ้อยหลังการตัดเหลือภายในแปลงนำมาเป็นปุ๋ยต่อไป

การเตรียมแปลงสำหรับปลูกอ้อยเพื่อให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพนั้น คุณวีนัด บอกว่า บริเวณแปลงปลูกจะสร้างสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุล โดยจะไม่โคนต้นไม้ใหญ่ภายในแปลงทิ้ง จะให้อยู่ภายในแปลงเช่นเดิม ส่วนการเตรียมดินจะไถดินให้ร่วนซุยพอประมาณ ใช้ใบอ้อยที่เหลือจากการตัดสดมาเป็นปุ๋ยภายในแปลง ก็จะยิ่งช่วยให้ดินภายในแปลงอ้อยไม่อัดตัวแน่นรากเดินดีส่งผลให้อ้อยเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย

ต้นใหม่ที่ได้จากอ้อยกอเดิม ช่วยลดต้นทุนเรื่องต้นพันธุ์

“การเตรียมแปลงปลูกอ้อยก็จะใช้วิธีการไถพรวนธรรมดา เพราะการทำอ้อยที่ไร่ของผมจะไม่เน้นสร้างต้นทุนสูง ทำกระบวนการผลิตอย่างไรก็ได้ให้ได้ต้นทุนต่ำ จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกเพื่อช่วยบำรุงดิน แต่ถ้ายังไม่มี สามารถรอใบอ้อยจากที่จะตัดในปีต่อไป ซึ่งใบอ้อยเหล่านั้นหลังตัดอ้อยไปขายใบจะปกคลุมแปลง จะทำให้ภายในแปลงไม่มีวัชพืชขึ้น ก็ช่วยให้ไม่ต้องใช้ยากำจัดลงได้ จากนั้นเราใช้ปุ๋ยยูเรียที่หมักไว้ มาฉีดให้ทั่วบริเวณใบอ้อยที่จะทำเป็นปุ๋ย เศษใบอ้อยก็จะย่อยสลายเป็นปุ๋ย จากนั้นก็รออ้อยที่เป็นตอที่เหลือจากการตัดอ้อยสดไปขายแล้วเกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งวิธีการตัดแบบอ้อยสดทำให้เรามีตอติดอยู่กับแปลง ไม่ต้องใช้ตอใหม่มาปลูก ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนการซื้อพันธุ์ใหม่ได้มากยิ่งขึ้น” คุณวีนัด บอก

ดินที่ได้จากการสลายตัวของใบอ้อย

โดยการปลูกอ้อยของพื้นที่นี้ทั้งหมดไม่ได้มีน้ำระบบชลประทาน น้ำที่ได้ใช้ให้กับอ้อยส่วนใหญ่จึงรอน้ำจากฤดูฝนเป็นหลัก ซึ่งการดูแลไร่อ้อยในช่วงนี้จนกว่าจะเก็บผลผลิตได้นั้น ใช้เวลาเป็นแรมปี ดังนั้น ในช่วงที่อ้อยเริ่มแตกกอและเจริญเติบโตมีความสูงระดับเอว ก็จะดูแลในเรื่องของการกำจัดวัชพืชในระยะนี้ให้หมดไป

การตัดอ้อยสดส่งจำหน่าย

เมื่อดูแลอ้อยภายในแปลงได้อายุ 1 ปี โรงงานน้ำตาลเริ่มเปิดหีบเพื่อรับซื้ออ้อยของเกษตรกรแล้ว คุณวีนัด บอกว่า จะเริ่มลงมือตัดอ้อยแบบตัดต้นสดและส่งเข้าโรงงานทันที โดยการตัดจะตัดให้บริเวณโคนเหลือตออยู่บ้าง เพื่อจะได้นำส่วนเหล่านั้นมาย่อยสลายพร้อมกับใบอ้อยและยอดอ้อยที่เหลืออยู่ในแปลงหลังการตัด เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยอยู่ในแปลงต่อไป โดยต้นตอที่เหลืออยู่ในแปลงจะงอกเกิดเป็นต้นใหม่จากตอในช่วงเดือนมิถุนายน หลังจากปรับปรุงบำรุงดินเรียบร้อยแล้ว

“อ้อยที่ผมตัดขายส่งโรงงาน เฉลี่ยแล้วผลผลิตอ้อยที่แปลงอยู่ที่ 15-17 ตัน ต่อไร่ ซึ่งราคาแต่ละครั้งก็ได้ไม่เท่ากัน ผมจำได้ว่าเมื่อแรกๆ ที่เริ่มทำ ขายได้อยู่ที่ ตันละ 380 บาท และย้อนไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ราคาเคยขายได้อยู่ที่ ตันละ 1,200 บาท แต่ ณ ปัจจุบันตอนนี้ขายได้อยู่ที่ ตันละ 700 บาท พอราคาลงมาอยู่ที่ประมาณนี้ ผมก็ยังถือว่าอยู่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตผมต่ำ เพราะผมใช้ตอเดิมให้งอกใหม่ ดังนั้น จึงประหยัดเรื่องซื้อพันธุ์เข้ามาปลูก พร้อมทั้งได้ใบอ้อยยอดอ้อยที่เหลือจากการขายตัดสด มาทำเป็นปุ๋ยในรอบต่อไป ก็ยิ่งส่งผลให้ต้นทุนการซื้อปุ๋ยแทบไม่มี ก็ทำให้การขายอ้อยแต่ละช่วงผมก็ยังมีผลกำไร” คุณวีนัด บอก

พื้นที่ปลูกอ้อย

ทั้งนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรายย่อย ได้มีการรวมกลุ่มในการช่วยพัฒนาและแก้ปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน โดยทุกคนภายในกลุ่มช่วยกันตัดอ้อยของแปลงเพื่อนๆ หมุนเวียนกันไปจนครบแปลง จากการรวมกลุ่มก็ทำให้เกิดความรักความสามัคคีของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะปลูกอ้อยเพื่อสร้างรายได้ คุณวีนัด แนะนำว่า ต้องมีหลักการคิดและลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งศึกษาในเรื่องของการปลูกอย่างจริงจัง เช่น การใช้ยา ใช้ปุ๋ย ในวิธีการที่ถูกต้องโดยไม่ตามกระแส พร้อมทั้งเรียนรู้การทำไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตมากขึ้น มุ่งมั่นการทำอาชีพของตนให้จริงจัง ก็จะทำให้การทำไร่อ้อยเกิดรายได้เป็นอาชีพที่ทำต่อไปได้อย่างยั่งยืนสู่ลูกหลาน

“สำหรับผมแล้ว การทำไร่อ้อย เหมือนเป็นการสร้างชีวิตให้กับผม การทำเกษตรที่ดีต้องมีความอดทน ทำตามแนวหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป หลักนี้ใช้ได้กับการทำเกษตรทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการปลูกผัก ในเรื่องของพืชไร่อย่างอ้อยก็นำมาใช้ได้ คือทำเท่ากำลังเรามี อย่าไปทำให้ตนเองลำบาก เริ่มทำทีละเล็กละน้อย จากนั้นก็ต่อยอดนำผลกำไรที่ได้มาพัฒนาต่อไป สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เราเป็นคนที่มีภูมิคุ้มกัน ทำอะไรก็รู้จักประมาณตน ส่งผลให้การทำเกษตรของเรามีรายได้ไม่เกิดหนี้สินอย่างแน่นอน” คุณวีนัด แนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวีนัด สำราญวงศ์ หมายเลขโทรศัพท์ (083) 380-1380