“มะขามเทศฝักสีชมพู” ไม้ผลเศรษฐกิจ อบต.กาญจนบุรี ปลูก 3 ไร่ โกยรายได้ ปีละ 3 แสน

“จังหวัดกาญจนบุรี” ได้ชื่อว่า เป็นดินแดนอีสานแห่งภาคตะวันตก เพราะมีอุณหภูมิค่อนข้างสูงและอากาศร้อนอบอ้าวมากในฤดูร้อน ด้านตะวันตกมีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นเขตแดนไทย-พม่า อิทธิพลจากเทือกเขานี้ทำให้พื้นที่ราบทางด้านตะวันออกของจังหวัดเป็นเขตพื้นที่อับฝน มีฝนน้อย ปริมาณฝนรวมตลอดปีน้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับตอนกลางของจังหวัด ที่มีฝนรวมตลอดปี ประมาณ 1,200-1,600 มิลลิเมตร

“มะขามเทศ” นับเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าจับตามองของเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี เพราะทนร้อน ทนแล้งได้ดี ปลูกดูแลง่าย ให้ผลผลิตต่อไร่ ประมาณ 500-700 กิโลกรัม ราคาขายส่ง ประมาณกิโลกรัมละ 50-60 บาท ปลูกมะขามเทศ 1 ไร่ จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 40,000-60,000 บาท ต่อปี

“มะขามเทศฝักสีชมพู” ไม้ผลทำเงิน “ไร่สวนขวัญ”

คุณไพฑูรย์ สุนทรวิภาต พนักงานขององค์การบริหารส่วนตำบลวังด้ง (อบต. วังด้ง) ใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดทำสวนมะขามเทศเป็นรายได้เสริม ชื่อ “ไร่สวนขวัญ” บนเนื้อที่ 3 ไร่ ตั้งอยู่พื้นที่บ้านหนองสามพราน หมู่ที่ 9 ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โทร. (086) 162-0365

คุณไพฑูรย์ สุนทรวิภาต (ซ้าย ) กับคุณพ่อ

คุณไพฑูรย์ เริ่มสนใจทำสวนมะขามเทศ เมื่อ 6-7 ปี ที่แล้ว หลังเขามีโอกาสลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านในท้องถิ่น พบว่าชาวบ้านนิยมปลูกมะขามเทศกันอย่างแพร่หลาย เพราะไม้ผลชนิดนี้ปลูกดูแลง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง ที่สำคัญเป็นผลไม้ที่ทนแล้ง ให้ผลผลิตมาก น้ำหนักดี ขายง่าย ได้ราคาดี เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง ในกลุ่มผู้รักสุขภาพ

มะขามเทศฝักสีชมพู…ครองแชมป์ความอร่อย

เมืองไทยมีมะขามเทศหลายพันธุ์ที่ปลูกกันทั่วไป ได้แก่ สายพันธุ์พื้นเมือง ที่มีลักษณะใบขนาดเล็ก และพันธุ์ดีที่มีขนาดใบใหญ่ ที่หน่วยงานราชการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกคือ มะขามเทศฝักใหญ่พันธุ์พระพุทธบาท นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์เกิดขึ้นใหม่ซึ่งกลายพันธุ์มาจากพันธุ์พระพุทธบาทอีกหลายพันธุ์

ทั้งนี้ จากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมะขามเทศของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ทั่วประเทศมีพื้นที่ปลูก 10,026 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 21 จังหวัด โดยแหล่งปลูกมะขามเทศ อันดับ 1 คือ จังหวัดราชบุรี รองลงมาคือ นครราชสีมา นครสวรรค์ สมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ ผลผลิตรวม 5,069 ตัน ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 747 กิโลกรัม เมื่อจำแนกสายพันธุ์พบว่า มะขามเทศฝักใหญ่ มีเนื้อที่ปลูกมากที่สุด ครอบคลุม 15 จังหวัด โดยแหล่งที่ปลูกมากที่สุดคือ จังหวัดนครราชสีมา

ต้นมะขามเทศฝักสีชมพู อายุ 6 ปี

ปัจจุบัน มะขามเทศ ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ได้แก่ มะขามเทศยักษ์ พันธุ์พระพุทธบาท มะขามเทศฝาด มะขามเทศมัน แต่ทุกสายพันธุ์อร่อยสู้ “มะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู” ไม่ได้ เพราะพันธุ์ฝักสีชมพูมีรสชาติหวาน มัน อร่อยกว่าทุกสายพันธุ์ ทุกวันนี้ยังไม่มีมะขามเทศสายพันธุ์ไหนมาลบสถิติความอร่อยของมะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพูได้เลย เรียกว่า ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อมะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพูมากเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนมะขามเทศพันธุ์พระพุทธบาท แม้จะมีขนาดฝักโต รสชาติมัน แต่ไม่หวาน จึงได้รับความนิยมน้อยกว่า มะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู

การปลูกดูแล

ช่วงปี 2554 คุณไพฑูรย์ ได้นำกิ่งพันธุ์มะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู คุณภาพดี จำนวน 35 ต้น มาปลูกบนที่ดินของไร่สวนขวัญ โดยซื้อกิ่งพันธุ์ในราคาต้นละ 25 บาท หลังจากเตรียมหลุมปลูก ที่มีขนาดกว้างxยาว 50×50 เซนติเมตร ปลูกในระยะห่างต่อต้น ประมาณ 10 เมตร ปรากฏว่า ปลูกไปได้ 6 ปี ทรงพุ่มเริ่มชนกันแล้ว กลายเป็นจุดสะสมเชื้อโรค และไม่มีผลผลิตในบริเวณดังกล่าว วิธีแก้ไขคือ ต้องรีบตัดแต่งกิ่งให้มีทรงพุ่มโปร่ง รับแสงแดดได้สะดวก

ความผิดพลาดดังกล่าวกลายเป็นบทเรียนสอนใจ ที่คุณไพฑูรย์นำไปใช้บอกต่อเพื่อนเกษตรกรมือใหม่ ที่อยากปลูกต้นมะขามเทศว่า ควรปลูกในระยะห่างต่อต้น ประมาณ 12 เมตร ตั้งแต่ลงทุนครั้งแรก เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการสวนในอนาคต

ดอกต้นมะขามเทศ

 

มะขามเทศฝักสีชมพู

มะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู เป็นไม้ผลที่ดูแลง่าย หลังปลูกแค่ดูแลตัดแต่งกิ่งที่รกออกไป คอยตรวจสอบโรคแมลงเป็นระยะๆ ในช่วงที่ให้ปุ๋ยให้น้ำว่า ต้นมะขามเทศเกิดอาการผิดปกติตรงไหนบ้าง ทั้งนี้ ต้นมะขามเทศ มักออกดอกประมาณเดือนตุลาคม ทยอยบานเรื่อยๆ ผลแก่ประมาณเดือนธันวาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม-เมษายน

แม้มะขามเทศจะเป็นไม้ผลทนแล้ง แต่ต้องคอยดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ควรงดให้น้ำในช่วงก่อนออกดอก เพื่อพักตัวสะสมอาหารเตรียมความพร้อมก่อนออกดอก หลังต้นมะขามเทศติดดอกออกฝักแล้ว จึงค่อยให้น้ำตามปกติ ช่วงที่ฝักเริ่มแก่ ระวังอย่าให้น้ำมาก เพราะจะทำให้คุณภาพฝักไม่ดี ฝักแตกเร็วขึ้น เนื้อไม่แน่นและรสชาติไม่ดี ช่วงฤดูฝน คอยดูแลใส่ปุ๋ยคอกบำรุงต้น ก่อนหมดช่วงฤดูฝน คอยดูแลตัดแต่งกิ่งให้ต้นเตี้ย เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการผลผลิตในรุ่นต่อไป ช่วงเดือนพฤศจิกายนดูแลฉีดยาป้องกันแมลงพร้อมให้ปุ๋ยให้น้ำ พร้อมสอดส่องแมลงศัตรูพืชเป็นระยะ

แปลงปลูกมะขามเทศฝักสีชมพูของไร่สวนขวัญ

“ก่อนปลูกมะขามเทศพันธุ์นี้ ผมได้ศึกษาสายพันธุ์มะขามเทศทั้งหมด พบว่า มะขามเทศพันธุ์อื่นๆ หากเจอฝน ผลผลิตมักจะเสียหายทั้งหมด แต่มะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพูทนแล้ง ทนฝน ได้ดีเยี่ยม แถมให้ผลผลิตรสชาติอร่อย ถูกใจผู้บริโภคมากกว่าพันธุ์อื่นๆ” คุณไพฑูรย์ กล่าว

โรค และแมลง

แมลงศัตรูพืชที่เจอในไร่สวนขวัญ ได้แก่ “ไรแดง” มักพบในช่วงฤดูร้อน สังเกตได้จากต้นมะขามเทศมีอาการใบเหลือง และฝักมีขนาดแคระแกร็น สามารถแก้ไขได้ โดยฉีดพ่นยาป้องกันไรแดงที่หาซื้อได้ในร้านขายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรทั่วไป

ในช่วงที่ฝนตก นอกจากทำให้เกิดโรคราสนิมแล้ว ยังเจอแมลงปีกแข็งอีกชนิด ที่มีลักษณะคล้ายมอด ซึ่งคุณไพฑูรย์ก็ยังไม่รู้ว่าชื่ออะไร แมลงศัตรูพืชชนิดนี้ทำให้ฝักเน่าเสีย ตรวจเจอแมลงชนิดนี้อยู่ในฝักมะขามเทศสีแดงที่เก็บลงจากต้นไม่หมด ทำให้แมลงชนิดนี้มีโอกาสขยายพันธุ์ได้ ปัจจุบันสวนมะขามเทศของเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง ต่างได้รับความเสียหายจากปัญหานี้ด้วยเช่นกัน แมลงชนิดนี้จะกัดกินผลผลิตตั้งแต่ระยะฝักอ่อน เมื่อฝักแก่เนื้อในจะเน่าเสียทันที จนถึงขณะนี้เกษตรกรยังไม่สามารถกำจัดแมลงชนิดนี้ได้ เพราะแมลงชนิดนี้ค่อนข้างดื้อยาสารเคมีกำจัดแมลง

“ฝน” คือ จุดอ่อนของมะขามเทศ

ผู้เขียนได้ทดลองชิมมะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู ก็รู้สึกชอบใจ เพราะมีรสชาติหวาน มัน อร่อย แต่คุณไพฑูรย์บอกว่า มะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพูมีรสชาติหวานมันมากกว่านี้ สาเหตุที่ผลผลิตมีค่าความหวานลดลง เนื่องจากเจอพายุฝนก่อนช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตนั่นเอง

“ต้นมะขามเทศจะกลัว “ฝน” มาก เจอฝนเมื่อไร ผลผลิตเสียหายทุกที สวนของผมเก็บผลผลิตคุณภาพดี รสชาติอร่อยออกขายได้เต็มที่ ผลผลิตไม่มีเสียหายเลย เพราะไม่มีปัญหาฝนตกในช่วงเก็บเกี่ยว แต่ช่วงหลังเจอผลกระทบจากภาวะอากาศแปรปรวน ทำให้รสชาติผลผลิตเพี้ยนตามไปด้วย แถมเจอพายุฝนอีกต่างหาก ปีนี้เก็บผลผลิตออกขายได้เท่านี้ ผมถือว่าโชคดีแล้ว” คุณไพฑูรย์ กล่าว

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

จุดเด่นของมะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู คือ ผลอ่อน ฝักดิบ จะมีสีเขียวอ่อน เนื้อในสีขาว เมื่อฝักสุกแก่เต็มที่ เปลือกและเนื้อจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ฝักสวยสีสวย น่ารับประทาน โดยทั่วไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ต้นมะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพูจะให้ผลผลิตสวยมาก และมีรสชาติดี ต้นมะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพูของไร่สวนขวัญเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ 1-2 ปีแรกของการปลูก หากบำรุงรักษาที่ดี สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ตั้งแต่ปีแรกที่ปลูกได้เลย เนื่องจากคุณไพฑูรย์ทำงานประจำ ไม่ค่อยมีเวลาดูแลไร่สักเท่าไร จึงปล่อยให้ต้นมะขามเทศเติบโตสมบูรณ์เต็มที่เสียก่อน จึงค่อยเก็บผลผลิตรุ่นแรกออกขายในปีที่ 3

คนงานกำลังเร่งสอยมะขามเทศฝักสีชมพู

ผลผลิตรุ่นแรกและรุ่นสอง สร้างรายได้เข้ากระเป๋าถึงปีละ 1.5 แสนบาท ส่วนผลผลิตรุ่นที่สามที่เก็บเกี่ยวช่วงปีที่แล้ว สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนบาท ทุกวันนี้ ไร่สวนขวัญมีต้นทุนค่าใช้จ่ายน้อย ส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างแรงงานสอย เฉลี่ยวันละ 2-4 คน โดยมีค่าจ้างแรงงาน วันละ 250-300 บาท หลังหักลบต้นทุนแล้ว ยังเหลือผลกำไรหลักแสนต่อไร่

“ช่วงแรกที่ผมปลูกมะขามเทศ มะขามเทศซื้อขายในท้องถิ่น อยู่ที่กิโลกรัมละ 20-30 บาท เท่านั้น หลังปลูกไปได้ 2 ปี ราคาขายเพิ่มขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 80-100 บาท ผมเก็บผลผลิตไปขายในงานเจียไต๋แฟร์ ปรากฏว่าขายดี เพราะนักท่องเที่ยวนิยมซื้อมะขามเทศกันมาก เพราะเป็นไม้ผลที่มีวิตามินซีสูง ดีต่อสุขภาพ” คุณไพฑูรย์ กล่าว

ผลผลิตช่วงที่ผ่านมา ในหมู่บ้านของคุณไพฑูรย์ มีแม่ค้าเข้ามารับซื้อมะขามเทศในราคาหน้าสวน ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ช่วงต้นฤดู ราคารับซื้อหน้าสวน อยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท แต่หลังจากสวนมะขามเทศโดนพายุฝน ราคารับซื้อหน้าสวนปรับตัวลดลง เหลือแค่กิโลกรัมละ 50 บาท เท่านั้น

คุณไพฑูรย์ คิดว่า หากขายส่งผ่านแม่ค้าคนกลาง จะต้องถูกกดราคารับซื้อตามเกรดและขนาดฝัก ทำให้ขายผลผลิตไม่ได้ราคาเต็มเม็ดเต็มหน่วย เขาจึงตัดสินใจเปิดแผงขายผลผลิตของ “ไร่สวนขวัญ” ริมถนนทางหลวงแทน เพราะทำเลที่ตั้งของไร่สวนขวัญอยู่ใกล้กับเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวสัญจรผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก เขาคัดสินค้าสวย เกรด เอ เบอร์ใหญ่ ออกขายในราคากิโลกรัมละ 60-80 บาท

“เกษตรกรมักนิยมเก็บฝักสีเขียวที่เปิดแย้มด้านใน มองเห็นเมล็ดฝักสีดำ เพื่อขายส่งให้กับแม่ค้าที่มารับซื้อผลผลิตหน้าสวน ซึ่งมะขามเทศจะเริ่มสุกมีสีชมพูแดงในช่วงที่วางขายในตลาดพอดี แต่ไร่สวนขวัญ มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง จึงทยอยเก็บผลผลิตที่กำลังเริ่มสุก ฝักมีสีชมพูแดงออกวางขายได้ทุกวัน ตลอดระยะเวลา 3 เดือนเต็ม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี ช่วยสร้างผลกำไรได้ดีกว่าขายส่งให้แม่ค้าคนกลาง” คุณไพฑูรย์ กล่าว

“ขายกิ่งพันธุ์” เพิ่มรายได้

ปัจจุบัน เกษตรกรที่ปลูกต้นมะขามเทศ นอกจากจำหน่ายผลผลิตในช่วงฤดูกาลแล้ว หากเกษตรกรรายใดมีฝีมือด้านเพาะขยายพันธุ์พืช สามารถผลิตกิ่งพันธุ์มะขามเทศออกจำหน่ายได้อีกทางหนึ่ง เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ราคาซื้อขายกิ่งพันธุ์มะขามเทศ เฉลี่ยกิ่งละ 25 บาท เนื่องจากต้นมะขามเทศขยายพันธุ์ได้ยาก แถมเจอวิกฤตภัยแล้ง ราคาซื้อขายกิ่งพันธุ์เมื่อปีที่แล้ว จึงปรับเพิ่มเป็น 35 บาท

มะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู มีรสชาติหวานมัน อร่อยกว่าทุกสายพันธุ์

สำหรับปีนี้ ตลาดมีความต้องการกิ่งพันธุ์เพิ่มสูงขึ้น แต่มีจำนวนกิ่งพันธุ์น้อยกว่าความต้องการของตลาด ทำให้ราคาซื้อขายขยับขึ้นเป็นกิ่งละ 50 บาทแล้ว ขณะที่ราคาซื้อขายกิ่งพันธุ์ในท้องตลาดทั่วไป (นอกจังหวัดกาญจนบุรี) สูงถึงกิ่งละ 80-100 บาท ขณะนี้มีเกษตรกรหลายรายสนใจสั่งซื้อกิ่งพันธุ์มะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู ของ “ไร่สวนขวัญ” ซึ่งคุณไพฑูรย์จะเริ่มตอนกิ่งออกขายในช่วงฤดูฝน เพื่อให้กิ่งพันธุ์ติดรากได้ดีขึ้น หากใครสนใจก็ติดต่อสั่งซื้อกับ คุณไพฑูรย์ สุนทรวิภาต ได้ที่โทรศัพท์ (086) 162-0365