เลี้ยงปลาบ่อรวม พร้อมแปรรูปขายเป็นอาชีพเสริม ของ มณีพรรณ พูลพอกสิน ที่หนองจอก

คุณเฉลิมชัย ดีแก้ว เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติงาน สำนักงานประมงกรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ 2 ให้ข้อมูลว่า การทำประมงในพื้นที่เขตนี้มีการเลี้ยงปลาแบบปล่อยให้อยู่ในบ่อน้ำที่ใช้สำหรับทำการเกษตร โดยเน้นปล่อยแบบอิสระและปลาที่เลี้ยงได้ขนาดใหญ่สามารถจำหน่ายได้ เกษตรกรผู้เลี้ยงบางรายนำปลามาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และบางรายจับแบบยกบ่อเพื่อส่งให้กับตลาดปลาแบบเน้นปริมาณมากๆ

“ในพื้นที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานครนี่ ต้องบอกว่า เขตนี้ถือว่าปริมาณน้ำมีเพียงพอ ทั้งต่อการทำเกษตรและเลี้ยงปลา เพราะมีเขตชลประทานและคลองต่างๆ ไหลผ่าน จึงทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงปลามีน้ำใช้ทำประมงได้อย่างไม่ขาดแคลน ซึ่งทางหน่วยงานของเราก็จะคอยส่งเสริมและดำเนินงานให้เกษตรกรทุกครัวเรือน ลงทะเบียนในเรื่องของการทำประมงอย่างปลอดภัย เพื่อให้ทุกคนได้อบรมและนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาการเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูปให้มีรายได้ที่ยั่งยืน”

คุณมณีพรรณ พูลพอกสิน อยู่บ้านเลขที่ 16/1 หมู่ที่ 6 แขวงหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ยึดการทำประมงในพื้นที่นี้มากว่า 20 ปี โดยนำปลาที่เลี้ยงภายในบ่อมาแปรรูปเน้นทำการตลาดขายเอง ทำให้เกิดเป็นรายได้สำหรับใช้จ่ายภายในครัวเรือนให้กับคุณมณีพรรณได้เป็นอย่างดี

ปลาตะเพียนภายในบ่อ

ยึดเลี้ยงปลา

เป็นงานเสริม สร้างรายได้

คุณมณีพรรณ เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวยึดอาชีพทำพืชไร่มาตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก ซึ่งบริเวณบ้านมีบ่อน้ำสำหรับไว้ใช้เองในการทำการเกษตร จึงได้มีโอกาสนำปลาเข้ามาเลี้ยงภายในบ่อ ช่วงแรกนำปลาดุกเข้ามาทดลองเลี้ยง แต่ต้องมีอันเลิกไป เพราะไม่มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ จึงปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงปลาแบบบ่อรวม โดยให้ภายในบ่อมีปลาหลากหลายชนิด เช่น ปลาตะเพียน ปลายี่สก และปลานิล

“ช่วงที่เลี้ยงปลาดุก มองว่าแหล่งอาหารไม่ค่อยเอื้ออำนวย เพราะเราไม่ได้เลี้ยงแบบเชิงการค้าเต็มที่ แต่เน้นทำเพื่อเป็นอาชีพเสริม เลยมีการปรับปลี่ยนมาเลี้ยงแบบปลาบ่อรวมน่าจะเหมาะสมกว่า จากนั้นปล่อยให้โต เน้นจับเองเพื่อแปรรูปขาย ก็ถือว่ามีรายได้ดี จึงยึดการเลี้ยงแบบบ่อรวมเป็นหลัก เพราะไม่ต้องดูแลจัดการยาก แต่ก็มีปลาให้จับทำรายได้อยู่ตลอดทั้งปี” คุณมณีพรรณ เล่าถึงที่มา

คุณมณีพรรณ พูลพอกสิน

เลี้ยงปลาไม่จำกัดจำนวน

ดูขนาดบ่อเป็นหลัก

เนื่องจากบ่อเลี้ยงปลาเป็นบ่อเก็บน้ำใช้ทางการเกษตร คุณมณีพรรณ บอกว่า จึงไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่ามีขนาดเท่าใด เพียงแต่นำน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยขนาดบ่อมีพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 7 ไร่ ความลึกเกิน 2 เมตร นำพันธุ์ปลาปล่อยอยู่ที่ชนิดละ 10,000-20,000 ตัว ปล่อยให้ปลาเจริญเติบโตพร้อมทั้งขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ

ข้าวคั่วจากข้าวสุก

“ปลาที่เลี้ยงส่วนมากไม่ได้ซื้อมาเพิ่มอีกเลย ซื้อปล่อยลงบ่อครั้งเดียว ช่วงถึงฤดูวางไข่ปลาก็จะช่วยขยายพันธุ์ออกไปเรื่อยๆ โดยช่วงปีแรกหลังปล่อยปลาลงไปไม่ต้องไปรบกวน พอเห็นว่าเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเราก็จับมาขาย ซึ่งปลาภายในบ่อสามารถอยู่ได้ 2-3 ปี ถ้าล้างบ่อก็จะลงทุนซื้อมาปล่อยลงไปใหม่ แต่ส่วนมากเน้นให้ขยายพันธุ์เอง” คุณมณีพรรณ บอก

ส่วนหนึ่งของการแปรรูปปลาที่จับได้แต่ละวัน

อาหารที่ให้ปลากิน คุณมณีพรรณ บอกว่า เน้นให้อาหารแบบประหยัดต้นทุน ด้วยการหาอาหารที่ได้จากแหล่งชุมชนจำพวกเศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือน และฟางข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวข้าวปล่อยทิ้งบริเวณรอบๆ บ่อ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุน พร้อมทั้งเสริมรำให้ปลากินเดือนละ 2 ครั้ง

ส่วนโรคที่เกิดขึ้นกับปลาภายในบ่อไม่ค่อยพบปัญหามากนัก จะมีให้เห็นเฉพาะช่วงฤดูกาลเปลี่ยนเท่านั้น ปลาที่เลี้ยงจึงไม่เกิดความเสียหายสำหรับการเลี้ยงแบบระบบบ่อรวม อาจเป็นเพราะบ่อมีขนาดใหญ่ปริมาณน้ำมากมีการหมุนเวียนตลอดเวลา จึงไม่เกิดการสะสมของโรค

จับปลาภายในบ่อ

เน้นแปรรูปขายเอง

มีรายได้ทุกวัน

ในเรื่องของการทำตลาดนั้น คุณมณีพรรณ บอกว่า ดูไซซ์ปลาตามความเหมาะสม เมื่อเห็นว่าปลาภายในบ่อเริ่มมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จึงทยอยจับด้วยการวางตาข่ายดัก ปลาบางส่วนจะนำไปขายตามหมู่บ้านเป็นปลาสด และนำมาแปรรูปเป็นปลาบูดูอาหารพื้นบ้านที่คนในชุมชนนิยมรับประทาน เป็นการสร้างรายได้เสริมที่สามารถทำได้ตลอดทั้งปี

“แต่ละวันเราจะดักตาข่ายไว้ แต่ละวันจะได้ปลาอยู่ที่ 30 กิโลกรัม ต่อวัน มีไซซ์ปลาตั้งแต่ 500 กรัมขึ้นไป แต่ละชนิดก็ขายแตกต่างกันไป ถ้าซื้อแบบปลาสด ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-60 บาท อย่างปลานิลถ้าตัวเล็กหน่อยก็ทำเป็นปลาแดดเดียว ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนบางตัวที่ไซซ์ใหญ่ๆ นำมาทำเป็นปลาบูดูขายได้ดีลูกค้าชื่นชอบ มีรายได้ทั้งแบบขายสดและแบบแปรรูป เกิดรายได้ทุกวัน นับว่าทำรายได้เสริมให้เราได้ดีทีเดียว ในการเลี้ยงปลาบ่อรวมแบบนี้” คุณมณีพรรณ บอก

แปรรูปเป็นปลาบูดู

สำหรับท่านใดที่สนใจเลี้ยงปลาอยู่บริเวณบ้าน คุณมณีพรรณ แนะนำว่า สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือ เรื่องการหาอาหารให้ปลากินแบบประหยัดต้นทุน ซึ่งการเลี้ยงปลาแบบบ่อรวมไม่มีขั้นตอนการดูแลที่ยุ่งยาก ปลาสามารถเจริญเติบโตได้ดี การทำตลาดควรเน้นแบบแปรรูปขายเอง ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มเกิดรายได้อย่างแน่นอน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณมณีพรรณ พูลพอกสิน หมายเลขโทรศัพท์ (02) 989-3881

คุณเฉลิมชัย ดีแก้ว

ขอขอบพระคุณ คุณเฉลิมชัย ดีแก้ว เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติงาน สำนักงานประมงกรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ 2 พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร