เกษตรกรหญิงศรีสะเกษ ปลดหนี้ 1 ล้าน ภายใน 4 ปี ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หลังเจอปัญหาวิกฤตทางการเมือง ปี 2554 ธุรกิจสมุนไพรและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่เคยสร้างรายได้สะพัดวันละแสน กลับขายไม่ออก ขาดทุนสะสมจนกลายเป็นหนี้ก้อนโต  แต่ “ศุภธิดา ศรีชารัตน์” ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค เธอปรับตัวสู้ชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต จนสามารถปลดหนี้เงินล้านได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี

คุณศุภธิดา เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร ในหมู่บ้านหนองกอง หมู่ที่ 3 อำเภอโดด อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ เธอเห็นพ่อแม่ทำนามาตลอดชีวิตแต่ไม่รวยสักที หลังเรียนจบมัธยมจึงตัดสินใจไปทำธุรกิจค้าขายที่กรุงเทพฯ โดยเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่ห้างเซ็นทรัล สาขาบางนา และที่อิมพีเรียล สำโรง ระยะแรกธุรกิจเติบโตดีมาก สร้างรายได้สูงถึงวัน 100,000- 200,000 บาท

แต่การใช้ชีวิตในสังคมเมืองหลวงมีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทั้งค่ากินอยู่ ค่าเช่าที่ ค่าจ้างคนงาน ฯลฯ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วแทบไม่เหลือผลกำไร ต่อมาเกิดวิกฤตทางการเมือง สินค้าขายไม่ดี เกิดหนี้สินก้อนโต กว่าล้านบาท ช่วงปลายปี 2554 เธอจึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดตามคำขอร้องของแม่

เลี้ยงหมู ก็ขาดทุน

หลังกลับมาอยู่บ้าน เธอช่วยพ่อแม่ทำเกษตรผสมผสาน เริ่มจากเลี้ยงหมู 10 ตัว ได้ผลกำไรดีเธอจึงลงทุนซื้อหมูมาเลี้ยงเพิ่มอีก 40-50 ตัว ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน จึงจับหมูขาย แต่อาชีพเลี้ยงหมู มีรายได้ไม่แน่นอน เพราะราคาหมูปรับตัวขึ้นลงตามภาวะตลาดตลอดเวลา แต่ต้นทุนอาหารสัตว์แพงขึ้นทุกวัน  หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เธอขาดทุนจากการเลี้ยงหมูเกือบ 5 หมื่นบาท

“อาชีพเพาะเห็ด” สร้างผลกำไรงาม

ปี 2555 คุณศุภธิดา ไปเรียนรู้เรื่องการทำเห็ดฟางจากเพื่อนคนหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา เธอควักเงินก้อนแรก 5,000 บาท เพื่อลงทุนเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย จำนวน 8 แปลง ในแปลงนาของครอบครัว เมื่อเก็บผลผลิตออกขาย และหักต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเหลือผลกำไร 10,000 บาท ถือว่า คุ้มค่ากับการลงทุน เธอจึงตัดสินใจทำอาชีพเพาะเห็ดฟางอย่างเต็มตัว

เนื่องจากอาชีพการเพาะเห็ดฟาง ใช้เงินลงทุนน้อย หักค่าใช้จ่าย เหลือผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ แถมได้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มในแปลงนาอีกต่างหาก เธอจึงร่วมมือกับชาวบ้านในชุมชน จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ชื่อว่า “สวนเห็ดบ้านลุงจอม” โดยเธอรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มฯ เธอและสมาชิกกลุ่มจะลงมือเพาะเลี้ยงเห็ดฟางกองเตี้ยบริเวณทุ่งนา หลังสิ้นสุดฤดูทำนา

ทางกลุ่มฯ จะใช้เศษฟางข้าวที่เหลือจากการทํานา เป็นวัสดุในการเพาะเห็ดฟาง โดยทั่วไป พื้นที่ 1 ไร่ จะมีเศษฟางข้าวประมาณ 3,000 กิโลกรัม สามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ถึง 300 กิโลกรัม ทางกลุ่มเก็บเห็ดฟางออกขายได้ในราคา กิโลกรัมละ 50-90 บาท สร้างรายได้เข้ากลุ่มไม่ต่ำกว่า 15,000-27,000 บาท

พอเข้าฤดูทำนา เธอไม่สามารถเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยในแปลงนาได้อีก จึงตัดสินใจสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดที่บ้านแทน โดยโรงเรือนแห่งนี้ ใช้ถัง 200 ลิตร เป็นอุปกรณ์สำหรับต้มน้ำเพื่อทำไอน้ำ ใช้ไม้ฟืนต้มน้ำ เฉลี่ยวันละ 500 กิโลกรัม ต้องเผาฟืนต้มน้ำทั้งวันทั้งคืน ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง

สำนักงานพลังงานจังหวัดศรีสะเกษ จึงเข้ามาช่วยสร้างเตาประหยัดพลังงานรูปแบบใหม่ ที่ประหยัดพลังงานจากเดิมที่เคยเผาฟืนตลอด 24 ชั่วโมง ก็เหลือแค่ 12 ชั่วโมง ช่วยประหยัดไม้ฟืนได้มากขึ้น โดยใช้เพียงวันละ 100 กก.เท่านั้น ประหยัดเวลาและต้นทุน ทำให้เหลือผลกำไรมากขึ้น เธอแบ่งเวลาว่างไปสมัครเรียนกับ กศน. เพื่อนำความรู้มาใช้พัฒนาอาชีพและรับหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมความรู้เรื่องการเพาะเห็ด ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วไป

ปลดหนี้เงินล้านได้ เพราะยึดหลัก “พอเพียง”

คุณศุภธิดา กล่าวว่า ปัจจุบัน เธอปลดหนี้เงินล้านได้หมดแล้ว เพราะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำเนินชีวิต สามารถขจัดความยากจนของตัวเอง เธอและครอบครัวดำเนินชีวิตแบบ “พออยู่ พอกิน แลกเปลี่ยน เหลือขาย” ทุกวันนี้ เธอมีรายได้หลักจากอาชีพเพาะเห็ดฟาง และขายวัสดุอุปกรณ์เพาะเห็ด นอกจากนี้ แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำบ่อเลี้ยงปลา ทั้งปลาหมอเทศ ปลานิลแปลงเพศ และปลาดุก

นอกจากขายปลาเป็นรายได้หลักแล้ว เธอยังมีรายได้เสริมในฐานะตัวแทนจำหน่ายพันธุ์ปลาให้กับฟาร์มปลาแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม ปัจจุบัน เธอขายพันธุ์ปลาหมอ ขนาด 3-4 เซนติเมตร ในราคาตัวละ 1.50 บาท โดยแนะนำให้เพื่อนบ้านที่รู้จักเลี้ยงปลาหมอ ประมาณ 5 เดือน โดยจับปลาออกขายได้เมื่อเลี้ยงได้น้ำหนักตัว ประมาณ 4-5 กก. ซึ่งปลาชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดท้องถิ่นตลอดทั้งปี

ประการต่อมา เธอใช้พื้นที่ว่างที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปลูกไม้ผลรอบบ้าน เช่น เสาวรส ฟักข้าว มะม่วง แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ รวมทั้งปลูกพืชผักปลอดสารพิษไว้รอบบ้าน ปลูกกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ไว้ริมคันนา เพื่อเก็บเครือกล้วยและหน่อพันธุ์ออกขายในราคาต้นละ 50 บาท

เธอใช้ “เฟซบุ๊ก” เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์สินค้าออกสู่ตลาด ช่วยให้มีฐานลูกค้ากระจายในวงกว้างทั่วประเทศ ขายสินค้าได้มากขึ้น รายได้ก็สูงขึ้น สามารถปลดหนี้เงินล้านได้หมดภายในระยะเวลา 4 ปี

ผลงานของเธอเป็นที่ยอมรับในสังคม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ จึงส่งผลงานของเธอเข้าประกวดในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ปรากฏว่า ผลงานของเธอได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่เธอและครอบครัวเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน เธอเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดและการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถแวะเข้าชมกิจการได้ที่บ้านของเธอ หรือพูดคุยกับเธอได้ที่โทรศัพท์ (080) 707-4431 รับรองไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน