ไขข้อข้องใจ!! มะพร้าวกะทิ กับ มะพร้าวแกง ต่างกันอย่างไร

ไขข้อข้องใจ!! มะพร้าวกะทิ กับ มะพร้าวแกง ต่างกันอย่างไร

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมสงสัยว่า มะพร้าวกะทิ กับมะพร้าวแกงเกิดขึ้นแตกต่างกันอย่างไร ผมเพียงแต่ทราบว่า ในต้นมะพร้าวต้นเดียวกัน จะมีมะพร้าวกะทิปะปนอยู่แต่ไม่มาก และหากนำผลมะพร้าวกะทิไปปลูกก็ไม่ได้ เมื่อไม่นานมานี้ทราบว่า มีการผลิตกล้าพันธุ์มะพร้าวกะทิได้แล้ว ผมจะต้องไปติดต่อซื้อพันธุ์ได้ที่ไหน กรุณาแนะนำด้วยครับ

ขอแสดงความนับถือ
สมชัย กาญจนศิริพงษ์
สุพรรณบุรี

ตอบ คุณสมชัย กาญจนศิริพงษ์

เมื่อเริ่มต้นการสร้างเนื้อมะพร้าว จะเหมือนกันทั้งมะพร้าวแกง และมะพร้าวกะทิ โดยการสร้างคาร์โบไฮเดรต ที่ชื่อว่า กาแลคโตแมนแนน ต่อมามะพร้าวแกงจะสร้างเอนไซม์ แอลฟ่า-ดี กาแลคโตซิเดส มาย่อย กาแลคโตแมนแนน ให้เป็นคาร์โบไฮเดรต เรียกว่า แมนแนน ที่เป็นเนื้อมะพร้าวธรรมดาหรือมะพร้าวแกง แต่มีบางผลที่ไม่สามารถผลิตเอนไซม์ แอลฟ่า-ดี กาแลคโตซิเดสได้เนื้อมะพร้าวก็ยังคงเป็นคาร์โบไฮเดรต กาแลคโตแมนแนน ที่มีลักษณะนุ่ม เหนียว คล้ายวุ้น รสชาติดี เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค

มะพร้าวกะทิ แบ่งออกได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก มีเนื้อมะพร้าวกะทิหนาไม่มาก และนุ่ม คล้ายข้าวสุก กลุ่มที่สอง เนื้อหนาปานกลาง และ กลุ่มที่สาม เนื้อหนามาก และฟูเต็มกะลา

มะพร้าวกะทิ พบได้ทั่วไปในแหล่งที่ปลูกมะพร้าวในเขตร้อน ไม่ว่าจะที่ ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนในบ้านเราพบตามแหล่งปลูกมะพร้าวที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สมุทรสงคราม และนครศรีธรรมราช

ผลการวิจัยที่ฟิลิปปินส์ พบว่า ใช้ต้นมะพร้าวที่เคยเกิดมะพร้าวกะทิ ให้มีการผสมตัวเอง แล้วนำผลมะพร้าวที่ได้ไปปลูกจะได้มะพร้าวแกง 3 ส่วน และมะพร้าวกะทิ 1 ส่วน เป็นไปตามกฎของเมนเดล ให้เข้าใจง่ายคือ ถ้าต้นมะพร้าวให้ผล จำนวน 100 ลูก จะได้มะพร้าวแกง 75 ลูก และมะพร้าวกะทิ 25 ลูก

ปัจจุบัน สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตรประสบความสำเร็จในการผลิตพันธุ์มะพร้าวกะทิได้แล้ว ที่สามารถให้ผลกะทิสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ นำโดย ดร.สมชาย วัฒนโยธิน อดีตนักวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยพืชสวน สถานที่ทำการวิจัยอยู่ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร จังหวัดชุมพร และศูนย์วิจัยพืชสวนสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ต้องการต้นพันธุ์ ติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร บริเวณติดต่อกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ในวัน และเวลาราชการ

มะพร้าวกะทิลูกผสม พันธุ์ชุมพร 84-1

ลักษณะเด่น สามารถให้ผลเมื่อมีอายุ 2 ปี กับ 5 เดือน และเป็นผลกะทิ 18-25 เปอร์เซ็นต์ แหล่งปลูกได้ดีควรมีระดับน้ำใต้ดินลึกไม่เกิน 1 เมตร พื้นที่ฝนทิ้งช่วง 3 เดือน ต้องมีระบบการให้น้ำอย่างพอเพียง แปลงปลูกควรปลูกพืชคั่นรอบแปลง ป้องกันละอองเกสรจากมะพร้าวแกงปลิวมากับอากาศ หรือแมลงนำมา หากปลูกในที่โล่งต้องปลูกให้ห่างไกลจากสวนมะพร้าวแกง เป็นระยะทางอย่างน้อย 5 กิโลเมตร