สุดยอดแมลงช่วยผสมเกสร “ชันโรง ” แมลงเศรษฐกิจ เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้

ชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว (Stingless bee) มีนิสัยเก็บเกสร 80% เก็บน้ำหวาน 20%

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟัง คุณส่งศักดิ์ คำชัยลึก และ คุณปริวรรต ปัญจะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ บรรยายความรู้เรื่องการเลี้ยงชันโรง ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางการเกษตรแก่เกษตรกร นึกไม่ถึงเลยว่าแมลงพื้นบ้านธรรมดา ที่เดิมชาวบ้านใช้ประโยชน์จากชันเพื่ออุดรอยรั่วต่างๆ และใช้อุดใต้ฐานพระนั้น จะมีคุณค่าอนันต์มากมาย

ผึ้งที่ว่าผสมเกสรเก่งแล้ว ยังไม่เท่าชันโรง เพราะผึ้งเมื่อเก็บเกสรจากดอกไม้แล้วจะปล่อยฟีโรโมนหรือกลิ่นตัวของมัน ทำให้ผึ้งตัวต่อไปไม่มาตอมหรือเก็บเกสร แต่ชันโรงไม่สนใจถึงใครจะดอมดมเก็บเกสรแล้ว มันยังคงเข้าเก็บเกสรทุกดอกทุกรวง เพราะนิสัยของชันโรงชอบเก็บเกสรเข้ารังถึง 80% ทำให้สามารถช่วยผสมเกสรให้กับพืชต่างๆ ได้ดีสุดยอด

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้การเลี้ยงชันโรง ได้สาธิตการแยกขยายชันโรงจากรังธรรมชาติ

ในส่วนการเก็บน้ำหวาน จะเก็บเข้ารังเพียง 20% จึงทำให้มีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป 10-20 เท่าตัว ซึ่งน้ำผึ้งชันโรงนั้น จะมีชันผึ้งละลายปะปนอยู่ สีจึงค่อนข้างดำหรือสีเข้ม มีความเป็นกรดค่อนข้างสูง จึงมีรสเปรี้ยว ที่สำคัญมีคุณสมบัติเป็นสารยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ ใช้เป็นสารปฏิชีวนะในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อโรค ล้างไขมัน บำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตา บำรุงประสาท ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง เบาหวาน ความดัน รักษาอาการเจ็บคอและอื่นๆ อีกมากมาย

จากผลการวิจัยของสำนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า น้ำผึ้งและชันจากชันโรง มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 สารไนอะซิน สารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรค เพิ่มภูมิคุ้มกัน ตลอดจนสารยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิวหนัง

ชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว (Stingless bee) มีนิสัยเก็บเกสร 80% เก็บน้ำหวาน 20%

ชันโรง เป็นแมลงจำพวกผึ้งชนิดหนึ่งที่ไม่มีเหล็กไน จึงไม่ต่อยแต่กัดได้ พบโดยทั่วไปในเขตร้อน ตลอดจนบริเวณใกล้เคียงที่ติดกับเขตร้อนและมีอยู่ในท้องถิ่นทั่วไปในประเทศไทยมานานแล้ว ภาคเหนือเรียกชันโรงตัวเล็กว่า “ขี้ตังนี หรือ ขี้ตึง” ถ้าตัวใหญ่เรียกว่า ขี้ย้าดำ ถ้าเป็นชันโรงยักษ์เรียกว่า ขี้ย้าแดง ภาคใต้เรียก แมลงอุ่ง ภาคตะวันออก เรียกว่า ตัวชำมะโรง หรือ อีโลม ภาคอีสานเรียกว่า ขี้สูด ภาคตะวันตก เรียก ตัวตุ้งติ่ง หรือ ติ้ง ชันโรงจัดเป็นแมลงสังคมชั้นสูง ภายในรังประกอบด้วยวรรณะ 3 วรรณะ คือ วรรณะนางพญา (Queen) วรรณะชันโรงงาน (Worker) วรรณะเพศผู้ (Drone) โดยแต่ละวรรณะทำหน้าที่แตกต่างกันภายในรัง และชันโรงมีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับผึ้ง คือ ระยะไข่ (6-7 วัน) ระยะตัวอ่อน/หนอน (6-7 วัน) ระยะดักแด้ (26 วัน) และระยะตัวเต็มวัย (210 วัน) 

น้ำผึ้งชันโรง จะมีชันผึ้งละลายปะปนอยู่ สีจึงค่อนข้างดำหรือสีเข้ม มีความเป็นกรดค่อนข้างสูง จึงมีรสเปรี้ยวและมีสรรพคุณทางยา

ชันโรงนางพญา เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่หลักคือ วางไข่และดูแลชันโรงทุกตัวภายในรังให้อยู่ด้วยความเรียบร้อย นางพญาจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดชีวิต โดยชันโรงงานภายในรังจะพยายามกันชันโรงตัวผู้ที่เป็นเครือญาติเดียวกัน ไม่ให้ผสมกับนางพญา แต่จะนำชันโรงตัวผู้ที่อยู่รังอื่นเข้ามาผสมพันธุ์กับนางพญา เป็นวิธีการป้องกันเลือดชิดหรือจะผสมพันธุ์กับชันโรงตัวผู้รังอื่นๆ ระหว่างนางพญาบินไปหารังใหม่ ซึ่งอีกประมาณ 2 สัปดาห์ นางพญาชันโรงจะวางไข่ในรังใหม่ต่อไป

นางพญาจะวางตัวอ่อนในหลอดรวง โดยมีชันโรงงานคอยปิดผนึกไข่จนพัฒนาเป็นดักแด้และตัวเต็มวัยในที่สุด ไข่จะพัฒนาไปเป็นชันโรงวรรณะใด ขึ้นอยู่กับการได้รับการผสมจากน้ำเชื้อหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการผสม ก็จะพัฒนาเป็นชันโรงตัวผู้ แต่ถ้าได้รับการผสม ก็จะพัฒนาไปเป็นชันโรงเพศเมีย คือวรรณะชันโรงงานและนางพญา การพัฒนาจะเป็นชันโรงงานหรือนางพญา ขึ้นอยู่กับขนาดของรวงรังและปริมาณอาหาร รวงรังของตัวอ่อนที่จะเจริญเป็นนางพญาจะต้องมีขนาดใหญ่และได้รับอาหารที่มากกว่า

  1. ชันโรงตัวผู้ มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับชันโรงนางพญาอย่างเดียว เหมือนกับผึ้งตัวผู้ การสร้างชันโรงเพศผู้ของรัง จะสร้างเฉพาะฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น เมื่อชันโรงตัวผู้บินออกจากรังไปแล้วจะไม่กลับเข้ารังอีก เนื่องจากชันโรงงานที่ทำหน้าที่รักษารังไม่ยอมให้ชันโรงตัวผู้กลับเข้ารัง
  2. ชันโรงงาน เป็นวรรณะที่มีมากที่สุดภายในรัง ทำหน้าที่ซ่อมแซมรัง คอยทำความสะอาดรังและเป็นพี่เลี้ยงช่วงนางพญาวางไข่ ตลอดจนหาอาหารนำมาเลี้ยงสมาชิกในรัง โดยเก็บเกสรและน้ำหวาน
ชันโรง เป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ สามารถเลี้ยงได้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

วิธีการแยกขยายชันโรง

  1. จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการขยายรังชันโรง ได้แก่ รังที่จะแยกขยาย เหล็กงัดรังชนิดเดียวที่ใช้ในการเลี้ยงผึ้ง หมวกตาข่าย เครื่องพ่นควัน กระบอกพ่นน้ำชนิดพ่นฝอย
  2. คัดเลือกรังชันโรงที่สมบูรณ์แข็งแรง มีประชากรชันโรงหนาแน่นมีการสะสมอาหารและน้ำหวานไว้ภายในรังจำนวนมาก มีการสร้างเซลล์นางพญาและเซลล์ตัวอ่อน
  3. ตัดแบ่งกระเปาะเกสร กระเปาะน้ำหวาน กระเปาะตัวอ่อน ประมาณ 1 ใน 3 ของรังเดิม ถ้าพบเซลล์นางพญาให้ตัดมาด้วยและให้มีตัวเต็มวัยของชันโรงติดมาด้วย เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ในรังที่แยกใหม่
  4. ควรตรวจเช็กส่วนที่แยกใส่รังใหม่ให้แน่ใจว่าไม่มีนางพญาชันโรงตัวเดิมติดมาด้วย
  5. หลังจากนั้นจะเกิดขบวนการสร้างนางพญาชันโรงตัวใหม่ขึ้นตามธรรมชาติ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการแยกขยายรังชันโรง
  6. ช่วงเวลาที่แยกขยายรังชันโรงคือ ช่วงฤดูดอกไม้บาน มีการสะสมอาหารไว้ภายในรังเป็นจำนวนมาก และภายในรังได้มีการสร้างชันโรงตัวผู้จำนวนมากสำหรับการผสมพันธุ์กับนางพญาชันโรงตัวใหม่
ชันโรงจะสร้างรวงรังเอง

คุณนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว (Stingless bee) เป็นแมลงที่อยู่รวมกันเป็นสังคม มีการสร้างรวงรัง โดยแบ่งเป็นสัดส่วน เป็นเซลล์หรือกระเปาะ ได้แก่ กระเปาะเก็บเกสร กระเปาะเก็บน้ำหวานและกระเปาะสำหรับวางไข่และเลี้ยงดูตัวอ่อน ชันโรงเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรพืชทุกชนิด ทั้งพืชป่า พืชพื้นบ้าน และพืชสมุนไพร จึงทำให้น้ำผึ้งชันโรงเป็นน้ำผึ้งที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและยามากกว่าน้ำหวานจากผึ้งทั่วไป รวมทั้งเข้มข้นกว่า แต่น้ำผึ้งชันโรงจะมีปริมาณจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำผึ้งจากผึ้งทั่วไป ทำให้มีราคาแพงกว่า (ประมาณ ขวดละ 1,500-2,000 บาท) เนื่องจากชันโรงจะมีนิสัยเก็บเกสร 80% เก็บน้ำหวาน 20% รวมทั้งเก็บยางไม้หรือชันผึ้ง (propolis) ที่มากกว่าผึ้งทั่วไป เพราะจะใช้สร้างรัง อุดรอยรั่ว ทำทางเข้าออกรังและใช้ป้องกันศัตรูบุกรุก

ชันโรง เป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ปัจจุบันสามารถเลี้ยงเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมได้ เพราะผลิตภัณฑ์จากชันโรงทั้งน้ำหวานและชันผึ้ง ตลาดมีความต้องการสูงเ พื่อใช้ในทางการแพทย์ การผลิตอาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง อีกทั้งชาวสวนได้มีการเช่าชันโรง เพื่อวางในสวนผลไม้เพื่อช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิต คิดราคา 30-50 บาท/วัน/รัง ในพื้นที่สวนลำไย 5 ไร่ ได้ทดลองวางชันโรง 2 รัง ในช่วงออกดอก สามารถช่วยผสมเกสรทำให้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ดังนั้น ชันโรง เป็นสุดยอดแมลงช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตและเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้

ผู้ที่สนใจเลี้ยงชันโรง ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือศึกษาเรียนรู้ได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ 428 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230 โทร. 053-431-262 : ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตนางพญาชันโรงได้ และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร