ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
โฆษณาเกินจริง “ยา-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” กำลังคุกคามสังคมไทยยุค 4.0 !?!
ต้องยอมรับว่า รอบปีที่ผ่านมา ปัญหาโฆษณาผิดกฎหมายของ สินค้าประเภท ยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ปรากฏเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน
แต่ที่ฮือฮากันไปทั้งบ้านทั้งเมือง เห็นจะเป็น “คดีเมจิกสกิน” ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดัง ที่ทำกำไรได้มหาศาล ถึงขั้นมีงบฯไม่อั้น จ้าง “เซเลบ-ดารา” มาช่วยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ ทั้งที่สินค้านั้นยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน อย. การออกมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสินค้าดังกล่าว จึงเข้าข่าย “เกินจริง” เกินกว่ากฎหมายจะยอมรับได้
แต่จากเทคโนโลยีและช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีเสียง วิพาษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ค่อนข้างเป็นไปในเชิง “ตั้งรับ” มากกว่า “ป้องกัน”
อีกฟากหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ได้พยายามร่วมกันแก้ปัญหาโฆษณาอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยมีการติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวัง การออกอากาศรายการหรือโฆษณาที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค การดำเนินการตามกฎหมาย จับกุม ปราบปราม รวมถึงการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ อีกด้วย
ดังจะเห็นได้จากสถิติที่รวบรวมไว้ โดยในปี 2558 กสทช. ตรวจพบโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย 52 รายการ สารเคมีทางการเกษตร 5 รายการ และเครื่องรางของขลังหรือสินค้าความเชื่อต่างๆ 3 รายการ ส่วนวิทยุกระจายเสียงพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย 33 รายการ ในขณะที่ อย.ได้มีการแจ้งระงับโฆษณาและเปรียบเทียบปรับเจ้าของสื่อโทรทัศน์และวิทยุทั้งหมด 65 รายการ
ในปี 2559 มีจำนวน 37 รายการ ล่าสุดในปี 2561 อย.ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายมากถึง 529 คดี แบ่งเป็นเรื่องอาหาร 361 คดี ยา 81 คดี เครื่องมือแพทย์ 13 คดี และเครื่องสำอาง 74 คดี และในปี 2561 กสทช.และกระทรวงสาธารณสุข คือ อย.และสาธารณสุขจังหวัด สสจ. ร่วมกันปรับลดขั้นตอนการทำงาน โดยจะร่วมกันพิจารณาเนื้อหาการโฆษณาที่ออกอากาศให้ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น
ล่าสุดบนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ได้มีการหยิบยก ประเด็นปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของ ยา อาหาร และ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งหลายนั้น กำลัง “คุกคาม” สังคมไทยในยุค THAILAND 4.0 หรือไม่และอย่างไร
โดยมีผู้รู้และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ
คุณธนากร จงอักษร ผู้แทนจาก อย. กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา นอกจากการปราบปรามและเฝ้าระวังแล้ว อย.พยายามทำงานในเชิงบวก เช่น ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อและพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งเสริม สนับสนุนคุณธรรม จริยธรรมของผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ โดยต้องสร้างให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งแนวทางนี้อาจจะต้องสร้างที่หลักสูตรการศึกษาในระยะยาว
ผู้แทนอย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล คือ หากรัฐบาล จะควบคุมการโฆษณาเหล่านี้ ต้องหาหนทางให้สื่ออยู่รอดด้วย เนื่องจากโฆษณาอาหารและยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ เป็นรายได้หลักทางหนึ่งของสื่อด้วย
ด้านคุณอนุพงษ์ เจริญเวช ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังผลักดันไปสู่ THAILAND4.0 การแพร่กระจายของโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเหล่านี้ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทุกคนสามารถโฆษณาขายสินค้าได้ในทุกที่ เพียงแค่มีสินค้าและอินเตอร์เน็ต ส่วนผู้บริโภคก็สามารถซื้อสินค้าได้ทุกที่เช่นเดียวกัน ส่วนรูปแบบการโฆษณายังเป็นแบบเดิม คือ บอกข้อมูลไม่หมด ใช้ดาราเป็นผู้เสนอขายสินค้า อย่างไรก็ตาม การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงผลร้ายจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้น หากผลร้ายนั้นไม่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคเอง
คุณเขมวดี ขนาบแก้ว ผู้แทนจากกสทช. ในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบหลัก กล่าวย้ำว่า กสทช.ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้มติยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ. 2557 – 2561 เป็นผลสำเร็จที่สุด ด้วยการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค( สคบ. ) สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย ในฐานะที่กสทช.มีอำนาจในทางปกครอง คือสามารถสั่งให้สถานีระงับการกระทำนั้น หากฝ่าฝืนจะปรับ ซึ่งเพดานอัตราค่าปรับค่อนข้างสูงคือ 5 ล้านบาท และสุดท้ายคือ “จอดำ” พักใช้ใบอนุญาต แต่ด้วยจำนวนของสื่อที่เพิ่มมากขึ้น อย่างทีวีดาวเทียม มีถึง 700 ช่อง วิทยุ 1,000 สถานี ทีวีดิจิทัล 27 ช่อง กสทช.จึงร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่สร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ให้เป็นผลสำเร็จ
ส่วน ภญ.กนกพร ธัญมณีสิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนหลักในพื้นที่ กล่าวว่า สสจ.ขอนแก่นต้องทำงานประสานกับทุกหน่วยงาน กับเครือข่ายทุกกลุ่มเป้าหมาย เน้นการให้ข้อมูลกับประชาชนให้เห็นถึงภัยและผลร้ายจากการใช้ยา อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและขายทางสื่อต่างๆ ซึ่งผู้ทำงานเองต้องเพิ่มความรู้ตามสื่อต่างๆให้ทันว่ามีอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ยังรู้สึกกังวลกับการเฝ้าระวังหรือมาตรการกวดขันของสื่อใหม่ สื่อออนไลน์ รวมถึงธุรกิจ Startup ที่หน่วยงานรัฐ อย่าง สคบ. หรือ อย.ต้องตามให้ทันธุรกิจเหล่านี้ด้วย
ผศ.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์นี้ ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 มีข้อเสนอสำหรับมติว่าด้วยการจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของ ยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเสนอ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ใช้กฎหมาย 2. เพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการให้มีมากขึ้น และ 3. เพิ่มบทบาทการเฝ้าระวังให้กับภาคประชาชน ทำฐานข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง
จากการนำเสนอจากผู้เกี่ยวข้องและข้อมูลผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น การสร้างและพัฒนาเครือข่าย กลไกการเฝ้าระวัง บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทุกหน่วยงานทั้งรัฐและภาคประชาชนร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันโฆษณาอาหารและยา ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผิดกฎหมาย ยังแพร่หลายและกระจายไปอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น “โจทย์ใหญ่” ที่ท้าทายต่อไป คือ ในยุคสื่อออนไลน์กว้างไกล THAILAND 4.0 จะต้องใช้สื่อ และรู้เท่าทันขนาดไหนถึงจะแก้ปัญหานี้ได้