เมื่อ “ลุงตู่” บอกให้หา “ลูกค้าประจำ” กูรูการตลาดชี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีเทคนิคดีๆมาบอก

ลุงตู่
ลุงตู่

เมื่อ “ลุงตู่” บอกให้หา “ลูกค้าประจำ” กูรูการตลาดชี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีเทคนิคดีๆมาบอก

จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนพ่อค้าแม่ขาย ของพล.อ.ประยุทธฺ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อไม่กี่วันก่อน ตอนท่านนายกฯพบปะพ่อค้าแม่ขาย หลายคนบ่นกระปอดกระปอดกระแปด เศรษฐกิจไม่ดี ค้าขายไม่คล่อง ท่านนายกฯจึงแนะนำให้ทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อ“หาลูกค้าประจำ” นั้น

ข่าวเกี่ยวข้อง : บิ๊กตู่ ลงพื้นที่ตลาดสด สอนพ่อค้า-แม่ค้า ขายไม่ได้ทำไมไม่ทำพีอาร์ หาลูกค้าประจำ

คุณพลชัย  เพชรปลอด นักการตลาดอาวุโส ให้สัมภาษณ์ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ในประเด็นดังกล่าวว่า “การหาลูกค้าประจำ” ในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายนัก เพราะปัจจุบันลูกค้าที่จะ “จงรักภักดี” กับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งนั้น ไม่มีจริงอีกแล้ว เพราะเทคโนโลยีที่ทำให้ลูกค้ามีโอกาส มีทางเลือกมากมาย ข้อมูลบางทีดีกว่าคนขายซะอีก

“หลายอย่าง มนุษย์ด้วยกัน ยังต้องการสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกัน งานบริการ ก็ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องใช้มนุษย์     จึงจะได้ใจมนุษย์ด้วยกัน เรื่องนี้ AI ทำดีสู้มนุษย์ไม่ได้แน่ๆ ดังนั้น การจะสร้างลูกค้าประจำ ต้องใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปเยอะๆ งานบริการจึงต้องถูกนำมาใช้ควบคู่กับการขายสินค้าปกติ”คุณพลชัย กล่าว

และว่า เทคนิคต่อไปนี้ จะช่วยให้ธุรกิจ SMEs ทั้งหลายสามารถสร้างลูกค้าประจำขึ้นมาได้ เพียงแค่เบื้องต้น ทำ 5 ข้อ นี้ให้ได้ต่อเนื่อง

1.หาจุดขายที่ชัดเจน – ธุรกิจที่เหมือนๆ กัน ลูกค้าแยกกันไม่ออกว่าทำไมต้องซื้อเจ้านี้ ไม่ซื้อเจ้านั้น นักการตลาดบอกว่า ลูกค้านั้นแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีความต้องการคล้ายคลึงกัน ความต้องการแบบเหมือนกันเป็นกลุ่มใหญ่ไม่มีแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การสร้างจุดขายที่ชัดเจน  จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า ทำไมต้องซื้อสินค้าจากเรา จุดขายที่ชัดเจน ต้องประเมินจากความสามารถในการให้บริการได้ตามคำสัญญานั้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตัวอย่างเช่น เราเป็นเจ้าที่ราคาถูกสุดในย่านนั้น เราให้บริการส่งสินค้าถึงหน้าบ้าน เรามีสินค้าสดใหม่ทุกวัน เป็นต้น

2.สื่อสารจุดขายต่อเนื่อง – ทำตัวเหมือนแผ่นเสียงตกร่องเลย สื่อสารออกไป จะโฆษณา จะประชาสัมพันธ์ จะบอกกล่าวใคร ก็ต้องพูด ต้องบอกจุดขายของเรา ยิ่งถ้าสามารถย่อความให้สั้นๆ พูดปุ๊บจำได้ปั๊บ เข้าใจความหมายว่าต้องการบอกอะไร ยิ่งดี เช่น “ส่งไวให้ถึงบ้าน” หรือถ้าเป็นอาหาร อาจเน้นสดใหม่ ถ้อยคำอาจบอกว่า “ไม่สด ไม่เสิร์ฟ”

3.จดจำลูกค้า – คำว่าจดจำในที่นี้ เริ่มตั้งแต่รู้จักจำหน้าตา ถ้าจำชื่อได้ยิ่งดี แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การจดจำพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า จำได้ ต้องทักทาย ลูกค้ามาก็ทักทาย เท้าความได้เกี่ยวกับการใช้บริการครั้งก่อนๆ ลูกค้ายิ่งชอบ รู้สึกหัวใจพองโตว่า ขนาดเจ้าของร้านยังจำเราได้ การมีใครจำได้ ทำให้รู้สึกเป็นคนสำคัญ มนุษย์อยากเป็นคนสำคัญด้วยกันทั้งนั้น

4.สร้างมูลค่าเพิ่ม – ควรหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของเรา ซึ่งวิธีสร้างมูลค่าเพิ่ม มีหลายวิธี การบริการที่ดีในรูปแบบต่างๆ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ดี การรับประกัน การเสนอเปลี่ยนสินค้าให้ทันที การติดตั้งให้ฟรี ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งสิ้น

5.ชี้แจงและเสนอไอเดียการใช้งาน – มี 2 อย่าง ที่ต้องควรทำควบคู่กันไป อย่างแรก คือการชี้แจงรายละเอียดคุณสมบัติต่างๆ ที่สินค้าสามารถตอบสนองได้ ข้อควรระวังในการใช้งาน ควรบอกกล่าวกันให้รู้ ไม่งั้นไปใช้เดี๋ยวเดียวพัง เคืองกันซะเปล่าๆ อย่างที่สอง การใช้งานสินค้าบางอย่าง สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ก็ควรบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ลูกค้าเกิดไอเดีย และอาจคิดต่อยอดไปได้อีก แต่ก็อย่าลืมบอกข้อควรระวังในการนำไปประยุกต์ใช้ด้วย