“ออมก่อน ไม่มีอด” แนะเทคนิค “ทุกเที่ยงวันให้หยิบแบงก์ใหญ่สุดในกระเป๋าออกไปเพื่อเก็บ”

“ออมก่อน ไม่มีอด” แนะเทคนิค “ทุกเที่ยงวัน ให้หยิบแบงก์ใหญ่สุดในกระเป๋าออกไปเพื่อเก็บ”     

จากงานเสวนาในหัวข้อ  “ออมก่อน ไม่มีอด” จัดโดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD  เมื่อเร็วๆ นี้  ดร.อภิชาติ  ประเสริฐ ผู้อำนวยการ OKMD กล่าวว่า เรื่องการออมมีความสำคัญมาก เป็นทั้งความรู้และทักษะที่คนสมัยใหม่ต้องเข้าใจ  ปัจจุบันคนไทยอายุโดยเฉลี่ยประมาณ  80 ปี  ซึ่งหมายความว่าเมื่อเราเกษียณอายุที่ 60 ปี เราจะมีเวลาอีก 20 ปี ซึ่งบางคนอาจไม่ได้ทำงานต่อ อาจดำเนินชีวิตอยู่ด้วยเงินที่สะสมเก็บออมเอาไว้ในช่วงที่ทำงานอยู่ การออมเงินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนาครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทุกวัย ทั้งวัยที่กำลังมีรายได้ วัยใกล้เกษียณ และวัยที่เกษียณแล้วซึ่งมีเงินจำกัด เพื่อให้มีแนวทางบริหารจัดการเงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตดีไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต

ดร.อภิชาติ กล่าวต่อว่า การออมเป็นพฤติกรรม  เป็นระเบียบวินัยของชีวิต ต่างประเทศให้ความสำคัญและมีการฝึกเด็กให้ออมเงินตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งในไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมัยยังทรงพระเยาว์  สมเด็จย่า ท่านทรงให้ออมทุกเดือน เอาเงินใส่กระปุกออมสิน ใช้เงินในสิ่งจำเป็นต้องใช้ ส่วนที่ไม่จำเป็นจะเก็บใส่กระปุกออมสิน เมื่ออยากจะทำอะไรที่พิเศษขึ้นมา ต้องมาดูว่าเหลือเงินเท่าใด  เหมาะหรือไม่ พอหรือไม่  หากมีพอและไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ซึ่งเป็นแนวของเศรษฐกิจพอเพียง คืออยู่ได้ในส่วนตัวเองจำเป็นต้องใช้  แต่ไม่เกินความสามารถที่จะจัดการตัวเองได้ในอนาคต  ซึ่งปัจจุบันนับเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เนื่องจากมีเครื่องมือทางการเงินจำนวนมาก มีสินค้า มีการตลาดกระตุ้นให้ผู้คนพยายามใช้เงินในอนาคตที่เราไม่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเงินผ่อนปลอดดอกเบี้ย จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าควรจะใช้หรือไม่ใช้ ระเบียบวินัยทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

“OKMD  มองเรื่องเงินออมออกเป็น 2 เรื่อง คือ การลดรายจ่าย และการเพิ่มรายได้  พยายามจัดการความรู้เพื่อสนองกับวิถีชีวิต ส่งเสริมให้ประชาชนทุกวัยมีความรู้และทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติม ให้สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีเงินเก็บออม โดยจะจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเสริมให้ฟรีทุกเดือน ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัย สวนลุมพินี เดือนละ 2 ครั้ง” ดร.อภิชาติ กล่าว

ด้าน คุณกริช เศรษฐนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงิน ให้คำปรึกษาการวางแผนการเงินส่วนบุคคล กล่าวว่า การออมเป็นเรื่องใกล้ตัวคนเรา ปัจจัยการออมเงินมี 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. เงินต้น 2. ผลตอบแทน 3. เวลา โดยปัจจัยด้านเงินต้น และปัจจัยด้านผลตอบแทนสามารถหาเพิ่มได้  แต่ปัจจัยด้านเวลา ไม่สามารถเพิ่มได้ เพราะ 1 วันที่ผ่านไปคือการใกล้วันตายอีก 1 วัน  ทิ้งเป้าหมายไปอีก 1 วัน เพราะฉะนั้น การออมเร็วคือสิ่งที่ได้เปรียบที่สุด ควรเริ่มออมทันทีเมื่อมีรายได้ ไม่ว่าเงินได้ก้อนแรกจะไม่มากก็ตาม

ส่วนหลักการคิดในการออมเงินมีความแตกต่างกัน ที่ใช้กันมาดั้งเดิม คือ การหักเงินรายได้เพื่อออมไว้ก่อนจ่ายเรื่องอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ในขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ มีความรู้สึกว่าการมีเงินรายได้เหลืออยู่ในบัญชีธนาคาร ก็เป็นการออมในเบื้องต้นแล้ว แปลว่าเริ่มเงินออมแล้ว  ลักษณะของการออมที่ดีจะต้องมีความสมดุลกับความสุขทุกช่วงชีวิต โดยการใช้วิธีการวางแผนทางการเงินเข้ามาช่วย เพราะหากการออมเพื่ออนาคต แต่ต้องใช้ชีวิตอย่างติดขัด ยากลำบาก ไม่มีความสุข จะมีโอกาสท้อใจ และจะทำให้การออมไม่บรรลุผลสำเร็จ

สำหรับวิธีการวางแผนทางการเงินเพื่อการออมให้มีความสุขทุกช่วงชีวิต ทำได้โดยให้วิเคราะห์รายจ่ายจำเป็นจริง อันดับแรก เช่น เรื่องปัจจัย 4 คืออาหาร  การผ่อนที่พักอาศัย  เครื่องนุ่งห่มเสื้อผ้า ยารักษาโรค และปัจจัยที่ 5 ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ซึ่งแต่ละคนมีต่างกัน เช่น ในกลุ่มผู้หญิงอาจจะเป็นเครื่องสำอาง  เพื่อสร้างความมั่นใจการใช้ชีวิต หรือในผู้ชายอาจต้องใช้อินเตอร์เน็ต เป็นต้น เมื่อนำเงินรายจ่าย 2 ส่วนนี้มาหักลบกับรายรับแล้ว  ก็จะเหลือเงินส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนที่เราต้องมาวางแผนเพื่อการออม และออมแบบตอบโจทย์ความสุขชีวิตทุกช่วงด้วย  ซึ่งลักษณะอย่างหนึ่งของประชาชนโดยทั่วไปแล้ว เวลาบริหารการใช้เงินจะบริหารแต่เรื่องจำเป็น เช่น เงินผ่อนค่ารถ ค่าบ้าน แต่จะไม่ค่อยบริหารเงินตอบโจทย์ชีวิตที่ตนเองต้องการ ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการใช้เงินส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม วิธีการวางแผนที่ดีและมีประสิทธิภาพ ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำก็คือ ต้องมีเป้าหมายการออมอย่างชัดเจนว่าจะไว้ทำอะไรบ้างในอนาคต และควรแยกบัญชีเงินที่จะออมออกเป็นเล่มๆ ไม่ควรรวมเงินออมอยู่ในสมุดบัญชีเล่มเดียวกับบัญชีรายรับหรือบัญชีเงินเดือน เพราะเราจะไม่สามารถรู้เป้าหมายแต่ละเป้าหมายว่าใกล้จะถึงหรือยัง  การแยกบัญชีจะช่วยทำให้สามารถควบคุมและมองเห็นเส้นทางเงินออมในแต่ละเรื่องให้บรรลุผลได้ตามที่ต้องการ

ทั้งนี้รูปแบบของการออมเงินในปัจจุบันนี้มีหลากหลาย มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว  เช่น อาจออมในรูปของการฝากธนาคาร การซื้อหุ้น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน สลากธ.ก.ส. การซื้อประกันชีวิต สามารถเลือกได้ตามความต้องการและเหมาะกับตนเอง โดยอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางอินเตอร์เน็ต หรือในงาน Money Expo ซึ่งมีจัดทั่วประเทศ

สุดท้าย เคล็ดลับ สำหรับผู้ที่มีรายได้ แต่ออมเงินไม่อยู่ ออมไม่ได้  หรือไม่รู้ว่าจะออมจำนวนเท่าไหร่  จะเริ่มออมตอนไหนดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงิน  แนะนำแนวทางการเริ่มต้นเก็บออมและทำให้การออมประสบผลสำเร็จ ก็คือการมีวินัย  ต้องมีวินัยในการทำกิจกรรม อาทิ การมีวินัยกับตัวเองว่า ทุกเที่ยงวัน ให้หยิบแบงก์ที่ใหญ่ที่สุดในกระเป๋าสตางค์ ออกไปเพื่อเก็บออม หรืออาจใช้เทคนิคการจำลองหรือการสมมติ เช่น คนโสด ก็จำลองว่ามีลูกแล้ว  หรือคนที่มีลูกแล้ว 1 คน ก็ให้เสมือนว่ามีลูก 2 คน  ซึ่งการเลี้ยงเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเรียนจบและมีงานทำ จะใช้เงินประมาณคนละ 5 ล้านบาท  เงินที่จ่ายในส่วนของการจำลองนี้ ก็คือเงินออมนั่นเอง