หอการค้า วาดอนาคต “บึงกาฬ” งบพันล้านผุดเมืองยางพารา

หอการค้าบึงกาฬ

หอการค้า วาดอนาคต “บึงกาฬ” งบพันล้านผุดเมืองยางพารา

กว่า 7 ปีที่จังหวัดบึงกาฬก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการพัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อน โดยภาพรวมของจังหวัดบึงกาฬ ณ ขณะนี้ คือศูนย์กลางการปลูกยางพารามากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนพื้นที่ 1,200,000 ไร่ มีเกษตรกรยึดอาชีพนี้ราว 50,000 ครอบครัว หรือ 200,000 คน ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในจังหวัด

คุณเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจาก คุณเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ คนที่ 4 นับแต่ก่อตั้งจังหวัด ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล คิดแผนพัฒนาบึงกาฬอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้ต่อสู้กับปัญหายางพาราที่ปรับลดลง รวมทั้งแผนโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมทั้งระบบอากาศไปจนถึงระบบราง โดยพร้อมผลักดันให้แผนทั้งหมดเกิดขึ้นจริงในอนาคต

ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เผยถึงแผนการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราว่า การพัฒนาเริ่มตั้งแต่แผนก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราครบวงจร และโรงงานทำน้ำยางข้น รวมทั้งหมด 5 แห่ง ผลิตหมอน ที่นอน ยางแผ่นรมควัน ผลิตยางลูกขุน ฯลฯ ภายใต้งบประมาณ 243 ล้านบาท ตั้งอยู่ในอำเภอเซกา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในมีนาคม 2562

โครงการต่อมา คือรับรองคุณภาพน้ำยางข้นตามมาตรฐาน FSC เพื่อสร้างมาตรฐานรับรองสวนยาง หากได้รับจะสามารถส่งขายยางพารา และไม้ยางไปยังต่างประเทศได้ด้วย

และโครงการสุดท้าย คือการผลิตยางแห้งคุณภาพสูงต่อเนื่องและรวดเร็วด้วยเทคนิคอัดรีดสกรูคู่ เป็นเทคนิคผลิตยางแห้งคุณภาพสูง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดสูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดปัญหามลภาวะทั้งกลิ่นและควัน

ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เผยต่อว่า หากทุกอย่างสำเร็จและสัมฤทธิผล บึงกาฬจะเหมือนบ้านจัดสรรพร้อมอยู่ เพราะมีพื้นที่มินินิคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งถนน ระบบไฟฟ้า ประปา มีวัตถุดิบจากโรงงาน 5 แห่ง และอีก 8 โรงงานใน 8 อำเภอมาสนับสนุน จะสามารถรองรับผลผลิตได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของทั้งจังหวัด

“ถ้านักลงทุนสนใจ เช่น อยากผลิตรองเท้าบู๊ต แค่มีเงินทุนกับโนว์ฮาว คุณมาลงทุนทำในพื้นที่ตรงนี้ได้เลย เพราะพร้อมหมดทุกอย่าง ทั้งเรื่องกฎระเบียบ ผังเมือง ความเข้าใจของชาวบ้าน”

ทั้งนี้ ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานยังรวมไปถึงการพัฒนาระบบคมนาคม ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เผยว่า ได้มีการของบประมาณสำหรับศึกษาความเหมาะสมเพื่อศึกษาเส้นทางสร้างสนามบิน ซึ่งได้กันพื้นที่ในอำเภอเมืองไว้แล้วราว 4,700 ไร่

รวมไปถึงแผนสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินปี 2565 และแผนศึกษาความเหมาะสมระบบรางเพื่อเชื่อมโยงไปยัง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดบึงกาฬ หากแล้วเสร็จจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของสินค้าทุกชนิด

“บึงกาฬจะเป็นปากซอย เพราะเรามีนิคมอุตสาหกรรมที่ช่วยแปรรูปสร้างมูลค่าของผลผลิตยางพารา มีระบบรางที่สามารถลดต้นทุนการผลิต มีสนามบินช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นำนักท่องเที่ยวเข้าบึงกาฬ” คุณเจตน์ กล่าว

และหากโครงการทั้งหมดเกิดขึ้น สิ่งที่เราคาดหวังคือ ราคายางเพิ่มขึ้น 1 บาท ต่อกิโลกรัม จะทำให้บึงกาฬมีเงินเข้าจังหวัด 200 ล้านบาท ต่อปี สมมติสามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพาราได้ 10 บาท เงินจะเข้าจังหวัด 2 พันล้านบาท คุณเจตน์ ทิ้งท้าย

สนใจท่องเที่ยวและดูการลงทุนของจังหวัดบึงกาฬได้ที่งาน วันยางพาราจังหวัดบึงกาฬ ประจำปี 2562 วันที่ 13-19 ธันวาคม 2561 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ