เปิดต้นแบบร้านโชห่วย พร้อมเคล็ดลับ ทำยังไงให้อยู่รอด

ต้นแบบร้านโชห่วย
ต้นแบบร้านโชห่วย

เปิดต้นแบบร้านโชห่วย พร้อมเคล็ดลับ ทำยังไงให้อยู่รอด

ตั้งแต่สมัยก่อนแล้วที่คนไทยเริ่มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า นำผักปลามาวางขายกันอย่างเรียบง่าย ไม่ได้มีหน้าร้านชัดเจน เพียงตั้งขายเป็นครั้งคราวบนโต๊ะไม้ธรรมดา แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนรูปแบบร้านได้ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ให้ครบวงจรมากขึ้น จำหน่ายสินค้าสารพัดสิ่ง ที่เราให้คำจำกัดความกันว่า ร้านโชห่วย มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า ร้านขายของชำ หรือร้านสะดวกซื้อ นั่นเอง

แต่เพราะร้านโชห่วยในปัจจุบันไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงอีก ทำให้จำนวนร้านโชห่วยที่เคยเปิดหนาแน่นเหลือเพียงไม่กี่ร้าน

อั้ยยะ มาร์เก็ต (I-YA MARKET) ร้านโชห่วยจากจังหวัดสุรินทร์ ต้นแบบร้านโชห่วย 4.0 ครบวงจร จากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาร้านค้าปลีกทายาทโชห่วย…โชว์เสน่ห์ ปี 2561 ที่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  จัดขึ้น โดยมี คุณยะ-วัชระ แพ่งศรีสาร เป็นเจ้าของร้าน

 

“ร้านนี้เปิดมาได้เพียงหนึ่งปี แต่ก่อนผมเป็นพนักงานบริษัท ทำงานจนไม่มีเวลาดูแลครอบครัว พี่ชายเลยชวนกลับบ้าน เสนอไอเดียให้เปิดร้านที่จังหวัดสุรินทร์ เพราะจะได้ดูแลร้านและดูแลพ่อแม่ด้วย” คุณยะ เล่าที่มา

 

 

ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน บริเวณรอบมีทั้งโรงเรียน หน่วยงานราชการ วัด และสถานที่สำคัญ รูปแบบร้านเน้นแตกต่างจากโชห่วยร้านอื่นๆ เพิ่มความทันสมัย เช่น ใช้เครื่องคิดเงิน POS

“ให้ทำแบบร้านโชห่วยเดิมผมทำได้นะ แต่ผมมองว่าถ้าเปิดเหมือนร้านอื่น เราจะไม่ได้ฐานลูกค้าในชุมชนนั้นๆ สินค้าที่ขายในร้านต้องตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าอยู่ในย่าน มีทั้งอุปโภคบริโภค ขนม เครื่องดื่ม เนื้อแช่แข็ง และนำผลผลิตในชุมชนมาวางจำหน่าย เช่น ตะกร้าหวาย ผลไม้ เมื่อชุมชนมีรายได้ ชาวบ้านจะกลับมาซื้อของที่ร้านเราเอง” คุณยะ เล่า

ร้านก่อนเข้าร่วมโครงการ
ร้านก่อนเข้าร่วมโครงการ

 

เพราะต้องการพัฒนาร้าน และเรียนรู้แผนการตลาดใหม่ๆ คุณยะจึงเข้าร่วมโครงการพัฒนาร้านค้าปลีกทา    ยาทโชห่วย…โชว์เสน่ห์ ปี 2561 จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

และบอกอีกว่า รูปแบบร้านก่อนเข้าร่วมกิจกรรม แต่เดิมขนาดไม่ใหญ่มากพื้นที่กว้างเพียง 4 เมตร ยาว 12 เมตร หลังเข้าร่วมโครงการขยายร้านให้ลึกขึ้น กว้างขึ้น ติดแอร์ เพิ่มที่นั่งทั้งภานนอกละภายใน ซึ่งได้รับการออกแบบจากทีมเต๊กพาณิชย์ การตกแต่งร้านเพิ่มเรื่องความสะอาด แสงสว่าง เพิ่มเครื่อง POS และรถเข็น

“กระแสตอบรับจากลูกค้าดีขึ้น หลายเสียงบอกว่า ร้านกว้างขึ้นโอ่โถงขึ้น เดินแล้วรู้สึกไม่อึดอัด”

 

ร้านหลังเข้าร่วมโครงการ

 

ร้านหลังเข้าร่วมโครงการ
ร้านหลังเข้าร่วมโครงการ

เคล็ดลับการขาย คุณยะ บอกว่า สร้างความเป็นกันเองกับลูกค้า มีบริการดีลิเวอรี่ ส่งละแวกใกล้ร้าน เช่น วัด โรงเรียน ไม่ได้คิดค่าส่ง อาศัยว่าช่วยเหลือกันในชุมชน

นอกจากนี้ยังศึกษาความรู้ในอินเตอร์เน็ต บริหารสต็อกสินค้า สังเกตแผนการตลาดของร้านใกล้เคียง เช่น การจัดโปรโมชั่น แต่จัดให้ร้านเราอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ แฮปปี้ทั้งสองฝ่าย ไม่จำเป็นต้องเป็นของชิ้นใหญ่ แต่เป็นของที่ได้รับแล้วลูกค้าดีใจก็พอแล้ว

การเพิ่มมูลค่าก็เป็นสิ่งสำคัญ เจ้าของร้านหนุ่ม บอกว่า สมมติต้นทุนตันแล้ว แต่อยากเพิ่มราคา เพื่อให้ร้านอยู่ได้ ยกตัวอย่าง โค้กขายปกติราคาประมาณ 20 บาท หากนำไปแช่เป็นโค้กวุ้นสามารถเพิ่มราคาได้แล้ว

“โชห่วยยังไม่ตาย ถ้าใจเราคิดว่าสู้ไม่ไหวแบบนั้นเราตายแน่นอน เพราะใจมันไม่สู้ มันท้อ แต่ถ้าเปิดใจว่าจะสู้ จะเกิดพลังขึ้นมาเอง” คุณยะทิ้งท้ายก่อนจาก