ผู้เขียน | กนกพร หมีทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นที่คุ้นตากันดีสำหรับผ้าผืนบางลายตารางที่เรียกกันว่า “ผ้าขาวม้า” มีมาแต่สมัยโบราณ ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายเสียมากกว่า ในแต่ละพื้นที่ของไทยมีการทำผ้าขาวม้ากันแพร่หลายรวมถึง จังหวัดบึงกาฬ เหนือสุดแดนอีสานที่นอกจากจะมียางพาราแล้ว ก็ผ้าขาวม้านี่แหละสินค้าขึ้นชื่อ
ไป บึงกาฬ ครั้งนี้ ไม่พลาดแวะ กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 91 หมู่ 2 บ้านสะง้อ ตำบลหอคำ อำเภอเมือง เมื่อไปถึง คุณสมพร แสงกองมี อายุ 60 ปี ทายาทรุ่น 2 ออกมาต้อนรับอย่างดี พร้อมเริ่มบทสนทนาถึงที่มาของผ้าขาวม้าดารานาคีให้ฟังว่า ผ้าขาวม้าเป็นกิจการตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดย คุณพ่อไล และ คุณแม่แว่น คำพุทธา เริ่มทำตั้งแต่ปี 2542 ล้มลุกคลุกคลานกับเพื่อนจัดตั้งกลุ่ม 12 คน ผลิตผ้าขาวม้าลายตารางดั้งเดิม
กระทั่งปี 2560 คุณพ่อไลและคุณแม่แว่นวางมือ เธอกับสามี (คุณดารา แสงกองมี และลูกสาว คุณแยม-สุพัตรา แสงกองมี อายุ 23 ปี ทายาทรุ่น 3) เข้ามาสานต่อกิจการ ยกระดับและพัฒนาเป็นผ้าขาวม้าหมักโคลนธรรมชาติที่รู้จักในนาม “ผ้าขาวม้าดารานาคี”
จากเคมีสู่ธรรมชาติ
“หลังรับมรดก แม่นำผ้าขาวม้าไปขายตามงานแสดงสินค้า มองไปทางไหนเหมือนกันหมด เลยคิดว่าต้องเปลี่ยน ต้องฉีกแนวหาเอกลักษณ์ให้ตัวเอง หาสิ่งที่ชุมชนมีซึ่งก็คือธรรมชาติ”
คุณสมพรในวัย 60 ปี เริ่มศึกษาวิชาจากคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่มีภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมว่าสมัยก่อนใช้อะไรย้อมผ้า จากที่นำเปลือกไม้มาแช่น้ำ 7 คืนให้ออกสี กว่าจะนำไปย้อม รวมๆ แล้วเป็นเดือน ระยะเวลานี้นานพอสมควร เธอจึงหาวิธีใหม่ด้วยตัวเอง นำโคลนทุกบ่อมาทดสอบจนได้สีที่ต้องการ
ตั้งชื่อโคลนนาคีเพราะอยู่ในจุดที่เกิดบั้งไฟพญานาค โคลนบ่อนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีประวัติยาวนาน สมัยก่อนเป็นทางเดินของสัตว์ พวกวัว ควาย ช้าง กระทิง ฯลฯ ลงมากินน้ำจากแม่น้ำโขงเดินจนเป็นร่องนับพันปี
โคลนนาคีมีคุณสมบัติช่วยให้ผ้านุ่ม สีเด่นชัด ซึ่งกระบวนการหมักโคลน จะต้องย้อมสีฝ้ายก่อน ด้วยสีจากธรรมชาติ คือ หมากค้อเขียว ชมพู่มะเหมี่ยว ราชพฤกษ์ ได้สีโคลนหรือสีเทา และสีน้ำตาลอ่อนได้จากปูนกินหมาก จากนั้นจะนำไปหมักโคลนก่อนทอเป็นผืนอย่างที่เห็นนั่นเอง
“จุดแข็งของเราคือ มีอากาศที่ดี อยู่ในจุด 3 สุดคือ สุดสะดือแม่น้ำโขง อยู่เหนือสุดแดนอีสานบ้านสะง้อ และตั้งอยู่บริเวณพระพันปีที่เก่าแก่ที่สุด ย้อมที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้านสะง้อที่ตั้งอยู่เหนือสุดแดนอีสาน” คุณสมพร เล่าอย่างภูมิใจ
สร้างเอกลักษณ์ ครีเอตลายร่วมสมัย
ด้วยพื้นฐานการตัดเย็บที่มี คุณสมพรเพิ่มเอกลักษณ์ทางลวดลายให้กับผ้าขาวม้า จากรุ่นยายที่คงเอกลักษณ์ผ้าขาวม้าลายตารางท่ากัน มารุ่นเธอได้เปลี่ยนเอกลักษณ์ใหม่คือตารางไม่เท่ากันสักผืนสักลาย
“ไม่มีคำว่าผิดถูกกับงานของแม่ ลายไม่เท่ากันยังไม่มีใครทำ ทุกงานที่ออกแบบแม่และน้องแยมจะช่วยกันตั้งชื่อสร้างสตอรี่ให้กับงาน ปัจจุบันออกแบบไว้ 12 ลาย”
ได้แก่ ลายผู้ว่า แรงบันดาลใจจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นจุดเริ่มต้นของผ้าขาวม้าหมักโคลนนาคี ลายสองฝั่งโขง เล่าถึงบ้านสะง้อหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางอ้อมกอดแห่งขุนเขา สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำโขง ลายตายาย ถักทอความรักยืนยาวเหนือกาลเวลาควรค่ามอบให้แก่คนที่คุณรัก ลายปทุมทิพย์ ลายผู้เป็นที่รักของเทวดาทั้งปวง ลายนิมิต คิดหวังสิ่งใด ดั่งใจปรารถนา ลายสองพี่น้อง พี่น้องคือของขวัญอันล้ำค่าที่พ่อแม่ได้มอบให้ ลายรุ่งโรจน์ มีชีวิตรุ่งโรจน์เจริญรุ่งเรืองตลอดปีตลอดไป ส่วน ลายคุณนาย ลายชลดา ลายธิดานาคี และลายนารีสีสวย กับลายเก๋ไก๋ เป็นลายพิเศษเฉพาะเทศกาล
“แม่นำสินค้าไปขายอีกครั้ง ปรากฏว่าขายหมดก่อนเริ่มงาน งานที่สองคืองานพัฒนาผ้าไทย นำผ้าไป 200 กว่าผืน สรุปว่าขายหมด เป็นที่ฮือฮาในจังหวัด งานที่ 3 เมืองทองธานีมี 3,000 บู๊ธ ไม่มีใครเหมือน ขายหมดเกลี้ยงอีกเหมือนกัน”
แปรรูปเพิ่มมูลค่า
กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
นอกจากพัฒนามาเป็นผ้าผืนลายอันมีเอกลักษณ์แล้ว คุณสมพรทายาทเจน 2 ยังนำผ้าขาวม้ามาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสูงถึงหลักพัน
“แม่นำผ้ามาแปรรูปเป็นสินค้าหลายอย่าง ทั้งชุดเดรส ชุดเป็นเซต หมวก ของชำร่วย กระเป๋า ซองใส่โทรศัพท์ ที่ใส่พวงกุญแจ ผ้าเช็ดมือ ผ้ามัดผม ฯลฯ ผ้าทุกชิ้นนำมาใช้ประโยชน์หมดไม่มีเหลือทิ้ง”
ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบบาท ไปจนถึงหลักพันบาท เช่น กางเกงเสื้อคลุม ชุดเดรสออกแบบและตัดเย็บเองประมาณ 2,000 บาท ออร์เดอร์มาจากทั่วประเทศ ได้จากออกบู๊ธ จากออนไลน์ที่คุณแยมทายาทเจน 3 เป็นคนดูแลช่องทางนี้ซึ่งยังไม่ได้เปิดเต็มตัว จากแต่ก่อนทอเดือนละ 50 ผืน ปัจจุบัน 600 ผืน
ด้วยจำนวนออร์เดอร์มากมาย เกิดเป็นรายได้ให้กับคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ คุณสมพร บอกว่า ชาวบ้านที่มาทอผ้าอยู่ในอำเภอศรีวิไล อำเภอโซ่พิสัย และอำเภอเมือง เมื่อก่อนเป็นงานเสริม ปัจจุบันเป็นงานหลัก ทำคนละหน้าที่ ปั่นหลอด คนค้น ทอ ย้อม เย็บ หาวัตถุดิบ ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งทำทุกหน้าที่ ไม่งั้นงานไม่เดิน
“บ้านหลังนี้ครบวงจร เป็นทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เทียบกับที่อื่นยังเล็กมาก แต่เราใหญ่ในชุมชน แต่ก่อนไม่มีใครทำเลยเชื่อมั้ย แม่จะดีใจทุกครั้งที่ได้ยินเสียงกี่ดังไปทั่วชุมชน เป็นความสำเร็จของแม่ที่มากระทุ้งให้เสียงกี่ดังขึ้นมาอีกครั้ง”
ทั้งนี้ กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ ยังเปิดให้กลุ่มผู้สนใจมาศึกษาดูงาน ดูการสาธิต ตั้งแต่การปั่นหลอด ทอผ้า การย้อม การหมักโคลน เวิร์กช็อปทำพวงกุญแจรับกลับบ้านได้เลย ค่าหัวคนละ 50 บาท ไม่จำกัดจำนวนคน มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ หรือแรลลี่ได้เหมือนกัน
“1 ปีที่ผ่านมาขับเคลื่อนได้ดีมาโดยตลอด ใครบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ของเราก็ยังขายได้ ของดีไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด เพราะไม่ซ้ำกับใคร เป็นเจ้าแรก” คุณสมพรผู้เปลี่ยนวงการผ้าขาวม้าบึงกาฬให้คึกคัก กล่าวทิ้งท้าย
สามารถชมความสวยงามของผ้าขาวม้าดารานาคีได้ที่ เฟซบุ๊ก Daranakee ผ้าขาวม้าดารานาคี ทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ หมักโคลนนาคี 100 เปอร์เซ็นต์ โทรศัพท์ (084) 408-2865 หรือ (095) 664-7134 หากสะดวกอยากแวะเวียนไปดูการผลิต ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 91 หมู่ 2 บ้านสะง้อ ตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
พบกับผ้าขาวม้าดารานาคีได้ที่งานวันยางพาราจังหวัดบึงกาฬ ประจำปี 2562 วันที่ 13-19 ธันวาคม 2561 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ