“ปลาร้า-ปลาส้ม-เสื่อทอ” อาชีพเสริมของชาวบึงกาฬ รายได้ดี มีออร์เดอร์ทั่วประเทศ

“ปลาร้า-ปลาส้ม-เสื่อทอ” อาชีพเสริมของชาวบึงกาฬ รายได้ดี มีออร์เดอร์ทั่วประเทศ

จังหวัดบึงกาฬ อยู่เหนือสุดแดนอีสาน เป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกยางพารา ทำไร่ทำนา และทำประมงน้ำจืด

วันนี้ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” มีโอกาสได้เดินทางมาที่ชุมชนท่องเที่ยว หมู่บ้านท่าลี่ ตำบลโซ่พิสัย ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดบึงกาฬ

บ้านท่าลี่ มีอีกชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่า บ้านหลี่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสงคราม แม่น้ำสายสำคัญของภาคอีสาน อีกทั้งโดยรอบหมู่บ้านมีหินลักษณะเป็นช่องลอดของน้ำ ที่เรียกกันว่า หลี่ นอกจากจะเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านแล้ว ความสวยงามของธรรมชาติโดยรอบ ยังเป็นแหล่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านด้วย

อาชีพหลักของชาวบ้านที่หมู่บ้านท่าลี่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ค้าขาย ทำประมง และทำสวนยาง เมื่อว่างจากการทำอาชีพหลักจึงรวมตัวกันทอผ้า สาดเสื่อกก สานยอ และแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในชุมชน

เนื่องจากชุมชนอยู่ติดกับแม่น้ำ ผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้านท่าลี่ จึงเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลา อย่าง ปลาร้าปลาส้ม และเสื่อกก นอกนั้นเป็นผ้าทอ แจ่วบอง และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นอย่าง กล้วยฉาบ

เราได้พูดคุยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เด่นของที่บ้านท่าลี่กับ คุณยายยุ่น ผุยแพง อายุ 71 ปี ประธานกลุ่มปลาร้าปลาส้ม โดยยายยุ่น เล่าให้ฟังว่า

ตนนั้นทำปลาร้าปลาส้มขายมาได้ 40 กว่าปี ตั้งแต่สมัยสาวๆ ได้รับการถ่ายทอดสูตรหมักปลาร้า ปลาส้มมาจากที่บ้าน ปลาที่ใช้เป็นปลาที่หาทำขายมาเรื่อยๆ จนเมื่อปี 2547 ทางหมู่บ้านได้คิดก่อตั้งกลุ่มขึ้น มีตนเป็นประธานกลุ่ม ลูกค้าที่มาซื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นคนในละแวกหมู่บ้าน รองลงมาเป็นนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ รายได้ถือว่าพออยู่กันได้ไม่ขัดสน

เมื่อมาถึงที่แล้ว จึงขอตามไปดูวิธีการหมักปลาร้า ปลาส้ม กันที่บ้านคุณยาย แต่ไม่สามารถดูวิธีการหมักปลาร้าปลาส้มได้ เพราะคุณยายบอกว่า หมักเสร็จไปก่อนที่เราจะไปเพียงไม่กี่วันเท่านั้นเอง

เมื่อเข้าไปถึงหน้าบ้านคุณยายยุ่น เอกลักษณ์ของปลาร้า อย่าง “กลิ่น” โชยตามลม หากแต่กลิ่นไม่แรงจนเหม็นอย่างที่เคยเจอ ด้วยความสงสัย จึงถามไปว่า “ทำไมกลิ่นมันไม่แรงเลยล่ะคะ?” คุณยายยิ้มกว้าง แล้วตอบกลับมา “ยายทำสะอาด กลิ่นมันเลยไม่เหม็นไงหนู”

เดินเข้ามาถึงใต้ถุนบ้าน เห็นโอ่งหลายสิบใบวางอยู่ ปากโอ่งคลุมด้วยพลาสติกอย่างดี คุณยายใจดีเปิดโอ่งให้ดูกันเลยทีเดียว มีแต่ปลาตัวอ้วนๆในน้ำหมักเต็มโอ่งไปหมด

คุณยายอธิบายว่า ต้องเลือกปลาที่มีขนาดพอเหมาะ ไม่ควรใช้ปลาตัวใหญ่เกินไป เพราะจะต้องใช้เวลาหมักนาน จากนั้น นำมาล้างน้ำทำความสะอาดสิ่งที่อาจปนมากับตัวปลาก่อน 1-2 น้ำ

นำปลามาขอดเกล็ดด้วยช้อนให้หมด ตัดก้านครีบ และเงี่ยงออก จากนั้นควักไส้ออกให้หมด ก่อนล้างทำความสะอาดอีก 2-3 น้ำ แล้วพักปลาให้สะเด็ดน้ำ ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ซึ่งการพักปลานั้น จะทำให้การหมักไม่เหม็นเน่า จากนั้นนำปลาที่ล้างแล้วใส่ลงถัง พร้อมเติมเกลือ ข้าวคั่วหรือรำข้าว และน้ำอุ่น ก่อนจะคลุกผสมกันให้ทั่ว แล้วเทใส่โอ่ง ก่อนจะรัดปิดให้แน่น พร้อมหมักทิ้งไว้ในร่ม 6-10 เดือน หรือมากกว่าตามขนาดของปลาที่ใช้ เท่านี้เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

เราจึงลองถามเล่นๆ ว่า “ปลาร้ายายโอ่งหนึ่งนี่ มูลค่ากี่บาทจ๊ะ?”

“โอ่งหนึ่งก็เป็นหมื่นน่ะอีหนู” คุณยายยุ่น ตอบกลับมาด้วยเสียงแกมหัวเราะ

ราคาขายจะแบ่งขายเป็นกิโลกรัม โดยปลาส้ม ขายในราคา 120 บาท ส่วนปลาร้าจะขายเป็น ปลาร้าขนาดใหญ่ 120 บาท และปลาร้า ขนาดเล็ก 3 กิโลกรัม 100 บาท

จากนั้นจึงเดินไปที่ลานหมู่บ้าน ที่เอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว เห็นหญิงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งกำลังนั่งทอผ้าไป คุยกันไปท่าทางสนุกสนาน แต่เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จึงเห็นว่ากำลังทอเสื่อกันอยู่

จึงพูดกับหญิงกลุ่มนั้นว่า “เหมือนทอผ้าเลยนะคะ”

“ทอเสื่อจ้ะ วิธีคล้ายกันแต่วัสดุไม่เหมือนกัน” หญิงคนหนึ่งตอบกลับมา ซึ่งได้รู้ทีหลังว่าเธอคือ คุณนันทวรรณ ทามเกลือ ประธานกลุ่มทอเสื่อกก วัย 43 ปี

คุณนันทวรรณ เล่าให้ฟังว่า มีอาชีพหลักของเธอ คือ รับจ้างกรีดยาง รายได้อยู่ที่หลักหมื่น เมื่อว่างจากการรับจ้างกรีดยาง จึงมาทอเสื่อกก

“เริ่มทอเสื่อตั้งแต่เด็กๆ เห็นพ่อแม่ทำก็ทำด้วย จนตอนนี้ก็ทอมาได้ร่วม 40 ปีแล้ว ทอได้วันละหนึ่งผืนเล็กๆ ตกเดือนละ 30 – 40 ผืน มีตั้งแต่ขนาด 60 80 และ 110 เซนติเมตร ราคาเริ่มต้นที่ 200 ทอเสร็จก็ขายอยู่ที่บ้าน คนแถวนี้เขาก็จะมาซื้อกัน รายได้เฉพาะการทอเสื่อกก อยู่ที่หลักพันต่อเดือน”

นอกจากนั้นก็รับจ้างเย็บเสื่อกก ประกอบเสื่อเข้าด้วยกัน โดยราคาอยู่ที่ ผืนละ 40 บาท เย็บได้วันละ 10 ผืน รายได้ต่อวันจึงอยู่ที่ 300-400 บาท

ก่อนกลับคุณนันทวรรณยังแนะนำผลิตภัณฑ์เด่นอื่นๆ อย่าง ปลาแดดเดียว เสื่อกก ผ้าทอ ที่เป็นของขึ้นชื่อของหมู่บ้านท่าลี่ให้ได้ลองเลือกดูเลือกซื้อ และยังแนะนำโฮมสเตย์ให้ฟังคร่าวๆ ด้วย

โดยคิดราคา 150 บาท ต่อ 1 คน และ 1 คืน ห้องหนึ่งสามารถเข้าพักได้ 5 คน บางหลังเข้าพักได้ 7 คน  พร้อมทั้งมีกาแฟให้ในตอนเช้า ไม่จำกัดจำนวนคืนที่เข้าพักแต่อย่างใด

หากใครสนใจอยากเข้าพักโฮมสเตย์ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ (097) 005-9266 คุณอุสาห์ ลาภอาสา ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านท่าลี่

หรือสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน โทร (081) 974-5380 ปลาร้าปลาส้ม ยายยุ่น , (090) 336-2970 แจ่วบองป้าสีดา, (098) 107-9522 ผ้าซิ่น กลุ่มผ้าซิ่นไหม และ (097) 005-9266 กล้วยฉาบ พี่อุสาห์

 

เผยแพร่ครั้งแรก วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2561