เกษตรกรเพชรบูรณ์ คิดค้น “ซูเปอร์ตะบันน้ำ” อุปกรณ์ลดรายจ่ายที่ช่วยประหยัดเงินได้เป็นพัน!

เกษตรกรเพชรบูรณ์ คิดค้น “ซูเปอร์ตะบันน้ำ” อุปกรณ์ลดรายจ่ายที่ช่วยประหยัดเงินได้เป็นพัน!

เทือกเขาเพชรบูรณ์ มีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูงชัน ซึ่งอุปสรรคสำคัญในการจัดการน้ำบนพื้นที่สูง คือ การเข้าไม่ถึงน้ำของคนในชุมชน ไม่ว่าจะนำน้ำมาใช้อุปโภค หรือบริโภคก็ตาม เพราะต้นน้ำหรือแหล่งน้ำนั้น อยู่ต่ำกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ได้รับเชิญจากดีแทคไปดูโครงการ “พลิกไทย” ที่จัดโดยดีแทค ที่เชิญชวนให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหา และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

สามารถปฏิบัติได้จริง และสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้นที่ทำให้โครงการสามารถเป็นจริงได้ โดยคัดเลือก 10 แนวคิด และแนวคิด ซูเปอร์ตะบันน้ำ เป็น 1 ใน 10 โครงการ ที่ได้รับการต่อยอดสนับสนุนจากดีแทค

โดยเดินทางไปที่ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อไปดูการบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่สูง ด้วยเครื่องตะบันน้ำ

เครื่องตะบันน้ำ เป็นนวัตกรรมพื้นบ้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ ได้ร่วมกับชุมชนในหลายพื้นที่ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ดำเนินการพัฒนาตะบันน้ำในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ตอบโจทย์พื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมเบื้องต้นของตนเอง

ซึ่งได้ทดสอบเชิงประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับตะบันน้ำรูปแบบต่างๆ พบว่า ซูเปอร์ตะบันน้ำ ที่สมาคมเพื่อการอนุรักษ์ฯ ร่วมกับชุมชนประดิษฐ์ขึ้น มีประสิทธิภาพสูง สอดคล้องกับการใช้งานจริง  วัสดุที่ใช้สามารถหาได้ง่าย เช่น ถังแก๊สเก่า เหล็กฉาก เครื่องเชื่อมเหล็ก อีกทั้งยังสามารถเพิ่มแรงดันได้และมีความทนทาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพียง เครื่องละ 5,000 บาท ซึ่งเดิมทีเครื่องปั๊มน้ำแบบใช้น้ำมันดีเซล ค่าใช้จ่ายประมาณเครื่องละ 10,000 บาท แถมยังเสียค่าใช้จ่ายในการเติมเชื้อเพลิงอีกด้วย

เครื่องตะบันน้ำ สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง แต่อาศัยหลักการแรงดันน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ อีกทั้งยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.532 กิโลคาร์บอนต่อวัน หากใช้เครื่องตะบันน้ำในพื้นที่ 20 เครื่อง เป็นเวลา 1 เดือน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 319 กิโลคาร์บอน เท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 32 ต้น

และมีโอกาสได้สัมภาษณ์เกษตรกรท่านหนึ่ง ทราบชื่อคือ คุณวิไช ด้วงทอง เกษตรกรผู้ปลูกผักสวนครัวและข้าวโพด

เขาเล่าให้ฟังว่า ปัญหาหลักในการทำเกษตรในพื้นที่คือ การจัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำ โดยต้องใช้ปั๊มสูบน้ำขึ้นมา เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง แหล่งน้ำจะอยู่ตามสันเขาและพื้นที่ต่ำ

ที่ผ่านมาให้เครื่องปั๊มน้ำน้ำมันดีเซลสูบน้ำขึ้นมาเก็บไว้ในถัง มีค่าใช้จ่ายสูง ราคาขายพืชก็ไม่สูงมาก จึงไม่คุ้มทุน

เพื่อให้อยู่รอด จึงต้องการหาวิธีทำการเกษตรทางเลือกอื่นๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเคยเห็นสมาคมมาอบรมเรื่องตะบันน้ำ จึงสนใจและเข้าไปขอคำปรึกษาจนมีความเข้าใจว่าเครื่องตะบันน้ำทำงานอย่างไร และได้ตะบันน้ำมาทดลองใช้ 1 เครื่อง

“ผมมีพื้นที่อยู่บนเขาประมาณ 17 ไร่ ใช้เครื่องตะบันน้ำ 1 เครื่อง และมีโอ่งสำหรับรองรับน้ำที่ตะบันขึ้นมาอีก 5 โอ่ง ปลูกพวกพืชสวน 5 ไร่ มะขาม 2 ไร่ มันสำปะหลัง 3 ไร่ และข้าวโพดอีก 7 ไร่ ต้องใช้น้ำวันละ 2,000 ลิตร ค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเพื่อมาเป็นเชื้อเพลิงให้เครื่องสูบน้ำ ต่อเดือนมีค่าใช้จ่ายราวๆ 14,000-15,000 บาท แต่ก่อนผลผลิตมันไม่ได้เยอะเพราะมันไม่ค่อยมีน้ำ ก็ต้องเอาลงไปขายเอง เสียค่าน้ำมันค่าเดินทางอีก พอผมได้เครื่องตะบันน้ำมาทดลองใช้ 3 เดือน ก็ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ 3-4 พัน เงินที่เหลือ ก็เอามาใช้จ่ายในครอบครัว ซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตรเพิ่มเติม อีกทั้งพืชผลเพิ่มขึ้น คนอื่นๆ เขาต้องรอน้ำฝนกัน แต่ของผมไม่ต้องรอ มีผลผลิตขายให้พ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อผลผลิตเกือบทุกอาทิตย์ ทำให้มีรายได้ต่ออาทิตย์เกือบหมื่น ถือว่ารายได้ดีกว่าเดิมมาก” คุณวิไช กล่าว

เกษตรกรท่านใดสนใจซูเปอร์ตะบันน้ำ สามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ (สอพ.) ได้ที่อีเมล [email protected] หรือ [email protected] และเบอร์โทรศัพท์ (085) 269-4264

เผยแพร่ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2561