พาไปรู้จัก “ต้นคล้า” คนอีสานใช้สานกระติ๊บ สาวเจนวายดีไซน์โฉมให้ทันสมัย ถูกจริตคนรุ่นใหม่

พาไปรู้จัก “คล้า” ต้นไม้เนื้ออ่อน คนอีสานมักใช้สานกระติ๊บ ถูกสาวเจนวายดีไซน์โฉมให้ทันสมัย ใช้งานได้หลากหลาย ถูกจริตผู้หญิงยุคใหม่ ตระเวนออกบู๊ธขายตามงาน รายได้ดีกว่าเพื่อนที่ทำงานประจำ

ระยะหลังมานี้ ได้เห็นคนรุ่นใหม่หลายคน เรียนจบปริญญาตรี  มุ่งหน้าบ้านเกิด ยึดอาชีพของบรรพบุรุษ โดยตั้งใจว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า ของครอบครัวให้ก้าวล้ำไปอีก

เช่นเดียวกับ คุณพัชรพร แก่นนาคำ วัย 27 ปี ผู้ผลิตกระเป๋าคล้า จากอำเภอโซ่พิสัย  จังหวัดบึงกาฬ  เธอเรียนจบเทคโนโลยีสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  พอเรียนจบปุ๊บ ก็ไม่ได้ร่อนใบสมัครงานเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ แต่กลับมายึดอาชีพดั้งเดิมของครอบครัว นั่นคืองานหัตถกรรมจากคล้า

คล้า เป็นไม้เนื้ออ่อน ขึ้นเป็นกอ นำมาจักสานเป็นเสื่อ  แต่คนทางภาคอีสาน มักนำมาสานกระติ๊บ ซึ่งครอบครัวของคุณพัชรพร ก็สานกระติ๊บ เสื่อ กระเป๋า เป็นหลัก เมื่อเธอเข้ามาทำ ก็พยายามดัดแปลงรูปแบบให้ทันสมัย จับกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น อีกทั้ง เศษเล็กเศษน้อยของวัตถุดิบ ก็นำมาทำกระเป๋าใบเล็กๆ พวงกุญแจ  ราคาก็ถูกลง ซื้อง่ายขายคล่องขึ้น

งานที่คุณพัชรพร ทำอยู่นี้นับเป็นงานฝีมืออย่างยิ่ง เพราะต้นคล้าสดที่ตัดมา ต้องนำมาผ่านกรรมวิธีลอกเปลือก  และตากแดดอีกนานนับสัปดาห์ กว่าจะได้กระเป๋าหนึ่งใบ นั่งสาน 1-2 วัน และเย็บอีก 1 วัน ซึ่งงานเหล่านี้ก็เป็นงานที่เธอเห็นมาตั้งแต่เด็ก ผูกพัน และรักในงานเหล่านี้

“อยากจะสืบสานงานของครอบครัวค่ะ และเราเอง ได้ทำงานอยู่กับบ้านก็มีความสุขดี” เธอ ว่าอย่างนั้น

ในขณะที่เพื่อนๆ เมื่อเรียนจบส่วนใหญ่ก็หันไปเป็นพนักงานออฟฟิศ มีเงินเดือนประจำ ซึ่งเธอว่า “งานออฟฟิศ ก็อาจจะต้องเจอกับแรงกดดัน แต่งานนี้แม้ไม่มีเงินเดือนประจำ แต่เราทำของเราเอง รายได้ก็ดีกว่า เงินเดือนระดับปริญญาตรี เป็นเท่าตัว”

ส่วนช่องทางการจำหน่าย  เธอก็จะไปออกร้านโอท็อปกับหน่วยราชการ หรือออกอีเว้นต์ต่างๆ ก็พอขายได้เรื่อยๆ เรียกว่า รายได้อยู่ในระดับที่อยู่ได้  และโพสต์ขายผ่านโซเชียลบ้าง แต่การขายผ่านโซเชียล เธอว่าบางครั้งลูกค้าก็ระแวง เนื่องจากมีข่าวหลอกลวงกันเยอะ แต่คาดว่า หลังจากที่เผยแพร่ผ่าน เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ไป เธอน่าจะได้ลูกค้ามากขึ้น ซึ่งทีมงานเส้นทางเศรษฐีเองก็ยินดีสนับสนุน สินค้าพื้นบ้าน  งานหัตถกรรมของชุมชน เพื่อสืบสานงานฝีมือภูมิปัญญาของท้องถิ่นต่อไป

ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ในร้านของเธอที่ชื่อว่า มือดี นี้มีราคาตั้งแต่ 20 บาท ไปจนถึงหลักพัน อย่างกระเป๋า ก็ราคา ราว 800-2,500 บาท แต่นับว่าเป็นงานฝีมือมีคุณค่ามาก

ถามเธอว่า เธอคาดหวัง หรือตั้งเป้าหมายกับงานนี้ไว้อย่างไร เธอตอบว่า เธอก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้หวังร่ำรวยอะไรมากมาย แค่ให้อยู่ได้ ได้ทำงานที่รักไปเรื่อยๆ ก็เพียงพอแล้ว

และนี่เป็นหนึ่งเรื่องราว ความงดงามที่เราได้จากบทสนทนาดีๆ จากพื้นที่หนึ่งเล็กๆ ในจังหวัดน้องใหม่ของไทย ทื่ชื่อว่า บึงกาฬ

สนใจดูรายละเอียด เข้าไปดูได้ที่ เฟซบุ๊ก MUE DEE 

หรือโทร. 090-409-6575