“ก๊าแก่ว”ปลาหน้าตาประหลาด คนไทยเรียก “ท่องเที่ยวเกล็ดใหญ่” คนเวียดนามนิยมทำหม้อไฟ

“ก๊าแก่ว” คนไทยเรียก “ปลาท่องเที่ยวเกล็ดใหญ่” คนเวียดนามนิยมทำหม้อไฟ

อาหารของแต่ละภาคนั้นล้วนแตกต่างกันตามลักษณะภูมิประเทศที่เป็นตัวกำหนดพืชพันธุ์ธัญญาหารและ    ถิ่นอาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ ในประเทศเวียดนาม เมนูประจำถิ่นใต้ที่ขึ้นชื่อว่าโอชารสและยังเป็นของดีที่หาจากที่อื่นไม่ได้ นั่นคืออาหารที่ปรุงมาจากปลาชนิดหนึ่งที่มีหน้าตาประหลาด ด้วยมีลำตัวทู่ยาวเรียว มีชื่อในภาษาเวียด ว่า “ก๊าแก่ว” (Cá kèo) เป็นปลาประจำถิ่นในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ส่วนชื่อในภาษาไทยคือ “ปลาท่องเที่ยวเกล็ดใหญ่” หรือชาวจีนเรียกว่า “ปลาอั้งโกหลัน” ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกับปลาตีน มีถิ่นที่อยู่บริเวณทะเลสาบสงขลา ชาวใต้ตั้งชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลาท่องเที่ยว” เพราะว่า

ในช่วงฤดูน้ำหลากในราวเดือน 11 และ12 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนของทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ปลาท่องเที่ยว จะย้ายถิ่นจากที่ขุดรูอยู่บนพื้นทะเลสาบที่เป็นโคลนไปยังที่อยู่ใหม่ตามปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ชาวสงขลา จะจับไปต้มส้ม หรือทอดกิน พอเหลือรอดให้ได้ไปท่องเที่ยววางไข่ต่อไป

ส่วนชาวเวียดนามนิยมนำมาทำเป็นหม้อไฟ เรียกว่า “เหลาก๊าแก่ว” (Lẩu cá kèo) โดยจะนำหอมแดงกับกระเทียมสับลงไปเจียวในน้ำมันแล้วใส่สับปะรดและมะเขือเทศลงไปผัด เติมน้ำแล้วต้มให้เดือด เพิ่มรสเปรี้ยวของน้ำแกงด้วยใบส้มลม ภาษาเวียดเรียกว่า “ล้าแยง” (Lá giang) ซึ่งชาวลุ่มน้ำโขง ทั้งเวียด ขะแมร์ ลาว และไทย รู้จักนำมาใช้เพื่อให้รสเปรี้ยวในอาหาร ก็จะได้น้ำแกงเปรี้ยวๆ หวานๆ เติมน้ำปลาปรุงรส และใส่กระเทียมเจียวลงไปเยอะๆ

เมื่อน้ำแกงออกรสพร้อมแล้วก็จะใส่ปลาลงไปต้มในหม้อ ใส่ผักต่างๆ ได้แก่ หัวปลีซอย ผักบุ้งซอย สายบัว ออดิบ ถั่วงอก แต่ที่สำคัญมากจะขาดเสียมิได้คือ พรมมิ หรือ “เราดั๊ง” (Rau đắng) ที่ชาวเวียดกินกันเป็นผัก แต่ชาวไทยเพิ่งจะมาตระหนักในคุณค่าของพรมมิ สกัดเป็นยาบำรุงสุขภาพราคาแพง รสของน้ำแกงเปรี้ยวหวาน ผสานกับความขมของใบพรมมิเข้ากันดีค่ะ กินกับขนมจีน เวลากินจะคีบตัวปลาใส่ลงในจานน้ำปลาพริก แทะกินเอาเนื้อปลาเค็มๆ มันๆ

ชาวเวียดนาม ถือว่าเป็นอาหารบำรุงสุขภาพชั้นยอด นอกจากนี้ยังนำปลาท่องเที่ยวไปทอดจิ้มกินกับน้ำจิ้มมะขาม หรือนำไปย่างทาด้วยซอสพริกก็อร่อยมากค่ะ ในเวียดนามภาคใต้มีปลาท่องเที่ยวให้กินกันทั้งปีค่ะ