เมืองหงสา สปป.ลาว สวย สงบ อากาศดี แค่ 30 กม.จาก ต.ห้วยโก๋น จ.น่าน

เมืองหงสา สปป.ลาว สวย สงบ อากาศดี แค่ 30 กม.จาก ต.ห้วยโก๋น จ.น่าน

จะไปหงสา  เราบอกเพื่อน

หงสา ไหน พม่าเหรอเพื่อนถาม

ไม่ใช่ๆ   หงสา ที่ลาว จ้า  นั่นคือคำตอบ

หลายคนไม่รู้ว่า ห่างจากชายแดนไทย ที่ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน   ข้ามไปเพียง 30 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองหงสา  แขวงไซยะบุรี  สปป.ลาว (ผ่านด่านชายแดนน้ำเงิน เมืองเงิน ของ สปป.ลาว)

การเดินทาง 30 กม.ที่ว่านี้ก็สะดวกมากๆ ด้วยถนนลาดยางอย่างดี (ใน สปป.ลาว สภาพถนนมีผลมากต่อการเดินทาง) ดังนั้น ขับรถมาแป๊บเดียวก็ถึงเมืองหงสาแล้ว

โรงไฟฟ้าหงสา
โรงไฟฟ้าหงสา

ในเมืองหงสา ถนนหนทาง ดีกว่า ในเมืองอื่นๆ มาก ส่วนหนึ่งเป็นผลพลอยได้จากการตั้งขึ้นของโรงไฟฟ้าหงสา ที่เริ่มเปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีอัตราส่วนการถือหุ้น ดังนี้  รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว (Lao Holding state Enterprise-LHSE) ร้อยละ 20 , บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด ถือร้อยละ 40 และ  บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือร้อยละ 40

(กำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ MWs จำหน่ายให้การไฟฟ้าลาว100 เมกะวัตต์ หรือ 5.32% ของกำลังการผลิต ส่วน 1,473 เมกะวัตต์ หรือ 78.43% ส่งกลับไปขายที่เมืองไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

เมืองหงสา ตั้งอยู่ในหุบเขา อากาศเย็นสบายโดยเฉพาะช่วงปลายปี เป็นเมืองที่คึกคัก นับตั้งแต่มีโรงไฟฟ้าเข้ามา  เพราะนั่นหมายถึงการเกิดขึ้นของสาธารณูโภคต่างๆ รวมทั้งการจ้างแรงงาน

แรงงานส่วนหนึ่ง เข้าไปอยู่ในโรงไฟฟ้า และเหมืองถ่านหิน อีกส่วน กระจายตัวในภาคการเกษตร

จุดหนึ่งที่น่าสนใจและคาดว่าอีกไม่นานน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ต่อไปนั่นคือศูนย์เรียนรู้การเกษตรหงสาที่ก่อตั้งและดำเนินงานโดยโรงไฟฟ้าหงสา

ที่มาของการตั้งศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ คือเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การทำการเกษตร สำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิม อันเนื่องมาจากการทำเหมืองถ่านหินและก่อสร้างโรงไฟฟ้า  เมื่อย้ายออกมาแล้ว ทางโรงไฟฟ้า ก็ต้องหาที่อยู่ ที่ทำกิน และอาชีพให้ โดยมีหลักว่า ชีวิตความเป็นอยู่จะต้องไม่ต่ำไปกว่าเดิม และหากว่าจะพัฒนาให้ดีกว่าเดิมมากๆ ก็นับว่าประสบความสำเร็จ

คุณลิขิต  พงศ์พงัน  ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงไฟฟ้าหงสา จำกัด เผยว่าเดิมเกษตรกรที่นี่ ทำไร่ทำนา เป็นหลัก ทางศูนย์เรียนรู้การเกษตรแห่งนี้  ก็นำเสนอเทคโนโลยีการเกษตรกรใหม่ๆ พืชใหม่ๆ อันจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกร เช่น หันมาปลูกยางพารา  ปลูกไม้ผล ปลูกไม้แซมในร่องสวน ปลูกพืชระยะสั้น หรือพืชผักสวนครัวกันบ้างดีมั๊ย

จากนั้น ทางศูนย์ฯ ก็เดินหน้าทำตัวอย่างให้ดู ในพื้นที่ 120 ไร่  ดังนั้น จะเห็นกิจกรรมมากมายในศูนย์ฯ แห่งนี้

ไม่ว่าจะเป็นการปลูกกล้วยมะละกอสตรอว์เบอรี่สับปะรดมะเขือต้นหม่อนบนพื้นที่ที่จัดภูมิทัศน์อย่างสวยงามรวมทั้งการปลูกมะนาวในถังซีเมนต์ที่ได้ผลดี

ส่วนไม้ผล จะไปอยู่อีกโซนหนึ่ง มีทั้งทั้งมะม่วง ลิ้นจี่  รวมทั้งไผ่ยักษ์เมืองน่าน

คุณสำราญ รักษาทรัพย์ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เล่าว่า  พยายามทำเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านที่สนใจดู  รวมทั้งมีการอบรมถ่ายทอดความรู้กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หากใครไปดำเนินการแล้วมีปัญหาอะไรก็สามารถมาปรึกษาร่วมกัน 

ที่ผ่านมา ชาวบ้านเขาทำการเกษตรกันแบบตามมีตามเกิด แต่เรามาให้ความรู้เพิ่มเติม แนะนำว่า เราสามารถทำการเกษตรแบบพรีเมี่ยมได้นะ ปลูกไม้ผลที่ได้ราคาดีกว่า  ปลูกไม้แซมในร่องสวน ระหว่างรอไม้ผลเติบโต หรือปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง แม้กระทั่ง การสอนการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ รวมทั้งการเพาะเห็ด ซึ่งเกษตรกรที่นี่ก็สนใจเรียนรู้  บางคนมาเริ่มเรียนตั้งแต่เขี่ยเชื้อเห็ด ทำก้อนเห็ด เปิดก้อนเก็บเห็ดขาย กระทั่งตอนนี้  ทำก้อนเห็ดขายได้แล้ว  เมื่อเค้าสนใจ แล้วลงมือทำ ก็ประสบความสำเร็จ

เมื่อได้ผลผลิตมาแล้ว มาถึงคำถามที่ว่า  ผลผลิตเหล่านี้ จะไปขายใคร ขายที่ไหน

คุณลิขิต ตอบว่าเมื่อเราแนะนำให้เค้าผลิตแล้ว  เรื่องการตลาดเราก็ไม่ทิ้ง ขณะนี้ เราเริ่มจัดตั้งให้มีสหกรณ์การเกษตร(สหกรณ์ส่งเสริมกสิกรรม ชื่อในภาษาลาว) หงสา  เพื่อเป็นที่รวบรวมผลผลิต  ขายผลผลิต รวมทั้ง เป็นจุดที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆต่อไปด้วย เช่น เราจะต้องดูในเรื่องของสินค้า บรรจุภัณฑ์ อายุการเก็บรักษา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจักสาน และทอผ้า ซึ่งเป็นงานที่ชาวบ้านถนัด เราก็ช่วยทางด้านการตลาด  อย่างผักสดๆ ที่เกษตรกรปลูกกันขึ้นมา เมื่อได้ผลผลิต เราก็ช่วยขาย หรืออย่างรีสอร์ตที่นี่ ก็ช่วยซื้อ ซึ่งนอกจากจะได้ผักสดๆ ปลอดสารพิษบริการลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งขาย หรืออย่างน้อยก็มีตลาดขึ้นมา

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ศูนย์การเรียนรู้การทำการเกษตร ที่เมืองหงสา แห่งนี้ น่าจะมีศักยภาพรับนักท่องเที่ยวได้  ด้วยความน่าสนใจในกิจกรรม ความสวยงามของภูมิทัศน์ อากาศเย็นสบาย และการเดินทางที่ไม่ลำบากเลย

พูดถึงการเดินทาง  สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ หากถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองหงสา กับ หลวงพระบาง ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร เสร็จสมบูรณ์ นั่นหมายความว่า การเดินทางจากประเทศไทย หากเข้าทางด่านห้วยโก๋น จ.น่าน  ผ่านเมืองหงสา จะต่อไปยัง หลวงพระบางได้สะดวกขึ้น ทั้งทัศนียภาพสองข้างทางที่สวยงาม เพราะถนนเส้นเดิม จากหงสา ที่จะไปหลวงพระบางที่จะต้องไปผ่านทางท่าเดื่อนาน  สภาพถนนไม่ดีนัก อีกทั้งระยะทางยาวกว่า (  หงสาหลวงพระบาง เส้นทางเดิมระยะทางราว 200 กม. ขณะที่เส้นทางใหม่ซึ่งกำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จมีระยะทางราว 120 กม.)

ดังนั้น กล่าวได้ว่า ถ้าถนนเส้นใหม่เสร็จสมบูรณ์  เมืองหงสา จะเป็นเมืองที่ต้องแวะ หากใครมีจุดหมาย ที่หลวงพระบาง ซึ่งจะได้สัมผัส กับเมืองที่เต็มไปด้วยความสวย สงบ สะอาด สาธารณูโภคครบ ทั้งถนนดี น้ำไหล ไฟสว่าง เน็ทแรง(อินเตอร์เน็ท) รีสอร์ตสวย  และวิถีชาวบ้านที่มีให้สัมผัส และเรียนรู้ได้ไม่จบ

และนี่คือเมืองหงสา แห่ง สปป.ลาว อีกหนึ่งจุดหมายใหม่ ที่น่าจะอยู่ในลิสต์ของนักท่องเที่ยวไทย