ความจำเป็นยุคโซเชียล! ต้องออกแบบสินค้า/บริการ “กระตุ้น”ให้อยากถ่ายรูป

ความจำเป็นยุคโซเชียล! ต้องออกแบบสินค้า/บริการ “กระตุ้น”ให้อยากถ่ายรูป

คุณพริมา จักรพันธุ์ ณ อยุธยา นักออกแบบไอศกรีมอาชีพคนแรกของเมืองไทย และเจ้าของร้านไอศกรีมดีไซน์สร้างสรรค์ “ICEDEA-ไอซ์เดีย”  ให้ข้อมูลไว้ว่า ลูกค้าเป้าหมายกิจการของเธอเป็น กลุ่มผู้หญิง ในวัยนักเรียน นักศึกษา และ เริ่มต้นทำงาน ฉะนั้นก่อนที่จะออกแบบไอศกรีมรสชาติหรือรูปทรงใดๆออกมาจำหน่าย ต้องมีการศึกษาพฤตกิรรมลูกค้ากลุ่มหลักก่อน ว่าเป็นอย่างไร

“ลูกค้าที่ร้านชอบของใหม่ๆ ชอบมาเป็นหมู่คณะ และต้องถ่ายรูปอาหาร หรือไม่ก็ถ่ายอาหารกับตัวเอง แล้วอัพขึ้นเฟซบุ๊ค โชว์เพื่อน แชร์กัน จึงเกิดไอเดียทำไอศกรีมให้มีหน้าตาที่กระตุ้นให้พวกเขารู้สึกอยากถ่ายรูป”เจ้าของกิจการบอกถึงที่มาของไอศกรีมหน้าตาแปลกจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเหมือนตัวช่วยให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม

คุณพริมา (ขวา) ออกสื่่อ

เจ้าของกิจการไอศกรีม ICEDEA บอกอีกว่า การสร้างเรื่องราว มีที่มาที่ไป ใส่ลงไปในอาหาร สามารถสร้างเสน่ห์ให้คนหันมามอง หันมาสนใจได้ ยกตัวอย่าง เมนู “โกลบอล วอร์มมิ่ง” เป็นไอศกรีมลดโลกร้อน ที่จริงมันคือ ไอศกรีมรสมินต์ โอริโอ ช็อคชิพ ทั่วไป เพียงแต่มีการเสริมแนวคิดเพิ่มเติมเข้าไป คือ แทนที่จะทำไอศกรีมออกฟ้าๆ เขียวๆ  เธอใช้เทคนิคในการทำ คือ เมื่อตักออกมาเป็นก้อนกลมจะดูเหมือนลูกโลก พอมันละลายจะดูเหมือนโลกร้อน กลายเป็น “ลูกเล่น” สนุก จนเป็นจุดขายของสินค้า

 

คุณพริมา ยังมีคำแนะนำ ให้กับคนที่อยากผันตัวเองมาทำธุรกิจด้วยว่า ต้องค้นหาตัวเองให้เจอว่าตัวเองชอบอะไร สมมติว่ารู้แล้วว่าชอบอาหาร คุณต้องมีประสบการณ์กับสิ่งนั้น จนรู้แล้วว่า มีจุดเด่น จุดขาย ในตัวเองตรงไหน จากนั้นค่อยดูว่าในท้องตลาด ณ  ตอนนั้น สินค้าที่เราถนัดสามารถเข้าไปแทรกอยู่ในช่องว่างทางการตลาดตรงไหนได้บ้าง เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มไหน หลังจากนั้นต้องหาข้อมูลของลูกค้าเป้าหมายว่าพฤติกรรมของพวกเขาเป็นอย่างไรด้วย

 

ภาพประกอบ Facebook/IceDEA