“อุบัติเหตุ-ทุกข์ภัย” เกิดขึ้นในห้างฯ ลูกค้า มีสิทธิได้รับการเยียวยาแค่ไหน!?!

“อุบัติเหตุ-ทุกข์ภัย” เกิดขึ้นในห้างฯ ลูกค้า มีสิทธิได้รับการเยียวยาแค่ไหน!?!

จากเหตุการณ์ตะขาบตัวยาว 6 นิ้ว กัดอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ร้านกาแฟชื่อดัง ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านเกษตรนวมินทร์ โดยเบื้องต้นทางร้านกาแฟออกมาขอโทษและยอมออกค่ารักษาพยาบาลให้ แต่ให้อาจารย์หนุ่มสำรองจ่ายไปก่อน ส่วนทางห้างสรรพสินค้าเจ้าของพื้นที่ ระบุ พร้อมช่วยเหลือเต็มที่ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ส่วนเรื่องมาตรการความปลอดภัยนั้น ทางห้างฯ ไม่ได้ปล่อยปละละเลยแต่อย่างใด

“ค่าเสียหายด้านจิตใจ ระบุไม่ได้ว่าต้องจ่ายเท่าไร ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาเอง แต่อยากให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยดีกว่านี้ เพราะห้างดังกล่าวจัดงานแสดงสัตว์เลี้ยงบ่อย ๆ และยังเป็นที่ติวหนังสือของเด็ก ๆ ซึ่งหากตะขาบตัวนี้กัดเด็กอาจถึงตายได้  แต่ขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายไหนออกมารับผิดชอบ โยนเรื่องกันไป-มาระหว่างร้านกาแฟและห้างสรรพสินค้า”อาจารย์หนุ่ม ผู้ประสบเหตุไม่คาดฝัน ให้ข้อมูลไว้อย่างนั้น

ขณะเรื่องราว “ทุกข์ของลูกค้า” กรณีล่าสุดดังกล่าว ดูท่าจะยืดเยื้ออีกยาว “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ขอหยิบยกกรณีตัวอย่าง ข้อพิพาพทระหว่าง “ห้างสรรพสินค้า” กับ “ลูกค้า” มาให้ศึกษากันไปพลาง  โดยหยิบยกเนื้อหาจาก เพจ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ระบุข้อมูลน่าสนใจไว้ดังนี้

“ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการช้อปปิ้งให้ห้างใหญ่อย่างเป็นสุข คงไม่มีใครคาดว่าจะเกิดอุบัติเหตุสินค้าบนชั้นวางหล่นใส่ศีรษะโครมใหญ่ มาดูกันว่า มีวิธีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

เมื่อพฤศจิกายน ปีที่แล้ว คุณพรสรวง ไปเลือกซื้อสินค้าในห้างใหญ่เกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน ย่านพุทธมณฑล ระหว่างเลือกซื้ออย่างเพลินๆ ทันใดสินค้าจากชั้นวางด้านบนสุดได้หล่นโครมใส่ศีรษะคุณพรสรวง อย่างจัง เป็นกล่องพลาสติกขนาดใหญ่จำนวนหลายกล่อง สาเหตุเกิดจากพนักงานซึ่งกำลังจัดเรียงสินค้าอยู่ ได้ขยับบันไดเพื่อเปิดทางเดินให้ลูกค้า แต่พนักงานไม่ได้ระมัดระวังให้มากพอ บันไดจึงไปเกี่ยวเข้ากับกล่องพลาสติกที่จัดวางไว้ชั้นบน ร่วงลงมากระแทกใส่ศีรษะและไหล่ด้านขวาของคุณพรสรวง

พนักงานของทางห้าง รีบนำคุณพรสรวง ส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง เนื่องจากบาดเจ็บที่ศีรษะจึงต้องพักดูอาการที่ห้องไอซียู 24 ชั่วโมง ต่อมาจึงย้ายเข้าพักที่ห้องพิเศษเพื่อรอทำการสแกนสมองและร่างกาย ซึ่งบริษัทเจ้าของห้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ผลสแกนพบว่ามีความผิดปกติที่คอและเอว ทำให้ต้องรักษาพยาบาลต่อเนื่องอีก 2 คืน จากนั้นจึงกลับมารักษาตัวต่อที่บ้านอีก 5 วัน และมีนัดทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง หลังจากดำเนินการทำกายภาพบำบัดไปสองครั้ง คุณพรสรวง ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มจากการรักษา และได้แจ้งต่อทางบริษัทไป

ทางบริษัท มิได้ปฏิเสธ แต่ได้ขอให้คุณพรสรวง ส่งหนังสือรับรองเงินเดือนเพิ่มเติม และแจ้งว่าจะดำเนินการให้ ต่อมา คุณพรสรวง เริ่มมีอาการเจ็บแปลบๆ ที่แขนซ้าย ข้อศอกซ้ายและมีอาการชาที่มือ จึงได้แจ้งต่อทางบริษัททราบ โดยทางบริษัทได้ให้คุณพรสรวงไปพบแพทย์ที่ โรงพยาบาลพญาไท 1 ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอาการของกล้ามเนื้อและปลายประสาทอักเสบ ต้องรับประทานยาและทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 วัน เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเป็นค่าใช้จ่าย 17,366 บาท โดยการรักษาครั้งนี้คุณพรสรวงต้องเดินเรื่องเอง ทั้งการจัดส่งเอกสารและรอเบิกเงินเป็นเวลา 2 สัปดาห์

หลังจากนั้นทางบริษัทได้เสนอเงินชดเชยให้ในจำนวนเงิน 20,000 บาท ระบุว่าเป็นค่าพักรักษาตัวและค่าทำกายภาพบำบัด แต่ไม่ได้มีการเยียวยาหรือจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติมให้ คุณพรสรวง จึงไปแจ้งความไว้กับทาง สภ.สามพราน เพื่อเป็นหลักฐานแจ้งต่อทางบริษัท ว่าต้องการให้ทางบริษัทชดเชยในส่วนของค่ารักษานี้จาก 20,000 เป็น 50,000 บาท  เพราะแพทย์ไม่สามารถระบุได้ว่าต้องทำกายภาพบำบัดไปอีกกี่ครั้ง ส่วนในประเด็นค่าเสียหายเพิ่มเติมนั้น คุณพรสรวง ระบุจำนวนไว้ที่ 178,302 บาท โดยไม่รวมถึงค่ากายภาพบำบัดที่เรียกไปที่ 50,000 บาท แต่ทางบริษัทขอต่อรองลดลงมา ทางคุณพรสรวง จึงต้องการที่ปรึกษา

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ระบุ “ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้สินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

กรณีนี้ คุณพรสรวง เป็นผู้เสียหายจึงเรียกร้องสิทธิได้ตามกฎหมายกำหนดไว้  อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ต้องไปดำเนินการถึงขั้นฟ้องศาล ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ช่วยดำเนินการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างสองฝ่าย ซึ่งต้องบอกว่าไม่ง่ายใช้เวลากว่าครึ่งปี จึงสามารถยุติเรื่องได้และผู้ร้องได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่เรียกร้องไป”

เครดิตรูปจาก : มติชนสุดสัปดาห์