“คนโสด” ไม่โดดเดี่ยว สารพัดแบรนด์แห่ผุดสินค้าไซซ์เล็ก-บริการเอาใจ

“คนโสด” ไม่โดดเดี่ยว สารพัดแบรนด์ แห่ผุดสินค้าไซซ์เล็ก-บริการเอาใจ

ยุคนี้การอยู่คนเดียวไม่ใช่เรื่องแปลกอีกแล้ว และกำลังมีบทบาทมากขึ้นในสังคมโลก จนทำให้แบรนด์ต่างๆ ไม่อาจละเลยสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้

เกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากในเรื่องนี้ เว็บไซต์โชซุน อิลโบ ระบุว่า บริษัทห้างร้านต่างๆ พากันปรับตัวให้ทันกับไลฟ์สไตล์ผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจากสถิติพบว่า เมื่อปีที่แล้ว ราว 28.6 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนเกาหลีใต้เป็นครัวเรือนที่อยู่คนเดียว และมีแนวโน้มที่ครัวเรือนคนเดียวจะมีจำนวนแซงหน้าครัวเรือนที่มีสมาชิกหลายคนภายในปี 2568

บรรดาคนโสดเหล่านี้ ยังเต็มใจที่จะจ่ายเงินไปกับการรับประทานอาหารและกิจกรรมสุดโปรดมากกว่า เพราะไม่ต้องห่วงเรื่องภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของสมาชิกในบ้าน เช่น ค่าเทอมลูก

โดยเฉพาะคนโสดรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 40 ปี ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของกลุ่มคนโสดทั้งหมด พวกเขาเหล่านี้แทบจะขาดสมาร์ตโฟนไม่ได้ และราว 57 เปอร์เซ็นต์ นิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์

นี่ทำให้ธุรกิจต่างๆ พากันคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อเอาใจคนโสดรุ่นใหม่ รวมถึงพัฒนาระบบช็อปปิ้งออนไลน์และธุรกรรมการเงินผ่านมือถือให้สะดวกขึ้น

เทรนด์การอยู่คนเดียวยังมีส่วนเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในอุตสาหกรรมอาหารทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพราะคนกลุ่มนี้นิยมสั่งดีลิเวอรี่สินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือมากขึ้น “Woowa Brothers” ที่ครองส่วนแบ่งในตลาดดีลิเวอรี่อาหารในเกาหลีใต้ ระบุว่า เมนูข้าวจานเดียวสะดวกกินสำหรับ 1 คน กำลังเป็นที่นิยมมาก

นอกจากนี้ เทรนด์ดีลิเวอรี่อาหารเช้า ก็กำลังมาแรงเช่นกัน เพราะลูกค้ามักสั่งอาหารพร้อมกิน อาหารพร้อมปรุง รวมไปถึงกาแฟที่จัดส่งถึงประตูบ้าน

ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หลายราย หันมาจับตลาดคนโสด โดยออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดเล็กลงและเหมาะกับห้องพักสำหรับพักคนเดียว เช่น โซฟาเบด ทำให้ประหยัดพื้นที่จากการเป็นเตียงนอนและโซฟาในชิ้นเดียวกัน

แม้แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ปรับขนาดให้เล็กลง เพื่อรองรับกระแสดื่มคนเดียว และครัวเรือนคนเดียวที่เพิ่มขึ้น

โดยหลายบริษัทเปิดตัวเบียร์กระป๋องไซซ์มินิ ปริมาณ 250 มิลลิลิตร เพราะสะดวกพกพา แถมเหมาะสมกับการดื่มคนเดียว ส่วนเหล้าก็มีขนาด 200 มิลลิลิตรให้เลือก จากที่แต่ก่อนมักขายกันที่ 750 มิลลิลิตร หรือ 1,000 มิลลิลิตร ขณะที่ไวน์บางค่ายก็ปรับไซซ์เหลือ 187 มิลลิลิตร หรือเท่าๆ กับการดื่มไวน์ 1 แก้ว

ที่น่าสนใจ คือ แนวคิดให้เช่าสินค้าแทนการซื้อขาด ตั้งแต่เสื้อผ้า ที่นอน เก้าอี้นวด ไปจนถึงสมาร์ตโฟน ซึ่งเหมาะกับการใช้ชีวิตคนเดียว

“Coway” ผู้ให้บริการเช่าสินค้าเบอร์ 1 เพิ่งเปิดให้เช่าตู้เสื้อผ้าอัจฉริยะของค่าย LG ที่มีระบบไอน้ำและแกว่งไม้แขวน ช่วยทำให้เสื้อผ้าเรียบและไร้กลิ่นอับ ซึ่งก็มีคนสนใจเช่า 2,000 เครื่องภายในเวลา 2 สัปดาห์

นอกจาก Coway ก็ยังมีบริษัท “SK Magic” และ “Chungho Nais” ที่ให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายประเภท ทั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องอบผ้า เครื่องล้างจาน ไมโครเวฟ รวมไปถึงที่นอน ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง และอุปกรณ์เกี่ยวกับความงาม

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเคที ประเมินว่า ตลาดให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเติบโตจาก 31.2 ล้านล้านวอนในปีนี้ เป็นกว่า 40 ล้านล้านวอน ภายในปี 2563

ด้าน Kyowon Wells ก็มาพร้อมไอเดียให้เช่าอุปกรณ์ปลูกพืชผักที่เรียกว่า Wells Farm โดยลูกค้าสามารถปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือผักที่ปลูกโดยไม่ใช้ดิน ทำให้ประหยัดพื้นที่และสะอาด ซึ่งก็มีคนสนใจเช่าถึง 7,000 รายในช่วง 2 เดือนหลังเปิดตัว

ที่จริงตลาดให้เช่าสินค้าเริ่มบูมมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปี 2541 ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบัน ลูกค้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจนี้คือ ครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียว

ในอังกฤษ เทรนด์สินค้าเพื่อคนอยู่ลำพังก็กำลังเติบโตเช่นกัน เห็นได้จาก “เทสโก้” บริษัทค้าปลีกรายใหญ่สุดที่เน้นขายสินค้าให้ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเบอร์เกอร์เนื้อและสเต๊กขนาดเท่าฝ่ามือ

เดอะ การ์เดี้ยน รายงาน ในปีนี้ เทสโก้เพิ่มผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภคคนเดียวราว 40 เปอร์เซ็นต์ เป็น 430 รายการ โดยไม่เพียงต้องการตอบโจทย์ครัวเรือนคนเดียว แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เพราะคนไม่ได้กินข้าวพร้อมหน้ากันเหมือนเมื่อก่อนแล้ว และถึงกินพร้อมกันก็อาจจะไม่ได้อยากกินเมนูเดียวกัน

ที่ผ่านมา ซุปเปอร์มาร์เก็ตมักโฟกัสไปที่ลูกค้ากลุ่มครอบครัว ทำให้มีโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 และสินค้าไซซ์ใหญ่ยักษ์ แต่ตอนนี้ราว 4 ใน 10 ของอาหารหรือขนมขบเคี้ยวกลับเป็นการบริโภคตามลำพัง

ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินว่า ตลาดสินค้าอาหารสำหรับกินคนเดียวมีมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านปอนด์