พลิกโฉมภูมิปัญญาชาวบ้าน “สานกระเป๋าจากกระจูด” ดีไซน์ร่วมสมัย ส่งออกจีน

การจักสาน คืองานหัตถกรรมอย่างหนึ่ง นับเป็นงานฝีมือที่คนไทยทำกันมาช้านาน เป็นการนำวัสดุขนาดเล็กมาขัด หรือสานกันจนเป็นชิ้นงาน เช่น เสื่อ ตะกร้า ตะกร้อ เป็นต้น อย่างทางภาคใต้ของไทยเอง มีชาวบ้านซึมซับการสานกระจูดมาแต่โบราณ

สำหรับกระจูดเป็นพันธุ์ไม้จำพวก “กก” มีลักษณะลำต้นกลมสีเขียวอ่อน สูงประมาณ 1-2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุก นิยมนำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิทแล้วสานเป็นเสื่อกระจูด พบมากในพื้นที่ป่าพรุของตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งต้นกระจูดคุณภาพดี สวย เหนียว และทน

โดยกลุ่มชาวบ้านที่ตำบลเคร็ง มักนำกระจูดมาจักสานเป็นของใช้สอยในครัวเรือน เป็นวิถีการดำรงชีวิตมาตั้งแต่อดีต เป็นภูมิปัญญาของคนเคร็งที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นปู่ย่าตายาย สู่รุ่นลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

 

คุณมะลิ-อุบลวรรณา แป้นด้วง ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกชาวบ้านจักสานกระจูดกันเป็นวิถีชีวิตมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย สานกันเป็นแทบทุกคน โดยงานสานที่นิยมทำคือ เสื่อปูนอน ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ จนเมื่อปี 2547 เกิดเป็น “กลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช” ขึ้นมา จากมีสมาชิก 5 คน ปัจจุบันเพิ่มขึ้น 75 คน

“ก่อนรวมกลุ่มชาวบ้านสานเสื่อ สานพัดขาย ไม่มีตลาดรองรับ รายได้ตรงนี้หายไป หลังรวมกลุ่มเกิดความเปลี่ยนแปลง เรามีตลาดที่แน่นอน เกิดรายได้เข้าชุมชน เฉลี่ยรายได้คนละ 4,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน คนที่ไปทำงานไกลบ้านก็กลับมาอยู่บ้านมาสานกระจูด”

สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ คุณมานะ แป้นด้วง ฝ่ายตลาดกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช บอกว่า สมาชิกได้ต่อยอดพัฒนาสินค้าให้ตรงตลาดมากขึ้น เปลี่ยนการสานเสื่อ สานพัดธรรมดา ให้กลายเป็นกระเป๋าดีไซน์ร่วมสมัย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย

“ดัดแปลงมาเรื่อยจนเป็นกระเป๋า ตามแฟชั่นสมัยใหม่ มีหลายทรง ผลตอบรับดีมากครับ” คุณมานะ ว่าอย่างนั้น

ซึ่งการทำกระเป๋า คุณมานะ เสริมว่า ต้องอาศัยหลายๆ แรง แบ่งงานเป็น 2 กลุ่มหลักคือ งานสาน จะให้สมาชิกเป็นคนทำ ส่วนงานแปรรูป ตลอดจนการตกแต่ง ทางตนจะเป็นคนจัดการ

การมอบหมายงาน หากได้ออร์เดอร์จะนำไซซ์งานที่ต้องทำมอบหมายให้สมาชิกสานแล้วนำมาส่งที่กลุ่ม ทางกลุ่มจะนำมาลงน้ำกาว จัดทรง ตากแดดจนแห้ง นำมาต้มสีตามที่ลูกค้าต้องการ ตากแดดให้แห้ง นำไปเคลือบเงา ส่งให้สมาชิกในกลุ่มนำไปใส่ผ้าด้านใน จากนั้นส่งกลับมาที่กลุ่มอีกครั้ง เก็บรายละเอียดใส่สาย เย็บมุม จนเสร็จพร้อมส่ง

สำหรับจุดเด่นของกระเป๋ากระจูด คุณมานะ บอกว่า ยิ่งใช้ยิ่งทน เพราะพิถีพิถันตั้งแต่เริ่มเก็บกระจูด การต้ม และตากแห้งถึง 4 แดด ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ กระทั่งนำมาขึ้นรูป ยิ่งกระจูดเก่าสีจะสวยออกสีเหลืองทอง

ที่สำคัญ รูปแบบยังหลากหลาย เหนียว ทนทาน การเก็บรักษาง่ายดาย เพียงเก็บไว้ในที่ร่ม หากเป็นไปได้แนะนำให้ใช้เป็นประจำ เพราะยิ่งใช้ยิ่งนิ่ม

“พวกเสื่อกระจูดที่เราใช้ปูนอน 10 ปียังใช้ได้ ถามว่ามีขาดไหม ก็มีบางส่วน แต่ยังใช้ได้อยู่ เวลาออกบู๊ธแต่ละจังหวัด ลูกค้าที่เคยซื้อกระเป๋ากระจูดกับเรา 3-4 ปียังบอกว่าสภาพดีอยู่เลย ยังชอบใช้กันอยู่” คุณมานะ เสริม

นอกจากกระเป๋าแล้ว ทางกลุ่มยังแตกไลน์สินค้าอีกหลายรูปแบบ เช่น กระเป๋า ตะกร้า กล่อง ที่รองจาน ที่ปูโต๊ะ พัด ฯลฯ โดยช่วงเทศกาลกล่องใส่เอกสารจะได้รับความนิยมมาก คนชอบซื้อไปเป็นของฝาก

ด้านการจำหน่าย คุณมะลิ บอกว่า ปัจจุบันส่งไปยังกลุ่มลูกค้าจังหวัดเชียงใหม่ หนองคาย ภูเก็ต หน่วยงานต่างๆ เช่น โรงแรม รวมทั้งส่งออกไปยังประเทศจีนได้ 2-3 ปีแล้ว ซึ่งรูปแบบที่คนจีนนิยมคือ กล่องตะกร้า และกระเป๋า เฉลี่ยจัดส่ง 4,000 ชิ้น ต่อสัปดาห์ ลูกค้ามีทุกกลุ่ม ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ข้าราชการ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 100 บาท ไปจนถึง 1,000 บาท

สำหรับท่านใดที่สนใจ คุณมะลิ บอกว่า ทางกลุ่มเปิดให้มาศึกษาดูงาน และเยี่ยมการทำงานแบบครบวงจร อาทิ การจัดการกลุ่ม สาธิตการสาน การทำตลาด และอื่นๆ ตามสนใจ

หรือหากสนใจอยากได้ไว้ในครอบครอง มีจำหน่ายที่ กลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตชะอวด เลขที่ 101/1 หมู่ 3 ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และออกบู๊ธตามงานต่างๆ สนใจติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ (087) 888-5702