ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
( สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่ สสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ SME ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งการพัฒนาผู้ประกอบการโดยการสร้างให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเครือข่าย ทำให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สสว. ได้นำนโยบายการพัฒนาคลัสเตอร์มากำหนดแนวทางการส่งเสริม SME เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในปี 2560 โดยเน้นการกระตุ้นความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการ คำนึงถึงความต้องการของตลาด ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในเครือข่ายให้มีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมไปถึงการพัฒนาช่องทางการตลาดในเชิงรุกผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแสดงสินค้าและการเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสร้างการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ของไทยให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้รู้จักมากขึ้น
ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 งบประมาณ 60,000,000 บาท สสว. ได้มุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจในปี 2560 ในด้านต่างๆ และพัฒนาให้ผู้ประกอบการกลุ่มซึ่งเป็นเครือข่ายใหม่ให้สามารถรวมกลุ่ม และได้รับการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่ามากขึ้น ในอันที่จะสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าต่อไปอย่างยั่งยืน
ในส่วนของการพัฒนาเครือข่ายหรือคลัสเตอร์สมุนไพร ในปี 2561 สสว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ส่งเสริมและสนับสนุน SME ในกลุ่มธุรกิจสมุนไพรครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ (ผู้ปลูก) กลางน้ำ (ผู้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์) และปลายน้ำ (ผู้จำหน่าย) รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในท้องที่ของแต่ละจังหวัด เป็น คลัสเตอร์ (Cluster) หรือเครือข่ายที่มีความครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรที่เข้าร่วมโครงการเกิดการรวมกลุ่มกันอย่างมีความเข้มแข็ง และสานต่อโครงการให้มีความต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จำนวน 9 เครือข่าย ในพื้นที่ 9 จังหวัด
กิจกรรมคลัสเตอร์สมุนไพร ปีที่ 2 ประกอบด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการ และเกษตรกรที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพร มุ่งเน้นการบริหารจัดการร่วมกันแบบเครือข่าย โดยมีสมาชิกที่เป็นกลุ่มต้นน้ำ กลุ่มกลางน้ำ และกลุ่มปลายน้ำ รวมทั้งหมด 899 ราย รวมถึงผู้ประสานงานเครือข่าย (CDA) หรือแกนนำคลัสเตอร์ 36 ราย ขณะเดียวกัน ยังสร้างนวัตกรรมด้านการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการกว่า 60 ราย ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างขอสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และยังมีผู้สนับสนุนส่งเสริม (SP) เข้ามาส่งเสริมร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอีกหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด รวมถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัด สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นบนหลักการ “นวัตกรรมนำงานวิจัย” และกำลังอยู่ในช่วงของการดำเนินการจัดตั้ง คลัสเตอร์สมุนไพรแห่งชาติ เพื่อเตรียมการในการก้าวสู่ Social Enterprise Company
นอกจากนี้ ได้ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัด “โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME
ปี 2561 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วย” โดยในกลุ่มมะพร้าวนั้นได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
ส่วนกลุ่มกล้วยเพิ่งเริ่มดำเนินการเป็นปีแรก ได้รับการตอบรับจาก SME เป็นอย่างดี บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2,377 ราย แบ่งเป็นกลุ่มมะพร้าว 1,420 ราย และกลุ่มกล้วย 957 ราย ได้คัดเลือกผู้ประสานงานเครือข่ายไว้จำนวน 54 ราย (มะพร้าว 33 ราย และกล้วย 21 ราย) เกิดการรวมกลุ่มเครือข่าย 17 กลุ่ม แบ่งเป็นมะพร้าว 10 เครือข่าย และกล้วย 7 เครือข่าย คาดสร้างยอดขายเบื้องต้นรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาทในปีแรก
คุณสุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การที่มวยไทยมีบทบาททั้งในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยมูลค่าของมวยไทยที่เกิดขึ้นทั้งในด้านกีฬาอาชีพ กีฬาเพื่อสุขภาพ สินค้าสนับสนุน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี สสว. จึงส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายมวยไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่สำคัญและกำลังเติบโต ปัจจุบัน ประเทศไทยส่งออกครูมวยไปสอนในต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรป ธุรกิจมวยไทยได้รับความนิยมมาก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ จนกลายเป็นกีฬาที่สร้างสุขภาพ มีความเป็นอัตลักษณ์ของชาติ แต่ยังขาดแผนแม่บทในการพัฒนาเครือข่ายอย่างเป็นระบบ
ดังนั้น ในปี 2561 สสว. จึงได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายมวยไทยขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มเครือข่ายมวยไทยที่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยมุ่งเน้นการรวมกลุ่มของเครือข่ายต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการในเครือข่ายมวยไทย ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ ตลอดจนการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่ามากขึ้น
พร้อมกันนี้ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ทางด้านดิจิทัล
คอนเทนต์ จัดทำโครงการ “Digital Content Cluster Day” เพื่อประกาศศักยภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และยังเป็นเวทีในการเจรจาธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคลัสเตอร์ ในการกำหนดกรอบ และแนวทางการส่งเสริม SMEs ให้มีความเข้มแข็งยั่งยืน อีกทั้งยังขานรับนโยบาย Thailand Digital ที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในอนาคต โดยมีผู้ประกอบเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 400 ราย มีทั้งในรูปแบบรายบุคคลและบริษัท นิติบุคคล เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้ การจัดโครงการ“Digital Content Cluster Day” เป็นหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายดิจิทัลคอนเทนต์ ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 ด้วย
คุณสุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด สสว . ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัว “ ฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ประเทศไทย ” ต่อยอดจากฟู้ดทรัคคลับประเทศไทย ทำให้มีผู้ประกอบการรวมกันถึง 600 ราย อันจะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการให้มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานด้านบริการ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความปลอดภัย และมาตรฐานด้านอาชีวอนามัย และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ