ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวในฐานะซีอีโอโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า ตลอด 2 ปี ของการดำเนินโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร มีการพัฒนาอย่างเนื่อง นอกจากจะขยายแนวคิดเมืองนวัตกรรมอาหารสู่ภูมิภาคแล้ว ยังลงไปทำงานกับชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากด้วย ถือเป็นความท้าทายของการทำงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ นอกจากนี้ ยังพยายามให้ผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์นวัตกรรมอาหาร ซึ่งมีตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิตและแปรรูปอาหารทั้งรายเล็ก กลาง ใหญ่ และบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน สามารถที่จะได้รับประโยชน์จากเมืองนวัตกรรมอาหารได้ทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ยอมรับว่า แม้การลงไปทำงานกับเกษตรกรและชุมชน จะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของเมืองนวัตกรรมอาหารก็ตาม แต่คิดว่าในส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากที่ยังต้องมีการพัฒนา ยกระดับด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในปีนี้จึงเริ่มกิจกรรมที่ใช้เครื่องมือในการออกแบบ การสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยแผนที่โอกาสกับกลุ่มเกษตรกร โดยเริ่มจากการเชิญให้เกษตรกรที่ทำฟาร์มออร์แกนิกในเครือข่ายของสามพรานโมเดล เข้าร่วมเวิร์คช็อป Food Hackathon ที่สวนสามพราน เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา และจะเริ่มทำ Hackathon เพื่อระดมความคิดในการออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากเห็ดแครง โดยความร่วมมือกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) เพื่อนำความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงสู่ระดับของเกษตรกรและชุมชน ตามนโยบาย “วิทย์เสริมแกร่ง” ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
ในส่วนของวิสาหกิจชุมชนนั้น ดร.อัครวิทย์ กล่าวว่า โครงการ PADTHAI หนึ่งในโครงการของเมืองนวัตกรรมอาหาร ที่ได้เชิญวิทยากรที่ทำงานกับชุมชนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น ลีอา อายุ จือปา ผู้สร้างตำนานกาแฟ อาข่า อามา ที่สร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันประสบการณ์ที่น่าสนใจ จนมีการหารือกันว่าเราจะร่วมมือกันในเร็ว ๆ นี้ และในระดับของ เอสเอ็มอี เมืองนวัตกรรมอาหาร ได้จัดให้มีแพลตฟอร์ม เพื่อสนับสนุนการทำนวัตกรรมของอุตสาหกรรมอาหารขึ้นมาภายใต้ชื่อ PADTHAI และได้อบรมจบรุ่นแรกไปแล้วอย่างงดงาม
สำหรับ FoodTech Startup ได้ทำงานร่วมกับ UTCC IDE Center ที่ทำงานใกล้ชิดกับ MIT Enterprise Forum โดย ทางโครงการฯสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพ FoodTech, AgriTech แล้วจำนวนหนึ่ง และจะทำต่อไปอีก และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การสร้างนวัตกรอาหารสำหรับอนาคต โดยเน้นที่นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ จึงมีการเดินสายจัดกิจกรรมบูธแคมป์ ในส่วนของนวัตกรรมอาหารทั่วประเทศ เพื่อพัฒนานักศึกษา อาจารย์ ให้มีแนวคิดการทำนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ และตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค รวมถึงจัดให้มีการประกวดนวัตกรรมอาหาร ซึ่งปีนี้จะเป็นปีที่ 2 แล้ว ภายใต้หัวข้อ Food for Aging และ Better Food โดยความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น KCG Corporation, ธนาคารออมสิน เป็นต้น
“รู้ดีว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศ ซึ่งแม้จะเป็นจุดเล็กๆ ในภาพใหญ่ แต่คิดว่า เป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศไทย” ซีอีโอโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าว