ต้องรู้เท่าทัน! “อังกาบหนู”บรรเทาฝีได้ แต่ไม่มีงานวิจัยรักษามะเร็ง

กรณีกระแสข่าวลือในจังหวัดสุโขทัยว่ามีการใช้สมุนไพรต้น “อังกาบหนู” รักษามะเร็งได้ จนชาวบ้านแตกตื่นแห่เก็บขาย ราคาพุ่งถึงกิโลกรัมละ 150 บาท นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ภญ.ผศ.ดร.มยุรี  ตั้งเกียรติกำจาย จากคณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว ประสานมิตร)  ให้ข้อมูลทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพรชนิดดังกล่าวตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยผ่านการค้นคว้าเอกสารอ้างอิงจำนวนมากทั้งของไทยและต่างประเทศนั้นว่า  อังกาบหนู มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Barleria prionitis เป็นสมุนไพรที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอินเดีย ศรีลังกา แอฟริกาใต้ และเริ่มเป็นที่สนใจในประเทศไทย

และจากงานวิจัยในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ทางยา 3 ด้านหลัก คือ 1) สารสำคัญ iridoids fraction ซึ่งสกัดจากส่วนของใบและ ลำต้น ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่าช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง 2) เมื่อให้หนูกินสารสกัดจากรากอังกาบหนูเป็นเวลา 60 วัน พบว่าลดการสร้างอสุจิและทำให้อสุจิเคลื่อนไหวได้ลดลง มีผลทำให้มีบุตรยาก ต้องระวังการใช้ในชายวัยเจริญพันธุ์ สำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดมีข้อควรระวังคือไม่สามารถคุมกำเนิดได้ 100%  และ 3) สารสกัดจากส่วนของใบ ลำต้นและราก

ภญ.ผศ.ดร.มยุรี  ตั้งเกียรติกำจาย

ทั้งนี้มีงานวิจัยในหลอดทดลองพบว่า สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบได้ เช่น ข้ออักเสบ ควรใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดเท่านั้น ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือใช้ในขนาดสูง เพราะอาจทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันและเกิดแผลในทางเดินอาหาร ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะที่ 3 และผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร  อย่างไรก็ตามสมุนไพรนี้ยังไม่มีการศึกษาในคน จึงยังไม่ทราบขนาดการใช้ที่แน่นอน และฤทธิ์ทางยาที่กล่าวถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อใช้ในคน เช่น อาจมีฤทธิ์ลดลง หรือมีฤทธิ์ไม่มากพอที่จะใช้ในการรักษาโรค

​“การใช้สมุนไพรแต่ละชนิด เพื่อประโยชน์ต่างๆ จะมีวิธีใช้และส่วนของสมุนไพรที่ใช้แตกต่างกันไป บางต้นต้องใช้ใบ บางต้นใช้เหง้าเป็นต้น ถ้าใช้ไม่ถูกส่วนหรือไม่ถูกวิธี นอกจากจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดโทษได้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจใช้สมุนไพรเพื่อประโยชน์ใด ควรศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือก่อนตัดสินใจใช้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคไตเรื้อรัง โรคตับ หรือโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์หรือ เภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้”ภญ.ผศ.ดร.มยุรี  ย้ำในตอนท้าย

ข้อทางวิชาการจากนักวิชาการด้านเภสัชกรรมแผนปัจจุบัน ข้างต้น สอดคล้องกับข้อมูลจากทางผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย โดยเพจ สมุนไพรอภัยภูเบศร ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องของกระแสอังกาบหนู ไว้เช่นกัน

“อังกาบหนู เป็นหนึ่งในตัวยาที่ปรากฏการใช้ในตำรับยาพื้นบ้านรักษาฝี ซึ่งจากการตีความหลายคนมองว่า ฝีน่าจะสัมพันธ์มะเร็ง แต่มักไม่ใช้เป็นยาเดี่ยวหรือเพียงตัวเดียว ผู้ป่วยมะเร็งควรใช้อย่างรู้เท่าทัน เพราะปัจจุบันเรามีการแพทย์และเครื่องมือการรักษาที่ทันสมัยและพัฒนา หากใช้ควบคู่กัน ผู้ป่วยมะเร็งควรสังเกตอาการ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ และความผิดปกติ”

เพจสมุนไพรอภัยภูเยศร ระบุด้วยว่า ในทางอารุเวทมักใช้อังกาบหนูเป็นยา โดยในอินเดียนิยมใช้น้ำคั้นจากใบ หรือเคี้ยวสดรักษาปัญหาในช่องปาก เช่น เหงือกเป็นหนอง แผลในปาก ฟันผุ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่พบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้ สำหรับฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีเพียงข้อมูลที่พบว่า น้ำมันที่ได้จากทุกส่วนของต้นอังกาบหนู นำมาใช้ทาภายนอกเพื่อรักษาซีสต์ในระยะเริ่มต้น  และอีกการศึกษาหนึ่งใช้ทุกส่วนของต้นอังกาบหนูทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็งโดยทดสอบกับเซลล์มะเร็งรังไข่และมะเร็งไตเทียบกับยามะเร็ง  แต่ไม่พบฤทธิ์ต้านมะเร็ง ในความเข้มข้นที่ใช้ทดสอบ

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : ชาวบ้านตัดต้นอังกาบหนูเหี้ยน! ราคาพุ่งกิ่งละ 150 หลังลือสะพัดรักษามะเร็งได้