“นัดเป็ด” แนะเทคนิคเด็ดเพิ่มมูลค่า สร้างเพจให้เป็นแบรนด์

คุณนัด ธนิษฐ์  กับ คุณบอส อิทธิศักดิ์  เป็นคนตลก ชอบเล่นมุข เรียนวาดรูปมาก่อน เลยเลือกวาดการ์ตูนนำเสนอบนเพจ “นัดเป็ด” ซึ่งมีที่มาจากชื่อตัวและชื่อคุณพ่อของเพื่อน ปัจจุบันเป็นเพจดังมียอดไลก์หลักล้าน

คุณนัด เล่าให้ฟัง ถึงแรงบันดาลใจในการสร้างมุขบนเพจ “นัดเป็ด” ที่ตัวเขาเป็นหนึ่งในแอดมินว่า ต้องดูกลุ่มเป้าหมาย เป็นหลัก คือ นักศึกษาอายุ 18-24 ปี เขาต้องจำลองตัวเองเป็นนักศึกษาว่า วันหนึ่งๆ นักศึกษาทำอะไร เรื่องความรัก การเรียน เรื่องเที่ยว นำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลในการวาดมุข และถ้าให้ลึกต้องรู้ถึงขั้นว่า ณ เวลานั้น กลุ่มเป้าหมายทำอะไรอยู่ เช่น รู้ว่าช่วงนี้นักศึกษาสอบ ก่อนสอบอาจจะทำโพสต์ให้กำลังใจ หลังสอบเสร็จ โพสต์เกี่ยวกับเรื่องการสอบ รู้ว่าศุกร์เย็นนักศึกษาชอบเที่ยวจะทำเรื่องเที่ยว เขาพยายามเสิร์ฟ Content ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม

นัด กับ บอส แอดมินเพจ “นัดเป็ด”

 สำหรับตัวการ์ตูนคาแร็กเตอร์หลัก ในเพจ “นัดเป็ด” นั้น  มี 6 ตัว พระเอก นางเอก เพื่อนพระเอก เพื่อนนางเอก หมอ กับแม่ค้า แต่ละตัวเลือกใช้ตามบริบทของมุข แต่ละตัวไม่มีชื่อ อยากให้ทุกคนอ่านแล้วสมมติว่าเป็นใครก็ได้ แทนเพื่อนหรือคนรู้จักก็ได้

 ตอนแรกๆ ทำมุขเพื่อสนองความต้องการตัวเอง ช่วงหลังมีลูกเพจมากขึ้น กลายเป็นว่าไม่ใช่ความสุขของเราสองคน แต่มีคนรอดูเราอยู่ ทำให้ช่วงหลังเวลาคิดมุขจะคิดถึงลูกเพจเป็นหลัก ลูกเพจอ่านแล้วจะชอบไหม จะเข้าใจไหม เรื่องนี้ยากไปไหม” คุณนัด บอกมาอย่างนั้น

ก่อนเผยต่อ ตอนแรกวางเป้าหมายของเพจไว้แค่หมื่นไลก์ แล้วไม่นานก็ได้จริง  และเพิ่มขึ้นเดือนละแสนไลก์ โดยไม่เสียเงินสักบาท ซึ่งเขาและหุ้นส่วนก็ไม่คิดว่าจะมาไกลถึงขนาดนั้น พอเพจมาถึงจุดหนึ่ง ก็จะมีงาน มีลูกค้า มีสินค้า มีโฆษณา เสนอเข้ามา การรับมือที่ดีที่สุดของเราคือ ต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่างคนที่จะมาขายของกับความเป็นเพจของเรา

“เวลารับงานโฆษณาไม่ได้รู้สึกว่าแค่ได้เงิน แต่ทำให้แบรนด์หรือเพจของเราได้ประโยชน์สูงสุดด้วย และหลักการนำเสนอคือ ไม่ได้โฆษณาแฝงเนียนโดยการแอบ แต่อยากให้เนียนไปกับเนื้อเรื่อง โดยที่ผลิตภัณฑ์และเนื้อเรื่องยังอยู่” คุณนัด บอก

ก่อนเผยถึงเทคนิค “คิดมุข” ที่โดนใจกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก ว่า เวลาคิดมุขจะคิดจากชีวิตประจำวัน ช่วงหนึ่งอยู่กับแฟนบ่อย ชอบพากันไปกินอาหารก็จะได้มุขเกี่ยวกับของกิน ร้านอาหาร ความจริงมุขอยู่รอบตัวเรา อยู่ที่ว่าจะเก็บเกี่ยวมาเป็นมุขได้หรือเปล่า

“ทำมุขแรกๆ ก็เล่นปกติ รู้สึกว่ามุขมันแห้งไป เลยคิดจะตบมุขยังไงดี  สุดท้ายเติมแก้มแดง ปรากฏว่าคนชอบ เพราะแสดงอารมณ์ของตัวละครได้หลายอย่าง อาจจะโกรธ หรือเขินก็ได้ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว ตอนแรกวาดละเอียดมาก ผมเป็นเส้นๆ ช่วงหลังเริ่มตัดทอน สุดท้ายเหลือแค่ ตา จมูก ปาก เป็นลายเส้นที่ใครก็ก๊อบได้ พอมันง่ายมันกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ใครๆ ก็อยากเอาไปเล่น” คุณนัด ให้ข้อมูลน่าสนใจ

ด้านคุณบอส อิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ตอนแรกที่ทำเพจ คนส่วนใหญ่คิดว่าเราทำเพจเพราะอยากดัง ต้องบูสต์โพสต์ แต่ความจริงแล้ว เราบูสต์หลังจากมียอดไลก์หลักแสนแล้ว เพราะมีความคิดว่าการทำเพจเหมือนทำอาหารให้อร่อย ถึงแม้ร้านจะอยู่ในซอกซอย แต่ถ้าอร่อยคนก็ตามมากินจนได้ เช่นเดียวกันถ้ามุขโอเค ไม่ต้องไปขอคนจะแชร์ให้เอง และวิธีการสร้างเพจ อยากแนะนำทุกคนที่อยากทำ หาแหล่งปล่อยก่อน เช่น ถ้าเราอยากเป็นบล็อกเกอร์ปล่อยในจีบันไหม หรืออยากรีวิวอาหารไปปล่อยคลิปในพันทิปไหม เพราะถ้าทำแล้วปล่อยในเฟซตัวเองก็มีคนเห็นแค่เพื่อน

มาถึงคำถาม อยากทำเพจให้เป็นแบรนด์ ควรมีโมเดลอย่างไร สองหนุ่มแอดมินเพจ “นัดเป็ด” ช่วยกันให้ข้อมูล

“ต้องถามตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร เคยมีคนรู้จักทำเพจช่วงแรกแล้วดังมาก แต่มารู้ทีหลังว่าไม่ชอบสุดท้ายก็ดับไป การทำเพจจริงๆ ควรใช้ชีวิตอยู่กับมัน ทำให้เพจเป็นธรรมชาติมากที่สุด หาจุดยืน ให้แตกต่างจากคนอื่น เพราะถ้าจุดหมายของเพจกับสิ่งที่เราเป็นมันตรงกัน ก็จะมีพลังในการทำทุกวัน รายได้จะตามมาเอง จึงหาตัวเองให้เจอ แต่อย่าคิดว่าทำวันแรกแล้วต้องดังเลย”

คำถามส่งท้ายเกี่ยวกับรายได้ของเพจดังระดับล้านไลก์ คุณบอส เป็นตัวแทนให้ข้อมูลว่า รายรับดีกว่างานประจำที่ทำอยู่ แต่เหนื่อยไม่ใช่เล่นเหมือนกัน ไม่ได้เหนื่อยกาย แต่เหนื่อยใจ เพราะการทำงานประจำไม่ได้มีคู่แข่ง แต่การทำเพจ ในหนึ่งวันมีเพจเกิดใหม่ตลอด และเฟซบุ๊ก ก็อาจเปลี่ยนกฎได้ตลอดเวลา มันจึงอยู่บนความไม่แน่นอน บางคืนนอนไม่หลับก็มี