ไม่เกรงเจ้าตลาด มั่นใจฝีมือดีกว่า! “วนัช กูตูร์” ชุดเจ้าสาวแบรนด์ไทย เตรียมส่งขายยุโรป

คร่ำหวอดอยู่ในวงการ “เวดดิ้ง” มาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาฝึกงาน  ก่อนเริ่มต้นชีวิตลูกจ้างในตำแหน่งเซลส์ สั่งสมประสบการณ์อยู่ไม่นาน ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้จัดการ กระทั่งอายุย่างเข้าสามสิบต้นๆ กลายเป็นเจ้าของธุรกิจ “เวดดิ้ง สตูดิโอ” ด้วยทุนหลักล้านจากน้ำพักน้ำแรงตัวเอง

“พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ  ครอบครัวไม่ได้ทำธุรกิจมาก่อน คุณพ่อ-คุณแม่รับราชการทั้งคู่ ส่วนตัวผมชอบเรื่องภาพถ่ายพรีเวดดิ้ง เลยเลือกเข้าไปฝึกและทำงานในบริษัทเวดดิ้งสตูดิโอ เรียกว่าทำงานวงการนี้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงยี่สิบครับ”  คุณสรรค์ สุดเกตุ ผู้บริหารและเจ้าของห้องเสื้อ “วนัช กูตูร์” วัย 38 ปี เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เป็นกันเอง

ก่อนคุยให้ฟังต่อ  สำหรับธุรกิจแรกของตัวเขาเอง เปิดราวปี 2556 ชื่อ  Signature bridal atelier เป็นกิจการ “เวดดิ้ง สตูดิโอ” ให้บริการเกี่ยวกับงานแต่งงานแบบครบวงจร เช่น ถ่ายภาพ พรีเวดดิ้ง มีชุดวิวาห์ให้เช่าทั้งบ่าวสาว รับแต่งหน้า-ทำผม เป็นต้น

คุณสรรค์ สุดเกตุ ผู้บริหารและเจ้าของห้องเสื้อ วนัช กูตูร์

ย้อนไปราว 5 ปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่า “เวดดิ้ง สตูดิโอ” จัดว่าอยู่ในช่วง “ขาลง” เรื่อยๆ คุณสรรค์ เองก็เริ่มมองเห็นอนาคตของธุรกิจเวดดิ้งในเมืองไทย กล่าวคือ ความต้องการและความสนใจในการเลือกใช้บริการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งของคู่แต่งงานมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับช่างภาพพรีเวดดิ้งอิสระ กลับมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ต้องปรับราคาค่าถ่ายภาพลดลงเพื่อแข่งขันกัน เหล่านี้นับเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เขา นำวิชาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เข้ามาบริหารจัดการร้าน โดยเริ่มคิดหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจที่ทำอยู่ไปรอด

“พอธุรกิจโดยภาพรวมเป็นขาลง คิดว่าจะทำอะไรดีที่ทำให้ธุรกิจไปต่อและอยู่ได้  เลยนึกถึงธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีน้อยสุดหรือเป็นงานแฮนด์เมด  เพราะน่าจะมีมูลค่าคงที่ ยิ่งเป็นแฮนด์เมดเท่าไหร่ มูลค่าก็ยิ่งสูง     สุดท้ายจึงผันตัวมาเป็นผู้ผลิต คือทั้งออกแบบและตัดเย็บชุดแต่งงานแนวราตรีสีขาวและชุดไทย เพราะคลุกคลีมาตลอด” คุณสรรค์ เผยจุดเริ่มใหม่

ก่อนอธิบายให้ฟังต่อ สมัยที่เขาทำร้าน “เวดดิ้ง สตูดิโอ” นั้น ชุดแต่งงานราตรีสีขาวที่นำมาให้เจ้าสาวใส่ถ่ายภาพพรีเวดดิ้งหรือไว้ใส่ในพิธีนั้น  เป็นการ “นำเข้า” อย่างเดียว เพราะความจริงแล้วชุดเจ้าสาวในตลาด    เวดดิ้งเมืองไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะนำเข้าชุดแต่งงานมาจากประเทศจีน

แต่มายุคนี้ ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป เจ้าสาวรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับชุดแต่งงานมากขึ้น หลายคนไม่อยากได้ชุดนำเข้าจากผู้ผลิตจีน เพราะกลัวคุณภาพไม่ได้  และมีอีกกลุ่มใหญ่ ที่ต้องการความ “พรีเมี่ยม” สำหรับครั้งหนึ่งในชีวิต เขาจึงตัดสินใจ หันมาเป็นผู้ผลิตชุดแต่งงาน  เพราะมีทีมงานที่เป็นบุคลากรมีประสบการณ์ด้านการผลิต ชุดเจ้าสาวแนวฝรั่งเศสมาก่อนแล้ว

และแม้จะมีทีมงานเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่คุณสรรค์ ก็ยังขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม ด้วยการลงเรียนคอร์สเพิ่มเติมทั้งทางด้านดีไซน์และการตัดเย็บ เพราะถึงจะไม่ลงมือเอง แต่ก็ต้องให้คำปรึกษาแก่ทีมงานที่มีอยู่กว่า 30 คน ได้ในทุกขั้นตอน

หลังจากที่ได้เติมเต็มความรู้ด้านต่างๆ มาอย่างครบถ้วนแล้ว ประกอบกับประสบการณ์ด้านเวดดิ้งที่สั่งสมมานานหลายปี ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่เหมาะสม ในราวปี 2558 คุณสรรค์ ตัดสินใจเปิดตัว ห้องเสื้อ “วนัช กูตูร์” ขึ้น บนทำเลริมถนนลาดพร้าว

“ชื่อ วนัช กูตูร์ เกิดจากความคิดที่วางแผนอนาคตไว้ล่วงหน้า  หากมีกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นและได้ขยายช่องทางไปยังต่างประเทศ  จะใช้สัญลักษณ์อะไรดีที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย ในที่สุดตัดสินใจใช้ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความบริสุทธิ์และงดงาม นำมาเป็นสัญลักษณ์ของห้องเสื้อ โดยคำว่า วนัช แปลว่า ดอกบัว” คุณสรรค์ เผยที่มาชื่อกิจการล่าสุดในแบบของเขา

เมื่อก้าวเข้ามาเป็น “น้องใหม่” วงการผู้ผลิตชุดวิวาห์แบรนด์ไทย เรื่องสำคัญ ที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆ นั่นก็คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าเห็นและยอมรับในผลงาน

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ วนัช กูตูร์  ถูกพูดถึงและได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก น่าจะมาจากผลงาน ชุดไทยจักรพรรดิสีชมพูกลีบบัว  ซึ่งได้รับเลือกจากนิตยสาร WE  ให้ขึ้นหน้าปก” คุณสรรค์ บอกสีหน้าภูมิใจ

ก่อนบอกด้วยว่า “ผลงานชิ้นเอก” ของเขา ข้างต้นนั้น เกิดจากความทุ่มเท ในการค้นคว้าหาข้อมูลและประวัติต่างๆ รวมถึงส่วนประกอบของชุดไทยจักรพรรดิว่าจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง โดยเขาใช้จินตนาการกับองค์ความรู้ที่ศึกษามาบรรจบกันอย่างลงตัว

นับแต่วันแรกถึงปัจจุบัน “วนัช กูตูร์” ดำเนินธุรกิจมาได้สามปีเศษ มีลูกค้าหลากหลายวงการ ทั้งดารา นักธุรกิจ เซเลบ ให้ความไว้วางใจ แถมยังช่วยแนะนำบอกต่อแบบ “ปากต่อปาก” อีกด้วย

“พอทำชุดของเราเอง  จึงมีเอกลักษณ์ มีความแตกต่าง  ผลตอบรับที่ได้คือ เจ้าสาวเริ่มมองว่าชุดของเราไม่เหมือนใคร อยากเข้ามาหาใช้บริการ” คุณสรรค์ บอกอย่างนั้น

นึกสงสัยการผลิตชุดเจ้าสาว ให้โดนใจลูกค้านั้นต้องมีเทคนิคอย่างไร เจ้าของกิจการท่านเดิม บอก การออกแบบมีความสำคัญมาก  เขาจึงใช้ประสบการณ์ ที่สั่งสมมานานกว่า 15 ปี ในการค้นหา “ทิศทาง” ของเจ้าสาวว่าจะชอบแบบไหน พูดง่ายๆ คือ ออกแบบมาแล้ว ต้อง “โดน” และต้องตอบโจทย์ความต้องการในช่วงเวลานั้นๆ ยกตัวอย่าง ชุดเจ้าสาวแบบไทย จะเน้นงานปัก  วัตถุดิบต้องพรีเมี่ยม  เขาจึงใช้ผ้าไหมแท้ทั้งหมด เป็น  ไหมยกลำพูน  ไหมปักธงชัย ส่วนวัสดุในการปักเน้นคริสตัลคุณภาพสูง ต้นทุนหลักแสนบาทขึ้น

เมื่อถามถึงอุปสรรคปัญหาหลังผันตัวมาเป็นผู้ผลิต คุณสรรค์ นึกครู่หนึ่ง ก่อนบอก  ไม่ค่อยมีอะไรหนักใจ อาจเป็นเพราะคร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มานาน  จึงค่อนข้างเข้าใจหลายเรื่องได้ดี

“ปัญหาที่ค่อนข้างหนักใจวันนี้ น่าจะเป็นเรื่องของการใช้วัตถุดิบมากกว่า สมมติเทรนด์ ฝั่งยุโรป นิยมผ้าลักษณะแบบหนึ่ง บางทีเราตามไม่ทัน ทำไมได้เนื้อแบบนี้ เราต้องไปหาข้อมูลเพิ่ม บางครั้งถึงกับต้องบินไปยุโรปเอง ไปดูว่าเขาใช้อะไร ทำไมถึงได้อารมณ์ที่แตกต่าง และผ้าบางอย่างต้องนำเข้า บ้านเราเราไม่มีวัตถุดิบที่หาได้ทั่วไป” คุณสรรค์ อธิบาย

เกี่ยวกับความตั้งใจในธุรกิจ  คุณสรรค์ ยิ้มน้อยๆ ก่อนเผย ทุกวันนี้ลูกค้าในประเทศทั้งกลุ่มชุดไทยและชุดราตรี ค่อนข้างไปได้ดี  ในอนาคตอันใกล้ เขาจึงคิดทำชุดเจ้าสาวราตรีสีขาวสำเร็จรูป แบรนด์ “วนัช กูตูร์” บุกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มทวีปยุโรป แม้ปัจจุบัน ผู้ผลิตจากจีนจะเป็นยักษ์ใหญ่  “ครองตลาด” กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ อยู่ก่อนแล้วก็ตาม

“ฝีมือการตัดเย็บของช่างไทยค่อนข้างดีกว่า  สู้ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างจีน ได้สบายมาก  แต่เรื่องของต้นทุนวัตถุดิบยังด้อยกว่า จึงอาจต้องเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น ทุกวันนี้ จีน ผลิตชุดเจ้าสาวส่งขายทั่วโลก แต่ไม่เน้นออกแบบเอง จุดนี้น่าจะทำให้เข้าไปขอส่วนแบ่งการตลาดได้  ไม่ต้องมากแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วครับ” คุณสรรค์ บอกส่งท้ายอย่างนั้น

ห้องเสื้อ วนัช กูตูร์ เวดดิ้ง สตูดิโอ (Vanus couture) ปัจจุบันตั้งอยู่ ปากซอยลาดพร้าว 50  ถนนลาดพร้าว กรุงเทพฯ มีบริการให้เช่าและตัดตามออร์เดอร์ ชุดเจ้าสาว-เจ้าบ่าว ระดับพรีเมี่ยม ทั้งชุดไทย ชุดยกน้ำชา ชุดราตรี ฯลฯ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-002-4895 หรือ Facebook/ Vanus Couture – วนัช กูตูร์