แนะ 4 หลักการ เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ด้อยค่า ให้มีมูลค่าเพิ่ม

 แนะ 4 หลักการ เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ด้อยค่า ให้มีมูลค่าเพิ่ม

บรรจุภัณฑ์ (Package) เหมือนเสื้อผ้าสวยๆ ที่ช่วยเติมเสน่ห์ให้คนใส่ แต่ถ้าบรรจุภัณฑ์ดูด้อยค่า สวยหรือหล่อแค่ไหนใส่แล้วก็หมอง

หลักการข้อแรก “ต้องปกป้องสินค้า” หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์อย่างแรกเลย ที่สำคัญมาก คือ ต้องสามารถป้องกันสินค้าของเราให้อยู่รอดปลอดภัยจนถึงมือลูกค้าได้ ไม่ใช่ถึงได้ธรรมดานะ แต่ต้องถึงได้โดยไม่ระคายบุบสลาย หรือโดนขีดข่วนแม้แต่น้อย

หลักการข้อที่สอง “ต้องง่ายต่อการขนส่ง” อันนี้เป็นความจำเป็นลำดับสอง ที่ต้องพิจารณาให้ดี เวลาสินค้าถูกขนส่งไปไกลๆ ต้องมีบรรจุภัณฑ์เฉพาะเพื่อการขนส่ง แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ลืมว่า บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งนั้น เขาทำง่ายๆ ไม่ได้เน้นสวยงามแต่อย่างใด แค่ไม่ให้สินค้าบอบช้ำระหว่างการเดินทางเท่านั้น

หลักการข้อที่สาม “ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม” การสร้างมูลค่าเพิ่มในที่นี้ หมายถึง การช่วยทำให้สินค้าดูดีมีมูลค่าเกินกว่าความเป็นจริง เพราะส่งผลต่อการตั้งราคาให้สูงขึ้นได้

ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ควรมีความ “สวย” มีความ “โดดเด่น” สามารถสร้างความสะดุดตา ยามที่อยู่กับสินค้าชนิดเดียวกันบนชั้นวางจำหน่าย ใครเดินผ่าน เป็นต้องหันมอง ต้องหยิบจับมาดู

ความสวย ความโดดเด่น ที่มีในบรรจุภัณฑ์ ควรสร้างความรู้สึกบางอย่างให้กับลูกค้า โดยเฉพาะรู้สึกว่าเป็นของดีมีราคา มีคุณค่าน่าซื้อ หรือเห็นแล้วอยากซื้อไปเก็บ แสดงว่าบรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

หลักการข้อที่สี่ “ต้องสื่อสาร” สื่อสารอะไรหรือครับ เพราะต้องมองว่า สินค้าทุกชิ้นที่ไปอยู่บนชั้นวางในร้านไหนก็ตาม กำลังทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือ การเป็นสื่อเพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สินค้าของตัวเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ต้องให้บรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่บอกกับคนที่ผ่านมาพบเจอว่า “สินค้านั้น คืออะไร” อย่าให้ต้องเดาผิดเดาถูก บอกชัดๆ ไปเลย

รู้ว่าคืออะไรแล้ว ยังต้องรู้ต่อไปด้วยว่า “ใครผลิต” เผื่อเขาติดอกติดใจขึ้นมา อยากบอกต่อ หรืออยากซื้อซ้ำอีก อย่าให้ต้องเดาว่าซื้อได้ที่ไหน ถ้าไปเจอหลายยี่ห้อ ก็ไม่ต้องเดาว่าจะซื้อของใคร

“ชื่อ กับ เบอร์โทร” จึงสำคัญมาก ส่วนที่อยู่ทางไปรษณีย์ คงไม่มีใครเขียนจดหมายมาสั่งซื้อหรอกมั้ง แต่ถ้าบอกไลน์ อินสตาแกรม หรือเฟซบุ๊ก ดูน่าจะมีความเป็นไปได้สูงกว่า

ในกรณีที่สินค้ามีความซับซ้อน อย่าลืมบอกถึงวิธีใช้ลงไปด้วย ซึ่งบางทีบนบรรจุภัณฑ์อาจบอกรายละเอียดได้ไม่พอ ก็ต้องมีใบแนะนำกำกับเพิ่มใส่ไว้ในบรรจุภัณฑ์ด้วย อย่าปล่อยให้ลูกค้าอยู่ในอาการงง แล้วโมโหขว้างทิ้งเสียก่อน เพราะไม่รู้วิธีใช้

บางสินค้ามีข้อกำหนดทางกฎหมาย ว่าต้องระบุอะไรลงไป บรรจุภัณฑ์ก็มีหน้าที่เป็นพื้นที่สื่อสารเช่นกัน เช่น การมีเครื่องหมายรับรองต่างๆ การระบุอันตรายสำหรับสินค้าบางประเภท เป็นต้น

ถ้าทั้ง 4 ข้อ มีครบ สวยงามดูดี รับรอง “ช่วยเพิ่มยอดขาย” แน่นอน

ลองเปลี่ยนดู แล้วจะรู้ว่าพลังของบรรจุภัณฑ์ มหัศจรรย์ยิ่งนัก…