แม่ย้ำกับลูกเสมอ “ต้องหนักเอาเบาสู้ อย่าไปกลัวอะไร ขอให้ขยันไม่มีวันอดตาย”

เรื่องราวชีวิตของแม่ใจสู้ ค้าขายมาสารพัด หวังเพียงให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือสูงๆ แม้ปัจจุบันสังขารเริ่มจะอ่อนแรงไปตามวัย แต่ยังตั้งหน้าตั้งตาหารายได้ ความขยันขันแข็ง หวังส่งต่ออาชีพทำ  “บ๊ะจ่าง” ให้ลูกหลาน มีช่องทางสร้างรายได้เลี้ยงตัวอีกทาง

เจ้าของเรื่องราวนี้ คนเก่าแก่ในเมืองมหาชัย-สมุทรสาคร หลายท่านอาจรู้จักกันดีที่ชื่อ “เจ๊ม้วยนี้” หรือ คุณมณี ปราณีธยาศัย  อายุ  70 ปี  ท่านเป็นลูกหลานชาวจีน ที่บรรพบุรุษข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองซัวเถา มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองไทย โดยมาตั้งรกรากที่ ตำบลท่าฉลอม เมืองสาครบุรี ชื่อสมัยก่อน หรือจังหวัดสมุทรสาคร ในปัจจุบัน

ในวัยเด็ก คุณมณี ต้องทำงานหนักเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว โดยมีแม่เป็นต้นแบบที่ฝึกให้ทุกอย่าง โดยเฉพาะการทำอาหารเลี้ยงคนในบ้านที่มีอยู่หลายคน ซึ่งรวมถึงการทำบ๊ะจ่าง ที่ต้องช่วยกันทำเมื่อใกล้เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ที่จะไหว้กันในวันที่ 5 เดือน 5

“สมัยก่อนต้องช่วยทำกันทั้งบ้าน ทำเป็นกันหมดล่ะ พี่น้อง 4 คน เป็นผู้หญิงหมด ทำอาหารเก่งหมด ดูแม่ทำแล้วก็ทำได้ทั้งนั้นคาวหวาน แป๊ฉ่าย  ขนมเทียน ขนมเข่ง บ๊ะจ่าง” คุณมณี เคยว่าไว้อย่างนั้น

เมื่อแยกครอบครัวออกมา  คุณมณี จึงย้ายตามสามี มาอาศัยอยู่ที่ฝั่งมหาชัย โดยร่วมกันตั้งร้านขายของชำบริเวณริมถนนนิคมรถไฟ มหาชัย ขายก๋วยเตี๋ยว และ ขายบ๊ะจ่าง เสริมในช่วงเทศกาล เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว ที่ต้องเลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 4 คน

“แม่เป็นคนที่ประหยัดมาก จะเก็บผักตำลึงริมรั้วหลังบ้านมาทำกับข้าวตลอด  ช่วงปิดเทอมแม่จะทำขนมไข่ทำปลายี่สก ทำน้ำแข็งไส มาให้ลูกๆนั่งขายหน้าบ้าน เพื่อฝึกให้รู้จักการทำมาหากิน และการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยเวลาให้เสียเปล่า” คุณสวิตตา ปราณีธยาศัย บุตรสาวคนโตของคุณมณี เล่าให้ฟัง

ก่อนย้อนอดีต หลังเปิดร้านของชำได้ไม่นาน แม้จะเป็นร้านค้าเดียวในย่านนั้น แต่รายได้ยังไม่พอจุนเจือครอบครัว เนื่องจากลูกๆ กำลังโตและเริ่มเรียนหนังสือกันสูงขึ้น  จึงเริ่มขายก๋วยเตี๋ยว เพราะเห็นที่ว่างอยู่ข้างตึก

“แม่ขายมาสารพัดทั้งก๋วยเตี๋ยวหมู ก๋วยเตี๋ยวเป็ด  ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ โดยคิดค้นสูตรทำขึ้นมาเอง จนมีชื่อเสียงติดตลาดเป็นที่รู้จักกันในตลาดมหาชัย  ว่าเจ๊ม้วยนี้ เป็นคนขยัน ช่วงเช้าขายก๋วยเตี๋ยวแล้ว ช่วงเย็นยังแบ่งเวลามาทำขนมขายอีก” บุตรสาวคนเดิม เล่า

แต่ด้วยสังขารที่ร่วงโรยตามเวลา ขายก๋วยเตี๋ยวอยู่กว่า 10  ปี  เริ่มทำไม่ไหวเพราะขาเจ็บ ลูกเขยคนเล็กของคุณมณีจึงให้เลิกขาย และให้มาช่วยเลี้ยงหลาน  แต่แม้จะเลิกขายก๋วยเตี๋ยว แต่ด้วยนิสัยที่ขยันอยู่นิ่งไม่เป็น หลังจากหลานๆ โตพอเข้าโรงเรียน  คุณมณีจึงใช้เวลาว่างช่วงเฝ้าร้านขายของชำ  คิดทำขนมขาย ทั้ง ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง ข้าวเหนียวลูกตาล ข้าวเหนียวกลอย  ช่วงเทศกาลตรุษ-สารท ก็ทำขนมเทียน ขนมเข่ง ทำบ๊ะจ่าง ขาย

จากรายได้ร้านของชำบวกกับความขยันหมั่นเพียร ที่ทั้งรับและทำขนมขายหน้าร้าน ทำให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททุกคน  และเมื่อลุกๆ ออกเหย้าออกเรือนไปสร้างครอบครัว    คุณมณีจึงทำขนมขายน้อยลง จนเหลือแต่ร้านของชำเป็นรายได้หลัก

หยุดพักการทำขนมได้ไม่นาน ลูกสาวคนโต ลาออกจากงานประจำกลับมาอยู่บ้าน เพื่อช่วยร้านของชำและดูแลพ่อแม่ที่สังขารเริ่มร่วงโรย  แต่อย่างที่ทราบกันดี ปัจจุบันร้านของชำนั้น “อยู่ลำบาก” ขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ที่มาเปิดบริเวณใกล้เคียงแล้ว ยังมีห้างเปิดใหม่แบรนด์ดังผุดขึ้นในเมืองมหาชัยมากมาย

เมื่อธุรกิจร้านชำ ทำท่าจะไปได้ลำบาก  คุณมณีกับลูกสาวคนโต จึงปรึกษากันและเห็นว่าควรจะเอาความชำนาญเก่าๆ มาปัดฝุ่นใหม่ สุดท้ายจึงมาลงตัวที่บ๊ะจ่าง เพราะมีวัตถุดิบในพื้นที่ อีกทั้งยังไม่ค่อยมีคนคิดทำขายทั้งปี

โดยการดำเนินธุรกิจบ๊ะจ่างรอบใหม่นี้ ตั้งเป้าหมายที่จะขายได้ทั้งปี โดยดึงหลานๆ ที่ถนัดด้านไอที เข้าช่วยในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยตั้งเพจชื่อ “บ๊ะจ่าง เจ๊ม้วยนี้”  การปัดฝุ่นธุรกิจใหม่ครั้งนี้ มีคุณมณี เป็นผู้ควบคุมการผลิต ทั้งรสชาติและคุณภาพวัตถุดิบ รวมถึงสอนถึงวิธีการห่อลูกบ๊ะจ่างให้สวยงามและน่าทานอีกด้วย

“หลายครั้งได้ยินคนแถวบ้านพูดว่า เจ๊ม้วยนี้เป็นคนขยัน  รู้จักทำมาหากินแบบไม่รู้จักเหนื่อย  แม่จะบอกว่า เหนื่อยเหมือนกัน แต่ทำยังไงได้ ในเมื่อครอบครัวต้องกินต้องใช้  แต่เมื่อเห็นลูกๆ โตขึ้นมา มีงานมีการทำไม่น้อยหน้าคนอื่น แม่ก็ดีใจ หายเหนื่อย” บุตรสาว บอกเล่าถึงแม่ของเธออย่างนั้น

ก่อนสรุปทิ้งท้าย ด้วยสีหน้าภูมิใจ

“แม่ย้ำเสมอว่า คนเราต้องต่อสู้ชีวิต หนักเอาเบาสู้ อย่าไปกลัวอะไร  ชีวิตขอให้ขยัน ไม่มีวันอดตาย”