สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก แหล่งน้ำนมดิบคุณภาพ ส่งสวนจิตรลดา

อำเภอมวกเหล็ก หากพูดชื่อนี้เชื่อว่ามีหลายคนรู้จัก แต่รู้หรือไม่ว่าที่อำเภอแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตน้ำนมดิบ หนึ่งในอาชีพพระราชทานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมเพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชนชาวไทย

สหกรณ์แห่งนี้เดิมมีชื่อเรียกว่า “สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมนิคมมวกเหล็ก” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2515 ราว 46 ปี ต่อมาในปี 2526 ได้ทำการจดทะเบียนเพื่อแก้ไขข้อบังคับและเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด” เป็นสหกรณ์การเกษตร และขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งเขตพื้นที่จังหวัดสระบุรี และเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครราชสีมา คือ อำเภอปากช่อง จวบจนปัจจุบัน

 

สมาชิก 555 ฟาร์ม เลี้ยงโคนม 12,000 ตัว

สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก มีสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมกว่า 555 ฟาร์ม เลี้ยงดูโคนมรวมทั้งสิ้น 12,000 ตัว มีทุนเรือนหุ้น 85.5 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจแต่ละปีสูงกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่กระจายไปถึงชุมชนเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์โดยตรง

คุณนครินทร์ สีวงกต ที่ปรึกษาสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก เล่าว่า สหกรณ์โคนมมวกเหล็กเริ่มจากการรวบรวมสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่เพียง 7 ท่านเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีสมาชิกถึง 555 ฟาร์ม ในจำนวนนี้มีทั้งฟาร์มเล็กและฟาร์มใหญ่รวมกัน

เมื่อสหกรณ์เริ่มเติบโต จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น ทางสหกรณ์ได้จัดทำบริการเพื่อช่วยเหลือสมาชิกแบบครบวงจร เริ่มจากการจำหน่ายและบริการมินิมาร์ท สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป บริการปั๊มน้ำมัน ธุรกิจสินเชื่อ เปิดโรงงานอาหารสัตว์มีทั้งชนิดผงและชนิดเม็ด และมีสัตวแพทย์ผสมเทียมไว้บริการ

รวมทั้งเข้าไปช่วยวางมาตรฐานฟาร์มสมาชิก ให้ผ่านมาตรฐาน GAP เช่น หากจะเข้าชมต้องมีบ่อฆ่าเชื้อ ใส่หมวก ผ้าปิดปาก แยกวัวให้เป็นสัดส่วน ซึ่งฟาร์มที่ได้มาตรฐานจะผ่านการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์

 

ปริมาณน้ำนมดิบ 118 ตัน/วัน

ด้วยความพร้อมทั้งหมดนี้ ส่งผลให้สหกรณ์โคนมมวกเหล็กมีปริมาณน้ำนมดิบจากสมาชิกสหกรณ์ประมาณ 108 ตันต่อวัน รับซื้อจากสหกรณ์เชื่อมโยง 10 ตันต่อวัน รวมแล้ว 118 ตันต่อวัน ด้วยราคารับซื้อมาตรฐาน 17.50 บวกลบตามคุณภาพ ฟาร์มที่ได้มาตรฐานจะได้ราคาสูงถึง 19 บาท คุณภาพสูงสุด คุณนครินทร์ อธิบายว่า น้ำนมต้องสะอาด มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบ SCC โดยเจ้าหน้าที่ในห้องแล็บ

“เมื่อเรามีต้นน้ำและกลางน้ำที่สมบูรณ์แบบแล้ว เราควรจะเน้นตัวเองมากขึ้นที่ปลายน้ำตามคำแนะนำของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้ปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมทำโรงงานแปรรูปนม ระบบยูเอชที ระบบพาสเจอไรซ์ ต่อยอดขึ้นมาอีกขั้นคือแปรรูปผลิตภัณฑ์นมพาสเจอไรซ์หลายรสชาติ รสน้ำผึ้ง ข้าวโพด ช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี่ เค้กหน้านิ่ม โยเกิร์ต ไอศกรีมนมสด เจลาโต้ พุดดิ้งนมสด ฯลฯ”

 

คุณนครินทร์ ระบุอีกว่า ปริมาณน้ำนมดิบจำนวนมากนี้ ทางสหกรณ์ได้ส่งน้ำนมดิบให้กับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และเอกชนชื่อดังหลายที่

และในส่วนของสหกรณ์เองได้ผลิตนมภายใต้แบรนด์มวกเหล็ก แดรีมิลค์ ในรูปแบบกล่อง ด้วยระบบเครื่องจักรทันสมัย 3 เครื่อง ซึ่งมีกำลังการผลิต 5,000 กล่องต่อชั่วโมง เฉลี่ยแล้ว 140,000 กล่องต่อวัน และน้ำนมดิบบางส่วนยังได้นำมาผลิตนมโรงเรียน ทั้งบรรจุกล่องและบรรจุถุง ส่งให้กับโรงเรียนในเขตภาคกลาง 13 โรงเรียน

เปิดศูนย์การเรียนรู้ ดูกระบวนการต้นน้ำ-ปลายน้ำ

 นอกจากเป็นแหล่งผลิตนมแล้ว สหกรณ์ยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจการเลี้ยงโคนมมาศึกษาดูงานตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำตลอดจนกระบวนการปลายน้ำ ตั้งแต่การรีดนม ป้อนนม ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตนมแปรรูป และเวิร์กช็อป หากสนใจสามารถติดตามได้ในเว็บไซต์ http://www.muaklekcoop.com/

“สถานที่ของเราเปิดให้ดูแบบออริจินอล ให้มาสัมผัสกับเบื้องหลังจริงๆ กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์อร่อยๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร ในปีนี้ สหกรณ์มีแผนจะปรับปรุงสำนักงานใหม่ เป็นอาคาร 2 ชั้น  พร้อมห้องประชุมสามารถรองรับผู้ร่วมประชุมได้ 200 คน รวมถึงปรับปรุงร้านกาแฟบริเวณด้านหน้า เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ด้วยงบประมาณ 12 ล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จกลางปีหน้า

 

เป็น 1 ใน 35 ชุมชนสหกรณ์นำร่อง

“ไมซ์เพื่อชุมชน”

สหกรณ์โคนมมวกเหล็กเป็น 1 ใน 35 ชุมชนสหกรณ์นำร่องที่ทางทีเส็บมีแนวทางจะส่งเสริมให้เป็นสถานที่จัดงานไมซ์เพื่อชุมชน โดยสหกรณ์ที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 35 แห่ง จะได้รับการรวบรวมจัดทำเป็นคู่มือสถานที่จัดงานไมซ์เพื่อชุมชน มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายองค์กรธุรกิจสมาชิกเครือข่ายอนาคตไทย บริษัทต่างๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน สถานศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ ผ่านช่องทางทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์

คุณสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีสหกรณ์อยู่จำนวนมากกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ หลายแห่งมีศักยภาพ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งจัดฝึกอบรม เรียนรู้ สำหรับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ได้ จึงได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน”

“สหกรณ์ที่เราคัดเลือก ล้วนเป็นสหกรณ์ที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งสถานที่ ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งคนในพื้นที่”

คุณนครินทร์ กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการไมซ์เพื่อชุมชนว่า การที่สหกรณ์ได้รับการคัดเลือกนั้น ทางโครงการอาจเล็งเห็นว่า สหกรณ์โคนมมวกเหล็กเป็นสหกรณ์ที่กำลังจะเริ่มเข้าสู่การพัฒนา พร้อมที่จะปรับเข้าสู่การท่องเที่ยว การเข้าร่วมในครั้งนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน เพิ่มโอกาสให้สหกรณ์และสมาชิกอีกด้วย