พารู้จัก 5 ร้านเครื่องเงิน อัตลักษณ์ภาคเหนือไทยทรงคุณค่า

เมื่อหลายวันก่อนมีโอกาสเข้าร่วมงานในโครงการ ‘สืบสานงานเงิน’ ที่ ‘สยามเจมส์ กรุ๊ป’ จัดขึ้น ที่จังหวัดน่าน โดยงานในวันนั้นเป็นกิจกรรมรอบ Mini Matching ที่ทางสยามเจมส์จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเพื่อเซ็นสัญญาจำหน่ายสินค้า ส่วนผู้ประกอบการที่ยังไม่มีความพร้อมแต่สามารถพัฒนาได้จะให้เข้าร่วมโครงการกับสยามเจมส์ต่อไป

ภายในงานมีผู้ประกอบการเครื่องเงินและช่างฝีมือเข้าร่วมทั้งหมด 19 ราย (จากทั่วประเทศ 33 ราย) แบ่งเป็นสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ 9 ราย และประเภทแฟชั่น 10 ราย

สำหรับ ‘เครื่องเงิน’ ในประเทศไทยนั้น ช่างไทยเรามีฝีมือไม่แพ้ชาติใดในโลกโดยเฉพาะผู้ประกอบการจากภาคเหนือ ทั้งความละเอียดในเนื้องาน เนื้อเงินคุณภาพ ลวดลายที่ทันสมัย สร้างสรรค์ผ่านรูปแบบเครื่องประดับ ต่างหู กำไล สร้อยคอ ก็ดี หรือจะเป็นเครื่องใช้ตั้งโชว์นั้นสวยงามไม่แพ้กัน ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองส่งผลให้เครื่องเงินไทยนั้นส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีมูลค่าการตลาดมากถึง 1,700 ล้านดอลลาร์ เลยทีเดียว

แน่นอนว่าภายในงาน มีร้านเครื่องเงินเก่าแก่และหน้าใหม่มาร่วมงานกันคึกคัก ต่างชูจุดเด่นของร้านอย่างไม่ยอมกัน

เริ่มต้นที่ร้าน Montri Sukhothai  Silver Jewelry โดยคุณมนตรี นนทธิ อายุ 46 ปี จากสุโขทัย ร้านนี้คร่ำหวอดอยู่ในวงการเครื่องเงินมายาวนาน 16 ปี จนขยับขยายมาเปิดร้านได้ 8-9 ปีแล้ว โดยเอกลักษณ์ของทางร้านคือการติดลายกับสลุลาย และดีไซน์รูปแบบที่ร่วมสมัย สามารถใส่กับเสื้อผ้าได้หลายแบบ จำหน่ายตามงานอีเว้นต์และออกตามบู๊ธต่างๆ

“อยากให้เครื่องเงินเป็นที่รู้จัก และมีตลาดรองรับมากขึ้น เพราะจะได้เผยแพร่ความเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย ช่วยชุมชนมีรายได้ ลูกหลานก็อยากกลับมาสืบทอดกิจการ” คุณมนตรี กล่าว

ร้านที่สองยาวนานไม่แพ้กัน เพราะเปิดมากว่า 35 ปีแล้ว คุณเคนอิจิ โชดะ หนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่นเจ้าของร้านแอลฟ่าคราฟท์เวอร์ค จังหวัดน่าน ระบุว่า ทางร้านมีทั้งโรงงานผลิตและหน้าร้านอยู่ที่สนามบินน่าน

มีจุดเด่นคือการใช้เทคนิค หล่อ ขึ้นรูป ฝังพลอย ขัดโลหะ ส่งขายตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก ปีละ 10-15 ล้านบาท ซึ่งเครื่องประดับ จี้ แหวน ต่างหู จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ

ถัดมาที่ ร้านบุญมากซิลเวอร์ โดยคุณเพ็ญนภา บุญมาก ที่สืบสานเครื่องเงินมา 10 กว่าปีแล้วเหมือนกัน ใช้เทคนิคด้านการตกแต่งและขึ้นชิ้นงานเป็นหลัก มีจุดเด่นคือใช้พลอยผสมกับเงิน

โดยผลงานชิ้นโดดเด่นคือการนำปู่ม่านย่าม่านซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน มาใช้กับงานเครื่องเงิน ทำเป็นเครื่องประดับสร้อยและต่างหู

ต่อด้วย ร้านธนาภรณ์ จิวเวลรี่ จากจันทบุรี โดยคุณปราชณ์ สุทธาจารเกษม เผยว่า เปิดร้านเครื่องเงินมา 6-7 ปีแล้ว ส่งเฉพาะในประเทศไทย โดยจุดเด่นของร้านคือเทคนิคการเรียงพลอยและเผาพลอย

เพราะพลอยจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเครื่องเงิน ใช้พลอยเนื้อแข็ง หรือทับทิม ไพลิน ส่วนใหญ่แล้วสินค้าในร้านเน้นเครื่องประดับ อย่างข้อมือจะมีเงินประมาณ 20% ส่วน 80% เป็นพลอย

ไม่ใช่มีแค่ร้านเก่าแก่เท่านั้น อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น ร้านหน้าใหม่นั้นมีมาเหมือนกัน สุดท้ายที่ ร้านปัณณศลัน โดยคุณปัณณศลัน แก้วประเสริฐ จากนนทบุรี เพิ่งเริ่มต้นร้านเครื่องเงินได้ไม่นาน สำหรับเครื่องเงินทางร้านเลือกใช้เทคนิคการลงยาและถมทองแบบโบราณ เจ้าของร้านให้เหตุผลว่า เทคนิคนี้นิยมใช้กับเครื่องประดับไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว จึงนำตัวนี้มาเป็นเอกลักษณ์

โดยเครื่องประดับของร้านมีแรงบันดาลใจมาจากความสวยงามของ ดอกบัวหลวง นำรูปทรงและส่วนประกอบต่างๆ จากดอกบัวมาใช้