เคยเจ๊งแต่ไม่ท้อ! อดีตแอร์โฮสเตสสาว ใจรักค้าขาย ผลิต “พายสูตรเด็ด” ดังทั่วประเทศ

ถูกอกถูกใจ แบบติดลมบนไปแล้ว สำหรับ “พายหมูแดง” สูตรฮ่องกง เจ้าแรกของไทย ภายใต้แบรนด์ APRIL’S BAKERY (เอพริล เบเกอรี่) เพราะผลตอบรับดีเกินคาด  หลังจากประกาศขายแฟรนไชส์ไม่นาน ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมธุรกิจในฐานะ แฟรนไชซีแล้ว กว่า 50 ราย และเป้าหมายตั้งไว้จะไปให้ถึง 100 รายทั่วประเทศ

คุณณธนพร เอื้อวันทนาคูณ อนุญาตให้เรียกแบบกันเองว่า คุณอร เจ้าของกิจการ APRIL’S BAKERY (เอพริล เบเกอรี่) กรุณาสละเวลามาพูดคุยด้วยบุคลิกยิ้มแย้มเป็นกันเอง เริ่มต้นแนะนำตัว พื้นเพเป็นชาวนครสวรรค์ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ด้านบริหารธุรกิจ เคยทำงานเป็นพนักงานต้อนรับของสายการบินต่างชาติอยู่ 2 ปีเศษ ก่อนลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว

ด้วยความเป็นคนช่างทานและชอบทำอาหาร จึงขอทุนทางบ้านมาเปิดร้านกาแฟเล็กๆ อยู่คอมมูนิตี้มอลล์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และอาจเพราะไม่ศึกษาให้รอบด้านเสียก่อน เปิดได้ไม่ถึง 1 ปี ไม่มีกำไรเลย กิจการของตัวเองอย่างแรกจึงต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม ระหว่างเปิดร้านดังกล่าวอยู่นั้น มีโอกาสได้ฝึกหัดทำเบเกอรี่หลายชนิด จึงทำออกมาแล้วนำไปฝากขายที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านพระราม 3

คุณอร เล่าต่อ ช่วงนั้นทำขนมสไตล์อิตาเลียน อย่าง สแน็กผักโขม พิซซ่าโรลเบคอน ฯลฯ ออกมาใส่ตู้แช่ขายในห้าง แรกเริ่มผลตอบรับดีจนทางห้างบอกให้เพิ่มสาขา เลยต้องขยายการลงทุน ด้วยการซื้อตู้แช่ใบละ 50,000 บาท นำไปวางตามห้างในเครือนับสิบแห่ง ปรากฏ “เจ๊ง” ไม่เป็นท่า ภายในเวลาแค่เดือนเศษ

“แค่รู้สึกว่าน่าจะขายได้ แต่ไม่มีการวิจัย ไม่ศึกษาพฤติกรรมคนทานในทำเลนั้นว่าชอบทานหรือเปล่า ไม่เคยไปดูทำเลก่อน พอห้างเสนอมาให้ที่ไหนก็ไปที่นั่น แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าขายได้วันหนึ่งไม่ถึง 800 บาท พูดง่ายๆ ขาดทุนทุกสาขาเลย” คุณอร เล่าเสียงหม่น

ในที่สุด คุณอร ตัดสินใจขายตู้แช่ที่มีอยู่ทั้งหมด และยุบเหลือหน้าร้านเพียงแห่งเดียวในห้างชื่อดังย่านพระราม 3  แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จนทางห้างแจ้งให้ทราบว่าสินค้าขายไม่ได้ ต้องเปลี่ยนของใหม่มาขายแทน ถ้าทำไม่ได้จะให้เจ้าอื่นมาขายแทน และเพราะไม่อยากเสีย “สายสัมพันธ์” ทางธุรกิจกับทางห้าง คุณอรจึงเปลี่ยนมาขายเค้ก คุกกี้ มัฟฟิน ฯลฯ แทน แต่จนแล้วจนรอดยอดขายยังไม่กระเตื้องอยู่ดี

คุณอร เล่าต่อ ช่วงนั้นยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรออกมาขาย แต่ก่อนหน้ามีโอกาสเดินทางไปฮ่องกงบ่อย และมีเพื่อนๆ ชวนไปทาน “พายหมูแดง” เจ้าดัง และบอกให้ฟัง คนไทยที่ไปเที่ยวฮ่องกงเมื่อได้ทานแล้ว ต้องซื้อกลับมาเป็นของฝากกันแทบทุกราย เธอเลยหิ้วกลับมาให้น้องสาวช่วยชิม ก่อนได้คำแนะนำ ทำไมไม่ทำของแบบนี้ออกมาขายบ้าง

“ตอนนั้นบอกน้องสาวไป ดูแล้วไม่ใช่จะทำง่ายๆ เพราะแป้งมีหลายชั้น อีกอย่างตัวเองถนัดทำของหวานมากกว่าของคาว กระทั่งสถานการณ์ของร้านย่ำแย่สุดๆ เลยตัดสินใจลองทำดู เป็นการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ไม่ได้ซื้อสูตรมาแต่อย่างใดค่ะ” คุณอร เล่าจุดเริ่ม

ก่อนบอก เธอใช้เวลาประมาณ 3 เดือน กว่าจะได้สูตรส่วนผสมน่าพอใจ

“พายนี้ใช้แป้งหลายชนิด พอนวดได้ที่แล้วจึงนำมาวางทับกันทีละชั้น กว่าจะทำออกมาได้ยากมาก ตอนแรกทำไม่ได้ เลยออกอาการโวยวาย โมโหเหวี่ยง ขว้างแป้งกับผนัง เกือบถอดใจหลายครั้ง” เจ้าของเรื่องราว เล่าความหลังกลั้วเสียงหัวเราะอารมณ์ดี

สุดท้าย คำพังเพยที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” คงใช้ได้กับกรณีของคุณอร เพราะหลังจากตั้งใจทดลองทำมาตลอด 3 เดือน เธอประสบความสำเร็จ สามารถทำพายหมูแดงสูตรฮ่องกง ออกมาได้อร่อยสมความตั้งใจ

“พอชิมแล้วชอบ ทานได้ทุกวันไม่เบื่อ เลยคิดว่าน่าจะทำออกขายได้แล้ว สรุปวันแรกขายได้ 20 ชิ้น ลูกค้าถามขนมอะไร หน้าตาไม่สวยเลย แป้งทำไมหลุดอย่างนี้ แต่ถ้าใครเคยทานจะทราบว่าหน้าตาไม่สวยแต่รสชาติอร่อย” คุณอร ย้อนความทรงจำไปเมื่อครั้งเริ่มต้น

ใช้เวลาไม่นานยอดขายดีขึ้น มีลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ประกอบกับคุณอร “แจกไม่อั้น” ทั้งคนใกล้ตัว เพื่อนฝูง ญาติผู้ใหญ่ เจอใครเป็นต้องให้ลองชิม หวังให้มีการบอกปากต่อปาก

เมื่อผลประกอบการดีขึ้น จึงขยับขยายสาขาอีกครั้ง กระทั่งมีหน้าร้านขายเกือบ 10 แห่ง ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้มีคนสนใจมาเลียบเคียงขอซื้อแฟรนไชส์

“ทางครอบครัวไม่ให้ขายแฟรนไชส์ เพราะกลัวมีปัญหาเยอะ เลยตั้งใจไว้อย่างนั้น แต่ลูกค้าคนแรกมาอ้อนขอซื้อเลยใจอ่อนขายให้ ต่อมามีเพื่อนมาขอซื้ออีก จนทุกวันนี้มีแฟรนไชส์กว่า 50 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด” เจ้าของเรื่องราวบอก สีหน้าภูมิใจ

แม้ในช่วงต้นตั้งใจไม่ขยายธุรกิจในลักษณะแฟรนไชส์ แต่พอได้ทำแล้ว คุณอร ออกปากยอมรับจากใจ แฟรนไชส์ เป็น “จุดเปลี่ยน” ทำให้ธุรกิจในแบบของเธอ โตขึ้นและขยายได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

“แฟรนไชส์ของเอพริล เบเกอรี่ สาขาหนึ่งใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง  การที่แฟรนไชซีกล้าลงทุนขนาดนั้น จะต้องไม่ยอมขาดทุนและทำทุกวิถีทางจะไปให้รอดให้ได้กำไร ซึ่งจนถึงวันนี้ มั่นใจว่าแม้ขนมหน้าตาไม่สวยงาม แต่คุณภาพและรสชาติลูกค้าชอบ อย่าง ช่วงตรุษจีน ปีใหม่ ผลิตแทบไม่ทัน ออร์เดอร์ครั้งละเป็นร้อยเป็นพันชิ้น เคยผลิตมากที่สุด 20,000 ชิ้น ต่อวัน” คุณอร เผยอย่างนั้น

ก่อนบอกถึงเงื่อนไขร่วมทำธุรกิจด้วยว่า แฟรนไชซี ต้องลงทุนหลักแสน ก่อนจะได้รับแบรนด์อิมเมจ และมีสิทธิ์สั่งซื้อขนมในราคาแฟรนไชส์ ส่วน ตู้แช่ อุปกรณ์ต่างๆ ในการขาย แฟรนไชซีต้องลงทุนเองทั้งหมด

สำหรับการพิจารณาคุณสมบัติของคู่ค้า คุณอร บอก ลงทุนแฟรนไชส์ของเธอ นับว่าสูงพอสมควร ฉะนั้น ต้องถามไถ่กันตรงไปตรงมาว่ามีเงินทุนมากน้อยแค่ไหน และอยากทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม ซึ่งส่วนใหญ่บอกอยากค้าขายเป็นงานอดิเรก

ถามถึงแผนธุรกิจที่วางไว้ คุณอร บอก ตั้งใจอยากมีแฟรนไชส์ครบ 100 สาขา โดยเน้นพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นหลัก เพราะในกรุงเทพฯ มีแล้วแทบทุกห้าง

นอกจากนี้ จะเริ่มทยอยคิดค้นขนมและเครื่องดื่มสูตรใหม่ มาขายคู่กันเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น และตั้งใจนำผลงานไปตลาดต่างประเทศด้วย

 

“อยากไปขายที่จีน แต่มีคนบอกว่าน่ากลัว ถ้าไม่แน่จริงสองสามวันมีคนก๊อบปี้ทันที แต่ก็ยังอยากไป เพราะเคยทานขนมที่เขาว่าดังกัน ชิมแล้วไม่เห็นอร่อย แต่ขายดีคนต่อแถวยาวเลย” คุณอร ทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น

สนใจแฟรนไชส์ “เอพริล เบเกอรี่” สอบถามพิ่มเติมได้ที่ เลขที่ 46 ซอยจันทิมา ลาดพร้าว 80 ถนนลาดพร้าว แขวง-เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310 โทรศัพท์  (082) 229-6556 อีเมล  [email protected]  หรือ Facebook/April’s Bakery

 

ภาพประกอบ : Facebook/ April’s Bakery