เสียงสะท้อนจากเรือจ้าง! “สร้างหนี้เพราะอยากให้ครอบครัวคุณภาพชีวิตดี…เหมือนอาชีพอื่นเขาบ้าง”

“ทำยังไงได้ ก็ไม่ได้เกิดมาบนกองทอง”

บทเพลง “ชีวิตหนี้” ของศิลปินดังในอดีต แว่วมาในโสตประสาท ช่างสอดรับกับสถานการณ์กำลังเป็นที่ฮือฮา “ครูไทย” เป็นหนี้พัวพันกันแทบทั้งประเทศ

แต่จะว่าไปแล้วสภาพ “การเป็นหนี้” น่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนส่วนใหญ่ในประเทศที่มีเสียงค่อนขอดมาตลอดว่า “รวยกระจุก จนกระจาย”

“คนเป็น ครู ก็อยากมีชีวิตสุขสบายเหมือนคนปกติทั่วไปนั่นแหละค่ะ และที่ต้องเป็นหนี้มันก็มาจากหลายสาเหตุ” ข้าราชการครูวัยสี่สิบ  สังกัดโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มากว่า  11 ปี เริ่มต้นบทสนทนา ก่อนบอกว่า เธอยินดีแจ้งชื่อ-นามสกุล และต้นสังกัด แต่เป็นฝ่ายสื่อมวลชนอย่างเราเองต่างหาก ที่บอกไม่ต้องเปิดเผยขนาดนั้น เพราะเกรงคุณครูจะมีเรื่องยุ่งยากภายหลัง

จากนั้นคุณครูท่านเดิม จึงให้ข้อมูลต่อ เมื่อถูกตั้งคำถาม เหตุผลของการมีหนี้ “คือ โดยพื้นฐานของครอบครัว ไม่ได้มีเหลือเฟือจนเหลือเก็บอยู่แล้ว ถ้าเราอยากมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ก็ต้องสร้างจากการลงทุนกับตัวเอง ค่าตอบแทนจากอาชีพที่เป็นเพียงอย่างเดียว คงใช้เวลานานพอสมควร กว่าที่เราจะมีเงินเหลือเก็บ เราก็ต้องสร้างเครดิตให้กับตัวเอง สร้างภาระหนี้ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของตัวเองให้อยู่ในระบบพื้นฐานของความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีบ้าน มีรถ มีเงินสดใช้จ่ายในชีวิตตามความเหมาะสมและยังพอมีเหลือแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่ลำบากกว่าเราได้”

เมื่อถามต่อ แล้วกู้มาทำอะไรบ้าง คุณครูท่านเดิมนึกครู่หนึ่ง ก่อนบอก กู้มาซื้อที่อยู่อาศัย ซื้อพาหนะใช้ในการเดินทางที่ปลอดภัยให้กับตัวเองและลูก กู้มาซื้อหลักประกันคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เช่น ซื้อประกันชีวิตให้ทุกคนในครอบครัว กู้มาซื้อทรัพย์สินอุปโภค-บริโภค ในชีวิตประจำวัน กู้มาดูแลสมาชิกในครอบครัว เลี้ยงดูบุตร ไม่ให้เป็นภาระคนอื่น กู้มาใช้หนี้จากนอกระบบที่เราเคยต้องเสียดอกเบี้ยในราคาที่สูงกว่าสถาบันการเงินถูกต้องตามกฎหมาย

แล้วกู้มาจากไหนบ้าง คุณครูท่านเดิม เผย ทั้ง ในระบบ คือ สถาบันการเงินทั่วไป และ นอกระบบก็มีบ้าง ช่วงสภาวะทางการเงินขาดสภาพคล่อง พูดง่ายๆ คือ “กู้มา หมุนไป” แล้วหารายได้เพิ่มเติมจากไหน แหล่งข่าวบอกยิ้มๆ ขายของออนไลน์บ้าง สอนพิเศษบ้าง

แบบนี้ จะมีสมาธิในการทำงานหลัก คือ การสอนหนังสือ หรืออย่างไร คำถามนี้ อาจกวนอารมณ์ของคุณครูท่านนี้เล็กน้อย แต่เธอก็ยิ้มกว้าง ก่อนตอบ

“ต้องแยกแยะเวลางานนะคะ สมาธิการทำงานหลักมีแน่นอนค่ะ แต่สมาธิในการพักผ่อนไม่ค่อยเพียงพอ เพราะต้องคิดตลอดว่าจะเอาเงินจากไหนมาคืนเขา ตามยอดในแต่ละเดือน”

ขอคำถามสุดท้าย ความรู้สึกต่อ ข่าว “ครูเบี้ยวหนี้” คุณครูท่านเดิม บอก

“ไม่แน่ใจว่าพวกท่านเหล่านั้นมีเหตุผลอะไร แต่โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เคยคิดอยากจะเบี้ยวหนี้ หากร่างกายยังทำงานไหว และหารายได้ได้อยู่ ก็ยืนยันจะใช้หนี้ให้หมดค่ะ”