สึนามิถล่มยังผ่านมาได้! ศึกษากลยุทธ์ฝ่าฟันมรสุม ร้าน“พรทิพย์”ของฝากดังเมืองภูเก็ต

ร้านของฝากของที่ระลึก “พรทิพย์” นับว่าได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งไทย-ต่างชาติ ยามนี้หากใครไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ตแล้วไม่แวะหาซื้อสินค้าติดไม้ติดมือไป อาจถูกคนที่บ้านถามไถ่ถึงขั้นต่อว่าต่อขานกันได้เลยทีเดียว

ปัจจุบันบริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด มีผลิตภัณฑ์ตราพรทิพย์ วางจำหน่ายใน MODERN TRADE ชั้นนำของไทย และยังส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตได้เป็นอย่างดี

ที่ผ่านมา บริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต)จำกัด เคยได้รับรางวัลด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับนานาชาติมาแล้ว  โดยในปี 2554 ได้รับ รางวัลชนะเลิศ Asiastar Packaging Awards 2011 ณ ประเทศบังคลาเทศ จากบรรจุภัณฑ์ 2 รายการ คือ บรรจุภัณฑ์ขนมโบราณเมืองภูเก็ตในกล่องชิโน-โปรตุกีส และบรรจุภัณฑ์ชุด Andaman Gift Set

 “เริ่มธุรกิจครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2534  มีหลายคนบอกจะไปได้หรือ ความจริงกว่าที่จะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ไม่ง่ายหรอก ต้องมีการปรับปรุง ปรับตัวกันอยู่ตลอดเวลา และกล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เข้าถึงใจผู้บริโภค”คุณวิรวัฒน์ เปี่ยมวิวัตติกุล ประธานบริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด เริ่มต้นอย่างนั้น

ก่อนเล่าต่อ กิจการในแบบของเขาเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์หมูแผ่น หมูหยอง ตราพรทิพย์ (น่ำง่วน) ของจังหวัดนครราชสีมา 11 ปีต่อมา ขยายธุรกิจและเปิดดำเนินการในรูปแบบของบริษัท ย้ายโชว์รูมสินค้ามาตั้งใหม่บนพื้นที่กว่า 3 ไร่ มีการสร้างโรงงานผลิตอาหารทะเลแห้งแปรรูปปรุงสมุนไพร ภายใต้แบรนด์ “พรทิพย์”

ธุรกิจเติบโตขึ้นตามลำดับ ปี 2546 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 6 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ แต่ถัดจากนั้นเพียงปีเดียว เกิดเหตุการณ์ “คลื่นยักษ์สึนามิ”  ถล่มภาคใต้ของไทย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก จนต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ และหาช่องทางการทำธุรกิจใหม่ จากเดิมที่ผลิตมาเพื่อป้อนธุรกิจร้านของฝากเมืองภูเก็ตของตนเอง มาเป็นการกระจายสินค้าสู่ตลาด MODERN TRADE และตลาดส่งออก

“ร้านเราไม่เสียหาย แต่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เพราะโรงแรม ร้านอาหาร รอบหาดเสียหายหมด ปิดกิจการกันเป็นแถว นักท่องเที่ยวถดถอย ลูกค้าไม่มี การค้าแย่มากไม่สามารถทำกำไรได้เลย จึงมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่ออกงานแฟร์ งานโอท็อป และตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อระบายสินค้าในโรงงาน หารายได้มาหล่อเลี้ยงคนงานที่ตอนนั้นมีอยู่กว่า 60 ชีวิต”คุณวิรวัฒน์ ย้อนอดีตครั้งนั้น

 

และด้วยความที่ต้องมาเปิดตัวสินค้าในเมืองหลวง นี่เอง ที่ทำให้สินค้า แบรนด์ พรทิพย์(ภูเก็ต) จะต้อง “แต่งตัว”ให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น  โดยนำวัฒนธรรมท้องถิ่นภูเก็ตมาเป็นจุดขาย ชูเรื่องของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ “ชิโน-โปรตุกีส”มาเป็นจุดขาย ซึ่งนับว่าได้ผลดีเกินคาด

“คนรู้จักร้านพรทิพย์อย่างกว้างขวาง เมื่อ 3-4 ปีมานี้เอง เขารู้จักกันเพราะกล่องขนม ที่ทำเป็นรูปทรงอาคารสไตล์ “ชิโน-โปรตุกิส” ซึ่งแต่ละกล่องทำมาจากกระดาษ ที่เปิดประตูหน้าต่าง-ประตูได้ ต่อเป็นเมืองได้ และทุกกล่องนั้นจำลองมาจากตึกที่มีจริงในปัจจุบัน  ซึ่งล้วนแต่เป็นความภาคภูมิใจของคนภูเก็ต”เจ้าของเรื่องราว เล่าน้ำเสียงแจ่มใส

และว่า บรรจุภัณฑ์ สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นกับสินค้าได้จริง ขึ้นอยู่ความคิดสร้างสรรค์และวิธีนำเสนอ ที่สำคัญต้องสร้างความแตกต่างให้ได้

“มะม่วงหิมพานต์ในกล่องกระดาษรูปตึกชิโน-โปรตุกิส ที่สามารถเปิดหน้าต่างได้ ขายกล่องละ 45 บาท หลายคนบอกไม่แพง ทั้งที่กล่องนี้ทำกำไรได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หลายคนมาขอซื้อแค่กล่อง เพราะจะนำไปเก็บสะสมเป็นโมเดลเมือง จนต้องผลิตออกมาขายต่างหาก บางโรงแรมสั่งไปเป็นขนมต้อนรับแขกตามห้องพัก เหล่านี้คือช่องทางขายที่เกิดขึ้นตามมา

ฉะนั้นอย่าไปคิดเหมือนกันหมด บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย กราฟฟิกสวยงาม สีสันสดใส อย่างนั้นใครก็ทำได้ แต่ถามว่าขายได้ราคามั๊ย เชื่อว่าไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่ถ้าสร้างความแตกต่างให้กับบรรจุภัณฑ์ของเรา โดยหาจุดขายอื่น เช่น วัฒนธรรม ธรรมชาติ หรืออะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องราวของท้องถิ่นรับรองยังไงก็ขายได้เงิน”คุณวิรวัฒน์ ว่ามาเป็นฉาก

ก่อนบอกอีกว่า ที่ผ่านมา มักถูกตั้งคำถาม แล้วต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างไรให้โดนใจคนซื้อ ซึ่งเขาไม่มีคำตอบสำเร็จรูป เพราะไม่สามารถวัดใจลูกค้าได้ทุกคน แต่เจ้าของสินค้าต้องถามตัวเองก่อนว่าสินค้านั้นจะขายให้ใคร  ขายเท่าไหร่ ขายที่ไหน เพราะหากต้นทุนแพคเกจจิ้งมาสูง แต่นำไปขายตลาดล่างคงขาดทุน

จากนั้นจึงค่อยให้โจทย์กับนักออกแบบไปว่า อยากให้ลูกค้าเห็นสินค้าของเราในมุมมองแบบไหน เช่น จะขายผลไม้อบกรอบ ก็ควรมีรูปผลไม้ชนิดนั้นให้เด่นชัด สีสวยเหมือนจริง ไม่ใช้ขายกล้วยกรอบ แล้วมีกล้วยรูปเล็กๆติดอยู่ที่มุมกล่อง แบบนั้นคงสื่อไม่ได้ว่าขายอะไรอยู่

 

เจ้าของกิจการท่านเดิม บอกด้วยว่า สำหรับขนมที่บรรจุในกล้องขนมรูปทรงตึกโบราณนั้น  ไม่ใช่ขนมที่ทางบริษัทพรทิพย์ฯผลิตเอง แต่เลือกมาจากผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีอยู่กว่าสามสิบรายในภูเก็ตมาบรรจุไว้ เช่น ตึกนี้ ใส่ขนมหม้อเหลา ของร้านโกเล็ก ตึกนี้ใส่ขนมโก๋ ตึกนี้ใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์

และถึงแม้ขนมเหล่านี้ ทางร้านพรทิพย์ มีความสามารถในการผลิต แต่อยากเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม อยากให้คนรุ่นเก่า ได้ถ่ายทอดอาชีพจากรุ่นสู่รุ่น ไม่อยากให้อาชีพเก่าแก่หายไป เพราะหากผู้ประกอบการรายใหญ่ทำเองเสียหมด ผู้ประกอบการรายย่อยคงแย่ไปตามกัน

ประธานบริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด บอกด้วยว่า แม้บรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างจะเป็นจุดขายสำคัญของสินค้านั้นๆ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคิดเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างแล้ว นั่นคือ นวัตกรรมในการผลิต ซึ่งปัจจุบันนี้มีความจำเป็นมาก เนื่องจากผู้ผลิตแต่ละประเทศล้วนมีความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่แพ้กัน หากใคร “ต่อยอด”สินค้าได้แตกต่างและโดนใจกว่ากันย่อมได้เปรียบ

“ล่าสุดพรทิพย์พรีเมี่ยม มีสินค้านวัตกรรม อย่าง กาแฟทุเรียน น้ำทุเรียนชงดื่ม ครีมทาขนมปังทุเรียน ช็อกโกแลตเคลือบทุเรียน ฯลฯ สินค้าเหล่านี้นักท่องเที่ยวจีนให้ความนิยมมาก  เพราะถ้าเรายังเน้นการผลิตแบบเดิมๆ เราจะแข่งขันกันเอง แต่ถ้าสร้างความแตกต่าง โดยใช้ภูมิปัญญาที่เรามีอยู่ผนวกกับความรู้ของนักวิจัยทีมีศักยภาพ เชื่อว่าสินค้าของไทยจะไปได้อีกไกลแน่นอน”คุณวิรวัฒน์ สรุป