พารู้จัก‘สล่าเงิน’ ร้านเครื่องเงินใหญ่สุดในจ.น่าน เจอวิกฤตต้องปลดคนงานแต่ยังกอบกู้ได้

หากเอ่ยถึงเครื่องประดับ คงไม่ได้มีแค่ เพชรนิลจินดาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเครื่องเงิน โดยเฉพาะเครื่องเงินไทยอันเป็นศิลปะล้ำค่าจากฝีมือช่างเงินไทยที่มีคุณภาพจนสร้างมูลค่าการตลาดมากถึง 1,700 ล้านดอลลาร์ และส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก

ร้านสล่าเงิน เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายเครื่องประดับเงินจังหวัดน่าน ที่สร้างและผลักดันร้านเครื่องเงินของตนเองจนกลายเป็นร้านเครื่องเงินที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน แม้ในช่วงหนึ่งจะต้องเจอวิกฤตราคาเนื้อเงินพุ่งสูง 2 เท่าตัว

คุณไตร เขื่อนธะนะ อายุ 51 ปี เจ้าของร้านสล่าเงินที่เอ่ยถึงข้างต้น เล่าว่า ซึมซับการทำเครื่องเงินมาตั้งแต่เด็ก จนสามารถทำงานได้ในวัยเพียง 16 ปี

“จริงๆ เริ่มทำงานตอนอายุ 16 เนี่ยถือว่าเริ่มช้านะ เพราะเด็กต่างจังหวัดส่วนใหญ่เขาเริ่มทำงานกันตั้งแต่ 12-13 ปีแล้ว เพราะไม่ค่อยได้เรียนหนังสือเลยเริ่มทำงานกันเร็ว งานแรกที่ทำเป็นก็คือทำเครื่องเงินนี่แหละเพราะซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ”

คุณไตร บอกอีกว่า จากนั้นย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทำในโรงงานเล็กๆ ซึ่งเป็นกิจการของพี่สาวตนเอง มีคนงานประมาณ 5 คน จากนั้นขยายตามเวลาคนงานเพิ่มขึ้นกว่า 100 คน ทำอยู่ประมาณ 14 ปี ก็แยกตัวออกมา

“ผมแยกตัวออกมา หันกลับบ้านจังหวัดน่านมาเปิดหน้าร้านเครื่องเงินของตัวเอง แต่ยังมีช่วยพี่สาวอยู่บ้าง ส่วนหน้าร้านก็ทำและสร้างมาจนกลายเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน ขนาด 2 ไร่ มีคนงาน 500 คน”

โดยเครื่องเงินของทางร้านสล่าเงินนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็น ต่างหู สร้อย กำไล แหวน เข็มกลัด ทุกชนิดล้วนได้รับความนิยม และขายได้เรื่อยๆ

มีกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ อย่างลูกค้าสำคัญคือ คนญี่ปุ่น คุณไตร เล่าว่า ได้ลูกค้าญี่ปุ่นมาเพราะเมื่อปี 2535 ตนมีโอกาสไปดูงาน ศึกษาตลาดออกแบบที่ประเทศญี่ปุ่น จนได้รู้จักและสร้างสัมพันธ์ติดต่อเป็นลูกค้ากันเรื่อยมา

“ลูกค้าญี่ปุ่นชอบในความซื่อสัตย์ ตรงเวลา ได้รับสินค้าตรงตามกำหนด อีกอย่างคือคุณภาพของเครื่องเงิน การขัด รูปทรง เราต้องเก็บรายละเอียดให้ดีที่สุด ปัจจุบันเราผลิตได้ 1 หมื่นชิ้นต่อวัน จำหน่ายหน้าร้าน และทำส่ง”

แต่ใช่ว่ากิจการจะราบรื่น เพราะในช่วงปี 2550 เกิดวิกฤตราคาเนื้อเงินผันผวนพุ่งสูงขึ้นเป็น 2 เท่าตัว จากวิกฤตตรงนั้น ทำให้คนงานซึ่งเป็นชาวท้องถิ่นตามชนเผ่าในจังหวัดน่านเหลือ 50 คน

“การแก้ปัญหาในขณะนั้นคือให้พนักงานทยอยออก ด้วยการจ้างออก ต้องบอกว่าวิกฤตนี้ไม่ได้เกิดจากตัวเรา มันเป็นวิกฤตโลก ซึ่งคนงานที่ออกบ้างก็ไปทำไร่ทำนาตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขา”

คุณไตร เล่าต่อว่า หลังการแก้วิกฤตสามารถประคับประคองโรงงานให้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน จากคนงาน 50 คนตอนนี้เพิ่มเป็น 60 คนแล้ว

“พยายามหาตลาดใหม่เรื่อยๆ ปรับรูปแบบสินค้าให้ตรงความต้องการของกลุ่มลูกค้าในตลาดมากขึ้น คิดว่าต่อจากนี้ไปโรงงานและตลาดเครื่องเงินไทยจะโตขึ้นและมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะมีสยามเจมส์ เข้ามาช่วยหาช่องทางตลาด” คุณไตร กล่าวทิ้งท้าย