ยุคสุขภาพ! สาวปั้นแบรนด์น้ำสลัดบรรจุหลอดบีบ คิดสูตรไทยตีตลาด รสลาบ-ผงกะหรี่ ขายดี

จากความชอบ สู่แบรนด์…นิยามของเจ้าของแบรนด์ ที่สร้างสรรค์น้ำสลัดด้วยรสชาติไทยๆ ตีตลาดคนรักสุขภาพ คุณมิว-มนทิรา รอบคอบ อายุ 35 ปี เจ้าของไอเดียซอสและน้ำสลัดแบรนด์ Lamoon by Sarada (ละมุน บาย ซาราดะ)

คุณมิวเคยเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ ที่ชอบทานสลัด และเมื่อ 2 ปีก่อน เธอเคยเปิดร้านสลัดอยู่แถวมหาวิทยาลัยดัง ย่านบางนา มีกลุ่มลูกค้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่เพราะต้องย้ายกลับบ้านเกิด ทำให้ร้านปิดตัวลง

“มิวปิดร้านไปประมาณ 1 ปี เราก็กลับไปอยู่บ้านที่ลำปาง อะไรหลายอย่างเริ่มลงตัวจึงกลับมาสร้างแบรนด์ต่อ”

กลับมาสานต่อในที่นี้คุณมิวไม่ได้กลับมาเปิดร้านสลัดเหมือนเดิม แต่เธอปั้นแบรนด์ขึ้นมาใหม่แต่ยังคงอยู่ในส่วนของสลัด ผลิตภัณฑ์ที่ว่าคือ ดิปปิ้งซอสและน้ำสลัด ขายผ่านออนไลน์และออกบู๊ธ ภายใต้แบรนด์ Lamoon by Sarada ที่เปิดตัวมาได้ 3 เดือนแล้ว

“ความตั้งใจของแบรนด์คืออยากนำเสนอความแตกต่างของน้ำสลัด ที่ไม่จำเป็นต้องทานคู่กับผักสลัดเท่านั้น แต่สามารถนำไปเป็นซอสทานคู่กับอาหารชนิดอื่นได้ด้วย เช่น ราดบนสเต๊ก ทานกับสแน็ก”

ซึ่งความแตกต่างของแบรนด์ที่คุณมิวสรรค์สร้างขึ้นมานั้น คือรสชาติของตัวซอสและน้ำสลัด โดยช่วงแรกมีเพียงน้ำสลัดรสชาติทั่วไปไม่มีรสชาติไทยๆ แต่แฟนเธอมองถึงอนาคต หากส่งออกไปต่างประเทศ คงต้องสร้างอะไรแปลกใหม่เพื่อตีตลาด จึงนำอาหารไทยชื่อดังมาพัฒนาเป็นน้ำสลัด

“ที่ญี่ปุ่นจะมีรสชาติน้ำสลัดเป็นของตัวเอง หากที่ไทยมีน้ำสลัดบ้างคงจะดี” คุณมิว ว่าอย่างนั้น

ปัจจุบันน้ำสลัดของคุณมิวมี 13 รสชาติ แยกเป็น 3 รสชาติใหญ่ คือ แบบไทย ได้ไอเดียมาจากอาหารไทยขึ้นชื่อพัฒนาจนเป็น รสลาบ ผงกะหรี่ แกงเขียวหวาน กะเพรา ซีฟู้ด น้ำใสพริกไทยดำ น้ำใสทับทิม

ส่วนรสชาติแบบญี่ปุ่น มี ครีมงาญี่ปุ่น วาซาบิ ซีอิ๊วญี่ปุ่น และ แบบตะวันตก ครีมมะนาว ซีซาร์ และเทาซันไอส์แลนด์

หลังเปิดตัวรสชาติแบบไทยๆ คุณมิว บอกว่า กระแสตอบรับค่อนข้างดี มีลูกค้าบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังไม่กล้าลอง อาจจะด้วยเป็นรสชาติใหม่ที่คนไม่เคยเห็นในตลาด ตนจึงแก้ปัญหาด้วยการแถมให้ชิม มีให้ชิมฟรีหน้าร้าน

ส่วนการบรรจุหลอดบีบ คุณมิว เผยว่า เพราะมีลูกค้าเก่าตั้งแต่เปิดร้านสลัดสั่งซื้อน้ำสลัดจำนวนมาก แต่ด้วยการจัดส่งหากไม่มีบรรจุภัณฑ์ที่ได้คุณภาพหรือมิดชิดจะเกิดปัญหาได้

“ที่จริงตอนเปิดร้านสลัดก็มีแบบบรรจุขวดอยู่แล้วแต่ตอนนั้นเป็นขวดแก้ว แต่ขวดแก้วมีน้ำหนักค่อนข้างเยอะ ลูกค้าไม่ควรเสียค่าจัดส่งที่อาจมีราคาสูง”

คุณมิว เล่าต่อว่า หาบรรจุภัณฑ์อยู่นาน จนไปลงตัวที่หลอดบีบ สะดวกต่อการพกพา สามารถอยู่ในตู้เย็นได้ เดือนครึ่งถึงสองเดือน

โดยด้านหลังแพ็กเกจจิ้งติดคิวอาร์โค้ดด้านหลัง เพื่อลิงก์เข้ากับการขายออนไลน์ อย่างไลน์ และเฟซบุ๊กของแบรนด์ ซึ่งลูกค้าออนไลน์มีฐานเก่ามาตั้งแต่สมัยเปิดร้านสลัด ยอดกดไลก์แฟนเพจมีประมาณ 600 คน

ขายราคาหลอดละ 75 บาท ยกเว้นรสซีซาร์ กับซีฟู้ด ที่ขายอีกราคา เพราะมีส่วนผสมของชีส และซอสญี่ปุ่น โดยน้ำสลัดจะมีจำหน่ายคู่กับสลัดคัพถ้วยเล็กด้วย เรื่องรายได้นั้นยังไม่ได้คำนวณจริงจัง แต่เฉลี่ยแล้วขายได้ประมาณ 100-150 หลอดต่อเดือน

ทิ้งท้ายถึงการผันตัวจากคุณครูสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณมิว บอกว่า ทำธุรกิจค่อนข้างอิสระในเรื่องเวลา ทุกอย่างไม่ตายตัว ต้องแก้ปัญหา และต้องขยัน

สนใจติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก Lamoon by サラダ – Sarada ไลน์ @zyj3441g โทรศัพท์ 097-040-5362