อดีตโบรกเกอร์หนุ่มผันตัวทำไร่ ปลูกเเก่นตะวัน ต่อยอดอัดเม็ดเจ้าเเรกในไทย

ความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่คือ การมีธุรกิจเป็นของตัวเอง บางคนครอบครัวไม่ได้มีปัจจัยอะไรสนับสนุนก็เลือกเป็นมนุษย์เงินเดือนไปก่อน พอมีประสบการณ์ มีเงินสะสมเพียงพอถึงค่อยลาออกมาทำกิจการของตัวเองตามความชอบความถนัด ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไปได้ดี เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และส่วนใหญ่จะศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาดมาแล้ว

ใช้งบลงทุน 6-7 ล้านบาท

คุณต่อศักดิ์ ชาติวัยงาม อายุ 33 ปี จบคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันร่วมกับเพื่อน คุณสรวุธ จักรวุธ ทำไร่แก่นตะวันที่อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ในเนื้อที่ 24 ไร่ พร้อมต่อยอดด้วยการทำแก่นตะวันอัดเม็ดขาย ยี่ห้อซีอิน (SEIN) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับค่อนข้างดี

คุณต่อศักดิ์ เล่าว่า ก่อนหน้ามาทำไร่แก่นตะวัน เคยเป็นโบรกเกอร์อยู่ตลาดหลักทรัพย์ แต่รู้สึกว่าเป็นงานไม่มั่นคงเลยลาออก เพื่อหาอะไรที่เป็นของตัวเองทำ พอดีได้รู้จักสมุนไพรแก่นตะวัน เนื่องจากไปเที่ยวขอนแก่นแล้วรู้จักกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เห็นไร่ปลูกแก่นตะวันแล้วรู้สึกสนใจ เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกอย่างมีงานวิจัยรองรับ จึงตัดสินใจเริ่มทำไร่แก่นตะวันกับเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วน เมื่อปี 2550 โดยใช้เงินลงทุนไปประมาณ 6-7 ล้านบาท และคาดว่าจะได้เงินคืนประมาณ 1 ปีถึง 2 ปี

img_5180

เจ้าตัวพูดถึงที่มาที่ไปของชื่อแบรนด์ SEIN ว่า S มาจาก smart คอนเซ็ปต์คือ ฉลาด หล่อ E-easy คือ ใช้แบบง่ายๆ รวมเป็น smart and easy ส่วน I กับ N คือ อินนูลิน หมายความว่า เต็มไปด้วยอินนูลิน

เขาอธิบายถึงสรรพคุณของแก่นตะวันให้ฟังว่า เด่นในเรื่องของเบาหวาน คอเลสเตอรอล และความดันโลหิต ซึ่งเป็นโรคที่อยู่ในสายเดียวกัน ถ้ารับประทานผลิตภัณฑ์ของ “SEIN” ต่อเนื่องสัก 1 เดือน จะได้ผล ประเด็นนี้มีงานวิจัยเลยกล้าโฆษณา นอกจากนี้ ยังมีพรีไบโอติกที่มีผลต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะเป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดี ที่ผ่านมาลูกค้ามีฟีดแบ็กดีจึงซื้อต่อ โดยรับประทานวันละ 4 เม็ด เช้า 2 เม็ด เย็น 2 เม็ด หรือก่อนนอนก็ได้ ซึ่งแก่นตะวันอัดเม็ดนี้มีเครื่องหมาย อย. รับรอง และมีใบตรวจโรคเรียบร้อย

แก่นตะวันบรรจุอัดเม็ด “SEIN” จำนวน 120 เม็ด ปกติขายกระปุกละ 1,250 บาท แต่ถ้าเขาออกบู๊ธขายเองจะจัดโปรโมชั่นเหลือเพียงกระปุกละ 999 บาท ถ้าเป็นแก่นตะวันสดขายปลีก กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนใหญ่ขายคนในละแวกใกล้เคียงที่บอกกันแบบปากต่อปาก

“กล้าพูดว่า ผมเป็นเจ้าเดียว เจ้าแรกในไทย ที่นำแก่นตะวันมาทำเป็นแบบอัดเม็ด แต่หลายๆ เจ้าทำเป็นแบบแคปซูล ซึ่งกระบวนการไม่เหมือนผม ผมผ่านการอบ ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าจะออกมาเป็นเม็ด ซึ่งสารอาหารอยู่ครบ ของผมไม่มีเชื้อรา ผมตรวจโรคทุกอย่าง คือเราใช้เวลาทดลองทำนานมาก กว่าจะออกมาเป็นแบบนี้”

ยันไม่ใช้ปุ๋ยเคมี

คุณต่อศักดิ์ ให้รายละเอียดด้วยว่า แก่นตะวันแคปซูลในท้องตลาด ต้องบอกว่า คนละตลาดมากกว่า ไม่ใช่คู่แข่งกัน เพราะของ “SEIN” เป็นเม็ด แต่คนอื่นเป็นแคปซูล กระบวนการที่ทำมีสารอาหารจริง มีงานวิจัยรองรับ อย่างเช่นแต่ละขั้นตอนต้องทำด้วยอุณหภูมิเท่าไร ต้องใช้เครื่องทำอย่างไร รวมถึงเรื่องตั้งแต่การปลูก การเก็บ มีมาตรฐานชัดเจน จะไม่เหมือนกับที่ขายใส่แคปซูลทั่วไปอย่างแน่นอน

เจ้าของแบรนด์ SEIN บอกอีกว่า ความจริงแก่นตะวันเป็นพืชที่รู้จักมานานแล้ว แต่คนเพิ่งมาสนใจในเรื่องของสรรพคุณ ซึ่งค่อนข้างโดน แต่ด้วยลักษณะที่ปลูกยาก เก็บยาก อีกทั้งการเก็บมีต้นทุน เลยเป็นพืชที่ยังไม่ฮิต เพราะถ้าเก็บหัวมาแล้ว ไม่มีห้องเย็นจะลำบาก เพราะต้องแช่ตู้เย็น ไม่เช่นนั้นหัวจะเสีย ขณะที่ตลาดยังไม่ได้กว้างนัก หากเก็บมาแล้วไม่สามารถขายได้หมดภายในครั้งเดียว ดังนั้น คนลงทุนจึงต้องมีสายป่าน ต้องมีทุนมาซัพพอร์ตตัวเองไปเรื่อยๆ

คุณต่อศักดิ์ ย้อนเล่าถึงช่วงแรกของการทำไร่แก่นตะวันว่า สาเหตุที่เลือกอำเภอบ้านคาใกล้กับอำเภอสวนผึ้ง เพราะมีคนรู้จักเหมือนเป็นญาติคอยดูแลให้ อีกอย่างราคาที่ดินไม่แพงมาก และได้ที่ดินสวยวิวก็ดี เวลาทำงานก็ทำให้มีความสุข และก่อนจะปลูกได้ศึกษาตลาดมาแล้ว ซึ่งเป็นทั้งพืชพลังงานและมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย โดยตั้งเป้าจะขายหัวสด ตอนแรกปลูกไม่เยอะ ต่อมาซื้อพื้นที่ขยายเพิ่ม รวมปลูกในพื้นที่ประมาณ 24 ไร่ แบ่งเป็นแปลงๆ

ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 3-3.5 ตัน/ไร่ ที่เคยได้ผลผลิตสูงสุดตก 4.5 ตัน/ไร่ ซึ่งปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีเลย แต่ยังไม่ได้ระบุว่า เป็นเกษตรอินทรีย์ หรือเป็นออร์แกนิก แต่กล้าการันตีว่าปลูกเอง โดยไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมีอะไรเลย เพียงใช้วิธีการไถ่กลบและใส่ปุ๋ยคอก

สำหรับสายพันธุ์แก่นตะวันที่นำมาปลูก คุณต่อศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า เป็นสายพันธุ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เบอร์ 2 กับ เบอร์ 3 ซึ่งขนาดและรสชาติจะต่างกัน โดยเบอร์ 2 หัวใหญ่กว่าเบอร์ 3 ที่หัวเล็กแต่รสชาติหวานกว่า

img_5176

เล็งทำชาแก่นตะวัน

แม้จะเป็นเกษตรกรหน้าใหม่ แต่เขาก็ศึกษาการปลูกแก่นตะวันมาอย่างดี และได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง เขาเล่าว่า ปลูกด้วยหัว ใช้เวลาปลูกประมาณ 4 เดือน ดอกจะออกเดือนที่ 2 ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ดอกจะร่วง เข้าเดือนที่ 4 ต้นข้างบนตายหมด สารอาหารถูกดึงลงไปหมดแล้ว ถึงจะเก็บหัวข้างล่าง ต้องรอต้นข้างบนตายหมดก่อน

ตัวแก่นตะวัน ด้วยใบ ก้าน ที่เป็นขน ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องแมลงจึงไม่ต้องใช้ยา ส่วนดินอาจจะต้องดูแลนิดหน่อย ต้องใช้ประสบการณ์ ปลูกครั้งแรกได้ผลผลิตไม่ดี แต่หลังจากนั้นได้เรียนรู้ว่าต้องเตรียมดินอย่างไร เพิ่มวัตถุอินทรีย์ให้ดิน น้ำต้องถึงแค่ไหน คือต้องรู้ความชื้น ต้องรู้ทุกอย่าง ใช้ประสบการณ์เก็บไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เคมี และไม่ต้องเร่งผลผลิต เพราะ 1 ครั้งได้ 2.5-3 ตัน ถือว่าเพียงพอแล้ว

ส่วนโรคพืชสำหรับแก่นตะวัน มีอยู่โรคเดียวคือ รากเน่า แต่เกิดน้อย และสามารถป้องกันได้ โดยสามารถเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่เป็นประโยชน์ใส่ลงไปในขั้นตอนเตรียมดิน ซึ่งเชื้อราตัวนี้ก็มีวิธีเพาะด้วย ที่ผ่านมาทางไร่ยังไม่เคยเจอโรครากเน่าเลย

img_5189

ถามถึงปัญหาอุปสรรค เขาระบุว่า อุปสรรคจะเป็นเรื่องเก็บ เรื่องสต๊อก บางครั้งปล่อยไม่ทัน ตลาดเงียบ ของเสีย เหมือนกับเอาต้นทุนไปโยนทิ้ง ของเน่าจะเอาไปเป็นปุ๋ยก็ไม่ได้ ตรงนี้คืออุปสรรคหลัก และเรื่องธรรมชาติ เรื่องน้ำ เนื่องจากพื้นที่ของไร่เป็นเนิน เป็นที่ราบเชิงเขา เพราะฉะนั้น จึงเก็บน้ำได้ค่อนข้างน้อย แต่ก็มีบ่อเก็บกักน้ำ แต่ปีนี้แล้งจริงๆ ก็มีปัญหาเรื่องน้ำบ้าง

คุณต่อศักดิ์ บอกว่า ทำแก่นตะวันอัดเม็ดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีหน้าร้าน ขายเฉพาะคนรู้จัก และมีการบอกต่อกันไปเรื่อยๆ กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มที่มีอายุมากหน่อย ประมาณ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งล้วนเป็นโรคเบาหวาน เพราะรับประทานแล้วน้ำตาลลด หลายคนโทรศัพท์มาขอบคุณ ลูกค้าจะชอบเยอะเนื่องจากรับประทานง่าย ซึ่งกล้าการันตีว่าชนิดเม็ดได้ผลเร็วกว่า การบรรจุเป็นเม็ดควบคุมสารอาหารทั้งหมดอยู่ในนี้แล้ว และดีกว่าการดื่มในรูปชา

ทั้งนี้ ในอีกไม่ช้าจะนำแก่นตะวันมาทำในรูปชา อยู่ในช่วงศึกษาเครื่องจักร โดยวางแผนจะวางตลาดไม่เกินต้นปี 2559

img_5178

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้จะไม่มีหน้าร้าน แต่ในอนาคต คุณต่อศักดิ์ บอกว่า คงจะมี หากต่อไปมีคนรู้จักแบรนด์มากยิ่งขึ้น และอาจจะมีวางขายตามร้านขายยาทั่วไปเพื่อให้ลูกค้าหาซื้อได้ง่ายขึ้น ปัจจุบัน ช่องทางการตลาดของ SEIN คือมีเว็บไซต์ www.seinthailand.com/Facebook : sein หรือสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ (081) 432-0224

นับเป็นผู้ประกอบการรายใหม่อีกรายที่ทำแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่สำคัญ เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของไทยได้อีกทางหนึ่ง