“ล้ม” นับครั้งไม่ถ้วน! กว่าจะมาเป็น “พ่อค้า-รองเท้าแตะเงินล้าน”

“ผม กุลธร สังฆมณี อายุสี่สิบเศษ ผมค้าขายรองเท้า ผมเป็นคนสู้ชีวิตมาตลอด จนกระทั่งผมมีกิจการร้านรองเท้าของกลุ่มคนชั้นล่างเจ้าใหญ่ที่สุดในนนทบุรี และกระจัดกระจายขายไปตามตลาดนัด นับสิบๆ ที่ต่อวัน เป็นกิจการที่หมุนเวียนนับสิบๆ ล้านบาท

ที่ผมเขียนมาเพราะผมอยากจะให้เป็นอุทาหรณ์ของคนที่ยังมีแรง อย่าท้อแท้ เพราะผมล้มมานับครั้งไม่ถ้วน เช่น ขายไม่ได้ รองเท้าเหลือเบอร์ ลูกน้องเอาไปขายแล้วโกง ฯลฯ แต่ผมก็สู้ สู้ กู้ กู้ จนกระทั่งมีกิจการใหญ่โต ผมจึงเขียนมาเพื่อให้ทุกคนที่ท้อแท้…อย่าท้อถอย”

เนื้อความในจดหมายดังเกริ่นข้างต้น คือ การ์ดเชื้อเชิญ ให้ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” โคจรไปพบกับเจ้าของกิจการตัวจริงเสียงจริง และเรื่องราวเกี่ยวกับกิจการของเขา ได้ถูกบันทึกไว้แล้ว นับจากนี้

เจ้าของกิจการรองเท้าแตะรายใหญ่ มีโกดังเก็บสินค้าและเป็นหน้าร้านทั้งค้าปลีก-ส่ง จำนวนถึง 8 คูหาในซอยวัดส้มเกลี้ยง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ให้เรียกแบบกันเองว่า คุณเชน สละเวลาทำงาน มาให้ข้อมูลด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เริ่มบทสนทนาด้วยประวัติความเป็นมาส่วนตัวพอสังเขปว่า เป็นลูกชายคนโตของครอบครัว คุณพ่อรับราชการ คุณแม่รับจ้างเย็บผ้าโหล ช่วงกำลังเรียนมหาวิทยาลัย เกิดสงครามตะวันออกกลาง ลูกค้าปฏิเสธกางเกงจำนวนมากที่คุณแม่ของเขาทำออกมาแล้วตามคำสั่งซื้อ ซึ่งเหตุการณ์นี้เองเป็นจุด “หักเห” สำคัญในชีวิตของเขา

“ตอนนั้นเหมือนเกิดวิกฤตในครอบครัว เลยต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย รับบทพ่อค้าเร่นำกางเกงไปวางขายตามตลาดนัด ช่วยกันกับคุณแม่ 2 คน หวังพอได้ทุนคืนบ้างก็ยังดี” คุณเชน ย้อนเหตุการณ์เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมาให้ฟัง

หลังจากนำสินค้าค้างสต๊อกระบายออกไปได้ พ่อค้ามือใหม่อย่างเขา เกิดความคิดอยากค้าขายต่อเนื่อง จึงหารือกับผู้เป็นแม่ น่าจะหาสินค้าอื่นมาขายพ่วงกับกางเกงด้วย เผื่อรายรับจะมีเข้ามาสูงขึ้น เลยตัดสินใจรับรองเท้าผ้าใบผู้ชาย มาขายควบคู่กับเสื้อผ้าดังว่า ต่อมาไม่นานจึงรู้ว่าตัดสินใจผิด เนื่องจากผลตอบแทนไม่เป็นไปอย่างที่คาด

“รองเท้าผ้าใบผู้ชายขายออกลำบาก อาจเพราะผู้ชายซื้อของยาก เลยหันไปรับรองเท้าแตะและรองเท้าแฟชั่นผู้หญิงจากแหล่งค้าส่งย่านสำเพ็งมาขายตามตลาดนัด” คุณเชน เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มสำคัญ

แนวคิดในการทำธุรกิจครั้งใหม่นี้ เป็นไปได้ด้วยดี รองเท้าสตรีทั้ง 2 แบบขายคล่องขึ้นมาก หากแต่การเก็บรักษารองเท้าแฟชั่นนั้นทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากต้องใช้ความระมัดระวังสูง มิเช่นนั้นจะเสียรูปทรง เขาจึงตัดสินใจขายแต่รองเท้าแตะเพียงอย่างเดียว

“หันมาขายรองเท้าแตะ เพียงอย่างเดียว เพราะรองเท้าแฟชั่นเก็บรักษายาก ส่วนสินค้ากลุ่มเสื้อผ้ายิ่งยากกว่า เวลาเจอฝนครั้งหนึ่งขึ้นราเลย” คุณเชน ให้เหตุผล

สำหรับรูปแบบการทำการค้าของเขาและผู้เป็นแม่ในช่วงเวลานั้น คุณเชน เล่าว่า เป็นแบบ “รับมา-ขายไป” คือไปรับซื้อจากสำเพ็งแล้วก็นำมาจำหน่ายต่อ ซึ่งตามตลาดนัดเช้า-เย็น มักมีผู้ค้าในลักษณะเดียวกันอยู่ไม่น้อย แต่อาจเป็นเพราะคุณแม่ของเขามี “เทคนิค” เฉพาะตัว เวลาไปตั้งแผงตามตลาดนัดที่ใด เป็นต้องมีลูกค้ามามุงรุมซื้อกันอยู่เสมอ

“ภารกิจในช่วงนั้น คือ ตี 4 ร้านต้องตั้งเสร็จในตลาดนัดเช้า พอส่งคุณแม่เสร็จ ผมจึงไปเรียนมหาวิทยาลัย พอบ่าย 2 ขับรถกระบะเก่าๆ มารับคุณแม่ไปเปิดขายตลาดนัดเย็นต่อ ซึ่งแหล่งขายจะไม่ซ้ำกัน ทำอย่างนี้ไม่มีวันหยุด นอกจากจะเจ็บป่วยจริงๆ” คุณเชน ทบทวนความทรงจำ

รับบทพ่อค้าเร่ตามตลาดนัดทั้งเช้าและเย็น ขายรองเท้าแตะผู้หญิง ช่วยกันกับคุณแม่ อยู่อย่างนั้นนานกว่า 12 ปี กิจการมีความมั่นคงเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากเคยแต่รับซื้อเขามา ถึงเวลามีกำลังทุนพอจะสั่งให้โรงงานผลิตตามแบบที่ต้องการ

คุณเชน เล่าต่อว่า เมื่อชื่อ “ป้าละเอียด” คุณแม่ของเขา ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในวงการรองเท้าแตะตามตลาดนัด จึงมีเซลส์ของโรงงานผู้ผลิตมาเสนอสินค้าให้สั่งซื้อ เพราะถ้าสั่งเป็นจำนวนมาก จะได้ราคาถูกกว่าไปรับซื้อจากแหล่งค้าส่ง

เมื่อขยับฐานะขึ้นเป็นผู้ค้าส่ง แต่คุณเชนยังคงรูปแบบกระจายสินค้าตามช่องทางตามตลาดนัดเช้า-เย็น เหมือนเคยทำมา แต่ครั้งนี้ เขามี “ทีมขาย” กระจายไปในจุดจำหน่ายต่างๆ โดยคุณแม่ของเขารับหน้าที่วางกลยุทธ์ในการสั่งซื้อสินค้า ส่วนตัวเขาดูแลการบริหารภายใน และขับรถส่งสินค้าบ้างเป็นครั้งคราว

“ตลาดนัดเช้ามีทีมขาย 12 จุด ตลาดนัดเย็น 3 จุด ที่เน้นขายเช้ามากกว่า เพราะช่วงเย็นมักมีฝนตก ทำให้การเดินทางลำบาก สำหรับสัญลักษณ์ของร้านเราคือ เสื่อ 1 ผืน เก้าอี้ 1 ตัว ง่ายๆ แบบนี้ จนมีบางคนแซว ขายแบบเสื่อผืนหมอนใบ ก็ไม่เป็นไร สนุกดี” คุณเชน เล่ายิ้มๆ

ก้าวย่างเข้าปีที่ 17 ของการทำธุรกิจ คุณเชนเกิดความคิดพัฒนากิจการขึ้นมาอีกขั้น ด้วยการสร้างแบรนด์รองเท้าแตะในแบบของเขา โดยให้เหตุผลอยากเห็นสินค้าในแบบของตน ติดตลาด สามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง

“CHEN-เชน เป็นชื่อเล่นและชื่อแบรนด์รองเท้าแตะของผมเอง ที่อยากมีรองเท้าแตะแบรนด์ของตัวเองเพราะทั้งคุณแม่และผมอายุมากขึ้นทุกวัน ถ้าวันหนึ่งมันติดตลาด คงไม่ต้องใช้กำลังคนในการไปตระเวนขายมากเท่าไหร่ แต่ยังไม่ทราบว่าจะประสบความสำเร็จขนาดไหน” คุณเชน บอกน้ำเสียงถ่อมตัว

กว่าจะมีวันนี้ วันที่มีกิจการใหญ่โต คงต้องผ่านอุปสรรคมาไม่น้อย ถามถึงเรื่องนี้ คุณเชนยิ้มกว้าง ก่อนเล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งว่า เคยสั่งตัดรองเท้ามาล็อตหนึ่ง แต่โรงงานผลิตใช้วัตถุดิบเพี้ยนไปจากที่สั่ง ทำให้ขายแทบไม่ออกเลย

“ปัญหานี้เกิดขึ้นจากความไว้วางใจเซลส์เกินไป ซึ่งการมีรองเท้าที่ไม่ได้คุณภาพอย่างที่สั่งอยู่ในมือราว 50,000 คู่มันปวดหัวมากนะ เลยใช้วิธีกระจายสินค้าให้ลูกน้องไปเลหลัง ยอมขาดทุนดีกว่าทิ้งไว้อย่างนั้น” คุณเชน เล่า

เมื่อขอคำแนะนำสำหรับคนที่อยากทำอาชีพเสริม ทำการค้าขายรองเท้าแตะตามตลาดนัดบ้าง คุณเชน ถ่ายทอดประสบการณ์ว่า ต้องเริ่มจากการสำรวจตลาดที่จะไปวางขาย ว่ามีลูกค้ากลุ่มไหนมากเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มคนทำงาน แม่บ้าน หรือผู้สูงวัย ทั้งนี้ จะได้เลือกสินค้าไปลงได้เหมาะสม

นอกจากนี้ ผู้ขายจะต้องเข้าใจสินค้าของตัวเองก่อนว่า ผลิตจากอะไร มีคุณสมบัติอย่างไร ส่วนลูกเล่นการขาย ที่จะทำให้ลูกค้าสนใจ รวมถึงการตกแต่งร้านให้น่าดึงดูดนั้น หากท่านใดมารับรองเท้าจากเขาไปจำหน่ายต่อ ก็ยินดีถ่ายทอดเทคนิคให้

“การค้าเริ่มต้นแบบผม จากเสื่อผืน-หมอนใบ ใช้เงินทุนไม่เกิน 30,000 บาท ทำได้แล้ว ไม่ต้องไปลงทุนใหญ่โต ก็ประสบความสำเร็จได้” คุณเชน บอกอย่างนั้น

ก่อนจากกันไป คุณเชนมีแง่คิดฝากไว้สำหรับใครที่อาจกำลังท้อแท้

“เคยกดดันมากตอนต้องเรียนไปด้วยขายของไปด้วย แต่สุดท้ายก็คว้าปริญญาตรีนิติศาสตร์ มาได้ เลยอยากฝากไปถึงคนที่อาจมีภาระหลายอย่าง ขอให้อดทน ปัญหามีไว้แก้ อย่าท้อ ขอให้สู้ไปจนกว่าจะรู้ว่าสู้ไม่ได้” คุณเชน ฝากทิ้งท้าย

สนใจเป็นคู่ค้าหรือว่าอยากอุดหนุน รองเท้าแตะเชน ติดต่อได้ เลขที่ 98/11 ซอยวัดส้มเกลี้ยง ถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 11130 โทรศัพท์ (086) 058-5227 / (080) 287-1999