ผู้เขียน | มิสมิลเลียนแนร์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุกวันนี้ ผู้คนนิยมท่องเที่ยวกันมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายไม่ได้แพงเกินเอื้อมอีกต่อไป แถมยังมีสายการบินต้นทุนต่ำที่ช่วยให้ผู้คนเดินทางด้วยเครื่องบินในราคาประหยัด
การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศก็เป็นทางเลือกของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีความยืดหยุ่นและทำตามใจตัวเองได้มากกว่าการใช้บริการของบริษัททัวร์
แต่ใครที่อยากท่องเที่ยวด้วยตัวเองก็ต้องทำใจกับความไม่สะดวกสบายหลายอย่าง หนึ่งใน “ภาระ” ที่จะต้องแบกรับเอง คือ “สัมภาระ” พะรุงพะรังที่จะต้องพาไปไหนมาไหนด้วย เพราะไม่มีรถบัสมาขนให้เหมือนคณะทัวร์ กลายเป็นอุปสรรคในการตะลอนชมเมือง
แม้ว่าจะมีสถานที่บางแห่งสำหรับฝากกระเป๋าเดินทาง เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ รวมถึงตู้ล็อกเกอร์ให้เช่า แต่ก็มีค่าบริการที่แพงเอาการ แถมมีความเสี่ยงที่จะสูญหาย หลายต่อหลายคนจึงยอมลากกระเป๋าใบใหญ่ไปไหนไปกัน
ปัญหานี้ทำให้เกิดไอเดียธุรกิจที่ช่วยแบ่งเบาภาระของนักเดินทาง นั่นคือ การเป็นคนกลางสำหรับบริการรับฝากสัมภาระในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ตลาด ร้านซักรีด หรือร้านเสริมสวย
นักเดินทางสามารถเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ รวมถึงจองเวลาและสถานที่รับฝาก เมื่อถึงเวลาก็นำสัมภาระไปฝากไว้ ออกไปเที่ยวชมโลกกว้างแบบไร้กังวล แล้วค่อยกลับมารับสัมภาระคืน โดยที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่รับประกันความเสียหาย การสูญหาย และถูกโจรกรรม
“ซิตี้สแตชเชอร์” (CityStasher) เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสธุรกิจตรงนี้ และเปิดให้บริการรับฝากกระเป๋าในหลายเมืองทั่วอังกฤษ กรุงปารีสของฝรั่งเศส กรุงเบอร์ลินของเยอรมนี และกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์
ค่าบริการรับฝากก็อยู่ที่ 8.28 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อกระเป๋า 1 ใบ ในเวลา 24 ชั่วโมง และสามารถฝากกระเป๋าเพิ่มเติมในราคาใบละ 6.92 ดอลลาร์ ส่วนค่าประกันความเสียหายอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์ ซึ่งซิตี้สแตชเชอร์มีรายได้จากการหักเปอร์เซ็นต์จากค่าบริการ
“ซิตี้สแตชเชอร์” เกิดจากการรวมตัวของ 3 หนุ่มเพื่อนซี้ จากรั้วมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด โดยปิ๊งไอเดียหลังจาก “แอนโธนี คอลเลียส” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เล่ามุกตลกว่า อยากจะเก็บเงินบรรดาเพื่อนๆ ที่มักมาขอฝากสัมภาระไว้ที่อพาร์ตเมนต์ของเขาอยู่บ่อยๆ
ธุรกิจของซิตี้สแตชเชอร์เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแผนที่จะระดมเงินเพื่อเปิดตัวบริการเพิ่มเติมใน 5 ประเทศภายในปีนี้ รวมถึงจะเจรจากับเครือข่ายโรงแรมราคาประหยัดเพื่อรับฝากสัมภาระของนักเดินทาง
บริษัทที่รับบทคนกลางรับฝากสัมภาระยังมีอีกหลายแห่ง ทั้ง “แนนนี่แบ็ก” (Nannybag) ที่ให้บริการในนครนิวยอร์กของสหรัฐ และประเทศยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี สเปน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ฟินแลนด์ โดยคิดค่าบริการ 6 ดอลลาร์ ต่อกระเป๋า 1 ใบ ในเวลา 24 ชั่วโมง และสามารถฝากเพิ่มได้อีก 24 ชั่วโมงในราคา 4 ดอลลาร์
ส่วน “ลักเกจฮีโร่” (LuggageHero) พร้อมให้บริการในนิวยอร์ก ลอนดอน โคเปนเฮเกน ขณะที่ “น็อก น็อก ซิตี้” (Knock Knock City) ให้บริการในนิวยอร์ก สนนราคาชั่วโมงละ 2 ดอลลาร์ ต่อกระเป๋า 1 ใบ และ “เวอร์โท” (Vertoe) ที่ผุดบริการเฉพาะในนิวยอร์กซิตี้ โดยคิดราคา 5.95 ดอลลาร์ ต่อวัน แถมมีบริการรับฝากรายสัปดาห์หรือรายเดือนด้วย
นอกเหนือจากบริการรับฝากสัมภาระ ก็ยังมีบริการจัดส่งกระเป๋าเดินทางไปถึงจุดหมาย ซึ่ง “เจทีบี คอร์ปอเรชั่น” เอเยนซี่ท่องเที่ยวรายใหญ่ของญี่ปุ่นนำร่องขึ้น โดยจับมือกับ “พานาโซนิค” และ “ยามาโตะ โฮลดิ้งส์”
นักท่องเที่ยวสามารถดีลิเวอรี่กระเป๋าจากสนามบินไปยังโรงแรม เช่นเดียวกับส่งตรงจากโรงแรมไปยังสนามบิน หรือส่งจากโรงแรมแรกไปยังโรงแรมแห่งที่ 2
บรรดานักเดินทางที่สนใจเข้าไปจองใช้บริการนี้ได้บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้ใช้จะได้รับคิวอาร์โค้ดสำหรับโชว์ให้เจ้าหน้าที่สนามบินหรือพนักงานโรงแรม เพื่อจัดส่งกระเป๋าเดินทางไปยังจุดหมายที่ต้องการ รวมทั้งได้รับอีเมลยืนยันวันเวลาในการส่งและรับกระเป๋า
ค่าบริการดีลิเวอรี่กระเป๋าระหว่างโรงแรมอยู่ที่ราว 17 ดอลลาร์ ส่วนค่าบริการดีลิเวอรี่กระเป๋าระหว่างโรงแรมกับสนามบินอยู่ที่ 22 ดอลลาร์
แต่มีเงื่อนไขเรื่องเวลาที่ต้องระวัง โดยกระเป๋าที่นำฝากกับสนามบินในเวลา 11 นาฬิกา จะเดินทางถึงโรงแรมในเวลา 18 นาฬิกาของวันเดียวกัน ขณะที่กระเป๋าที่นำฝากโรงแรมเวลา 15 นาฬิกา จะเดินทางไปถึงโรงแรมอีกแห่ง ในเวลาเช็กอินของวันรุ่งขึ้น
แนวคิดนี้นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวแล้ว ยังลดความแออัดของกระเป๋าขนาดใหญ่ในเขตเมือง และเพิ่มความปลอดภัยให้กับการขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต