สูตรความสำเร็จ “ตำมั่ว-ส้มตำพันล้าน” ยอดขายดี…มาตามความไม่ยอมแพ้!

“ตำมั่ว” คือ แบรนด์ร้านอาหารไทย-อีสาน ภาพลักษณ์ทันสมัย มีเอกลักษณ์  และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก จึงมีการขยายแบบธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์

“ตำมั่ว” ใช้เวลาก่อร่างสร้างชื่อเสียงมาเกือบสิบปี ปัจจุบันมีกว่า 150 สาขา ใน 4 ประเทศ ยอดขายปีหนึ่งๆ ไม่ธรรมดา จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนหลายแขนง  ยกย่องให้เป็นกิจการ “ส้มตำพันล้าน”

หากกว่าจะ “เดินทาง” มาถึงวันนี้ เจ้าของกิจการรุ่นสอง ยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะต้อง “ทำให้ได้” และไม่หยุดนิ่งที่จะ “เรียนรู้” ตลอดเวลานั่นเอง ที่เป็น “กุญแจความสำเร็จ” ซึ่งอยากถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ ศึกษาไว้เพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจการของตัวเองได้อย่างแน่นอน

คุณเบสท์ –ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ เจ้าของกิจการ “ตำมั่ว” ที่เกริ่นถึง  ให้ข้อมูลย้อนความเป็นมาว่า เขาตัดสินใจพลิกโฉม ร้าน “นครพนมอาหารอีสาน” ของคุณแม่ ที่เปิดขายอยู่ห้องแถวริมทางย่านปทุมธานี สู่ร้านส้มตำโมเดิร์น ติดแอร์  แต่ยังคงรสชาติแบบอีสานแท้  ส่วนเหตุผลที่ลาออกจากงานประจำในตำแหน่งระดับผู้บริหาร  มาทำธุรกิจของตัวเองนั้น  เพราะต้องการความ “มั่งคั่ง” ที่ “มั่นคง” มากกว่าการรอรับเงินจากบริษัทต้นสังกัดไปแต่ละเดือน-แต่ละเดือน

“ตอนลาออกจากงานประจำ ตอนนั้นเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ เป็นผู้กำกับหนังโฆษณา ตอนเย็นยังทำงานอยู่ พอเช้ามาผมก็ยื่นใบลาออก  สิ่งที่คิดตอนนั้นทำงานประจำมาสิบปี คิดว่าชั่วโมงบินสูงพอ มีวุฒิภาวะ และมั่นใจในสิ่งที่คิด ซึ่งมนุษย์เงินเดือนหลายๆ คนคงคิดได้เหมือนกัน แต่ผมอาจชนะพวกเขาตรงตัดสินใจแล้วลงมือทำเลย  อย่างไรก็ตาม เคยคิดมานานแล้วว่าถ้าต้องการความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ไม่ควรเอาชีวิตไปฝากไว้กับเงินเดือนที่มีให้ทุกเดือนชัวร์ๆ เพราะมันไม่ทำให้มั่งคั่งได้แน่นอน เลยเลือกจะทำธุรกิจที่ตัวเองถนัด” คุณเบสท์ เผย

ก่อนเล่าต่อ ครอบครัวเป็นคนอีสาน คุณแม่ขายส้มตำ สิ่งที่เขารู้จักดีที่สุดก็คือ ส้มตำ เลยรู้สึกว่าธุรกิจที่น่าจะทำได้ดี หลังจากทำงานประจำมาเป็นสิบปีนั้น  น่าจะเป็นสิ่งที่จับ ที่เห็นอยู่ทุกวัน และเข้าใจรสชาติที่แท้จริง

“แทบทุกบ้านมีอาชีพของตัวเองอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะกล้ากระโดดออกจาก คอมฟอร์ท โซน หรือความปลอดภัยไปวันๆ หรือเปล่า  อย่างไรก็ตาม หากต้องการความมั่งคั่ง ก็ต้องมีความเสี่ยง แต่จะเสี่ยงยังไงให้มันน้อย สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ผมไม่ได้เชียร์ให้ทุกคนลาออกจากงาน  แต่ความรู้สึกมันจะบอกเองว่า ตัวเราประสบความสำเร็จพอที่จะเป็นเจ้านายหรือยัง” คุณเบสท์ บอกมาอย่างนั้น

และว่า เขาไม่กลัวที่จะผิดพลาด เมื่อลาออกมาแล้วถ้าผิดแล้วไม่กลัวที่จะทำใหม่  ซึ่งตัวเขาเมื่อลาออกมาแล้ว ตัดสินใจขายรถเก๋งแล้วมาซื้อรถกระบะ ขับไป “ตลาดไท” ทุกวัน เป็นเวลาหนึ่งปีเต็มๆ ไปศึกษาราคาสินค้าทุกชนิดที่จะต้องใช้ในร้านส้มตำ

“ตามธรรมดา คุณแม่จะโทร.สั่งซื้อวัตถุดิบในร้าน แต่ในเมื่อผมไม่ถนัดในเรื่องการจ่ายตลาด สิ่งที่ผมต้องไปก็คือไปตลาดให้รู้จริง เพราะส่วนใหญ่ข้อผิดพลาด ในการทำธุรกิจ คือ ความรู้จริงในสิ่งที่คุณทำ  คุณจะรู้ได้ยังไง ว่ามะละกอที่ใช้ ราคาเท่าไหร่  ใช้แบบไหน  มะเขือเทศพันธุ์อะไรดีที่สุด มะนาวราคาขึ้นลงยังไงต่อเดือน เหล่านี้ผมว่ามันจำเป็นต้องรู้ก่อนที่จะทำธุรกิจ  เพราะการจะประสบความสำเร็จ ต้องรู้หลายๆ ด้าน อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ แล้วโอกาสความสำเร็จจะมีมากกว่าความล้มเหลว” เจ้าของเรื่องราว ท่านเดิม บอกจริงจัง

ก่อนบอก ความยากของการทำธุรกิจ คือ ทำยังไงถึงจะขายได้อย่างยั่งยืน  เขาจึงเริ่มพลิกโฉมร้านของคุณแม่ ด้วยหลักคิด “การตลาด” ทั้งหมด เริ่มจาก เปลี่ยนชื่อร้าน ทำแบรนดิ้งใหม่ ออกแบบโลโก้ ลดจำนวนโต๊ะ ลดรายการอาหารให้เหลือเฉพาะที่ขายได้จริงๆ  เมื่อมีประสบการณ์ที่ชัดเจนแล้วจึงเปิดขาย  แฟรนไชส์ หรือขายระบบที่ประสบความสำเร็จแล้ว

“ช่วงเริ่มต้น ผมทำทุกอย่างตามตำรา แต่ยอดขายมันไม่มา วันแรกขายได้ 3 พันบาท แต่ร้านแม่ขายได้วันละ 3 หมื่น แม่บอกเป็นไงหล่ะ แต่ผมไม่ยอมแพ้นะ เพราะบางทีการทำธุรกิจ อาจต้องรอเวลา รอให้ลูกค้าเข้าใจ” คุณเบสท์ เล่ายิ้มๆ

เมื่อยอดขายยังไม่มา เขาจึงมาทบทวนว่า หลงลืมอะไรไปหรือเปล่า กระทั่งตัดสินใจ หันมาทำการตลาดแบบง่ายๆ อย่าง  การทำใบปลิว ทำเสื้อกั๊กสกรีนเบอร์โทร.และโลโก้ร้านตำมั่ว ให้วินจักรยานยนต์ละแวกร้าน ใส่ วิ่งไปมาทั่วจังหวัดปทุมธานี

“หลายคนอาจมองว่า งบมาร์เก็ตติ้ง ต้องใช้เยอะ แต่ ตำมั่ว ใช้ไม่กี่บาท สำหรับการซื้อเสื้อกั๊กมาสกรีน การสกรีนเสื้อยืด ให้พนักงานในร้านใส่ แม้มีแค่ 3-4 คน เวลาพวกเขาขึ้นรถเมล์กลับบ้าน คนจะเห็นเบอร์โทร.และชื่อร้านไม่รู้เท่าไหร่ เรื่องง่ายๆ แบบนี้ไม่ต้องลงทุนเยอะ แค่ใส่ใจในรายละเอียดเท่านั้น ไม่นาน ยอดขายดีก็จะมาตามความไม่ยอมแพ้ของเรา” คุณเบสท์ บอกจริงจัง

ก่อนฝากแง่คิดไว้สำหรับบรรดาคนทำธุรกิจน้อย-ใหญ่

“วันที่บอกจะขายส้มตำทั่วโลกให้ได้พันล้านบาท มันอาจเป็นเรื่องน่าตลก และถ้าผมไม่สร้างความแตกต่าง คงแพ้ไปแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร  ต้องมองให้เข้าใจ ลูกค้าของเราอยู่ที่ไหน เขาพร้อมจ่ายกี่บาท และถ้าสินค้าของเราไม่เด่นกว่า ก็ให้เอาชนะด้วยบริการที่ดีกว่า” คุณเบสท์ เจ้าของกิจการ “ตำมั่ว” ฝากไว้อย่างนั้น