ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวตอนหนึ่งในงานแถลงข่าว ครบรอบ 10 ปี สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ว่า สถาบันวิจัยแห่งนี้ เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีพันธกิจเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับแสงซินโครตรอน เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ทัดเทียมสากลนานาอารยประเทศ และมีเป้าหมายสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล นั่นคือการสร้างงานวิจัยที่เกื้อกูลต่ออุตสาหกรรมเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยตั้งแต่ปี 2556 – 2560 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มีอัตราการเติบโตของการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมกว่า 54% สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยมากกว่า 7,800 ล้านบาท อีกทั้งยังอยู่เบื้องหลังการเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ SMEs มากกว่า 50 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประเภทโลหะ เซรามิกและวัสดุก่อสร้าง พอลิเมอร์ รวมถึงอาหารและยา โดยประโยชน์หลักจาก แสงซินโครตรอนนั้นใช้เพื่อการวิเคราะห์วิจัยเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุต่างๆ ในระดับอะตอมและโมเลกุล โดยสามารถทดสอบได้ทั้งวัตถุที่มีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว ก๊าซ แม้กระทั่งพลาสมา เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน จึงถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และเป็นดัชนีชี้วัดถึงความเจริญทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศ
รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวอีกว่า กว่า 10 ปีของการเปิดให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคนิคที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิจัยแห่งนี้ ได้สร้างผลงานชิ้นสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศมากมาย อาทิ การสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมด้านอาหารและการเกษตร โดยกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความเข้มแข็งภาคเกษตรกรรมและความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงมีการกำหนดแผนการพัฒนาที่มุ่งเน้นเฉพาะด้านในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร
ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้กว่า 3,000 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพกาแฟสดพร้อมดื่ม โดยบริษัทเซาน์เทิร์นคอฟฟี่ โดยใช้เทคนิคการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นนวัตกรรมการด้านการแปรรูป จนได้กาแฟสดพร้อมดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท แต่ยังมีคุณภาพใกล้เคียงกาแฟที่เตรียมสดมากที่สุด รวมทั้งคงอายุการเก็บรักษาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนที่อุณหภูมิห้อง พร้อมกันนี้ ได้ร่วมมือกับบริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด ในการค้นคว้าหากรรมวิธีการสกัดสารออกฤทธิ์ ทางชีวภาพจากวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำลำไยสกัดเข้มข้น เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์เดิมในท้องตลาด มีผลต่อสุขภาพ และมีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน อีกทั้ง ได้ใช้เทคนิคทางด้านแสงซินโครตรอน และเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ในการวิเคราะห์คุณสมบัติสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและเครื่องสำอางต่อไป
ส่วนในภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ได้มีการพัฒนานวัตกรรมครีมกันแดดนาโน ร่วมกับ บริษัท แพนราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาการดูดซึมผ่านผิวหนังของสารกันแดดนาโน อีกทั้งเพื่อแสดงถึงประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ นับเป็นก้าวสำคัญของงานวิจัยต่อวงการแพทย์ผิวหนังและวงการเครื่องสำอาง และในภาควัสดุศาสตร์ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ได้มีการพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกชนิดใหม่ สามารถคงทนต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดีเยี่ยม ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มยอดขายได้กว่า 60 ล้านบาทต่อปี
ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ดำเนินงานสนองโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นฟูภูมิปัญญาการทำ “กระจกเกรียบโบราณ” อายุร่วม 200 ปีที่เกือบจะสูญหายไปตามกาลเวลา โดยทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการผลิตกระจกเกรียบได้ครบทุกสีและสามารถทำแผ่นกระจกได้บางถึง 0.3 มิลลิเมตร โดยกระจกเกรียบที่สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่นี้อยู่ในขั้นตอนทดสอบการใช้งานในสภาวะแวดล้อมจริง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
นอกจากนี้ ทางสถาบันวิจัยยังเข้าไปมีส่วนร่วมคืองานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะ คนตาบอดผ่านการพัฒนาชุดแสดงอักษรเบรลล์ในราคาที่เอื้อมถึงได้ สามารถผลิตในประเทศลดการนำเข้า ซึ่งในปีที่ผ่านมา ทางสถาบันได้ต่อยอดงานวิจัยโดยการพัฒนาชุดแสดงผลอักษรเบรลล์เป็น 20 เซลล์ เครื่องแสดงผลดังกล่าวสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 85,000 บาทต่อเครื่อง และเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทางสถาบันได้นำชุดแสดงอักษรเบรลล์ทูลเกล้าฯ ถวายจำนวน 200 เครื่อง เพื่อเป็นของขวัญพระราชทานให้โรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสพิการทางสายตาให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางคอมพิวเตอร์ได้สะดวกยิ่งขึ้น
และเมื่อไม่นานมานี้ ทางสถาบันวิจัยยังได้ร่วมกับ บริษัทเซโก้ ฟาร์ม จำกัด พัฒนาระบบอัจฉริยะเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมการเพาะเลี้ยงถั่งเช่า ให้ได้ถั่งเช่าที่มีคุณภาพ อุดมไปด้วยสารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยวิธีการเลี้ยงถั่งเช่าแบบ “Smart Farmer” เป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก และมีต้นทุนในการติดตั้งระบบไม่เกิน 30,000 บาท กระทั่งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างดี เป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง
ด้านศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวถึงพันธกิจของสถาบันที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีการอนุมัติเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่ซึ่งให้พลังงานแสงสูงขึ้นกว่าเดิม 2.5 เท่า และความเข้มแสงสูงขึ้นกว่าเดิมมากกว่า 1,000,000 เท่า สามารถรองรับงานวิจัยพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ขั้นสูงได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์และเภสัชกรรม ด้านอาหารและการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงาน ด้านโบราณคดี รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันยังคงตั้งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้าน การพัฒนาขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในทุกกลุ่มธุรกิจ และมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยนวัตกรรมเพื่อการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมและเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียและระดับโลกต่อไป
และในโอกาสที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มีอายุครบรอบ 10 ปีในปีนี้ จึงได้จัดงาน “หนึ่งทศวรรษสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน” ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการย่างเข้าสู่ทศวรรษใหม่ โดยจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 1 มิ.ย.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ภายในงานจะมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานของสถาบัน การบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้มีชื่อเสียง อาทิ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เฌอปราง อารีย์กุล หรือ เฌอปราง BNK48, อุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี, รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ, ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ เป็นต้น และการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินและอีกมากมาย